รีเซต

สธ.ผนึกกำลัง 11 วิชาชีพ สู้โควิด-19 เปิดรับจิตอาสาปิดรอยรั่วภารกิจสาธารณสุข

สธ.ผนึกกำลัง 11 วิชาชีพ สู้โควิด-19 เปิดรับจิตอาสาปิดรอยรั่วภารกิจสาธารณสุข
มติชน
29 เมษายน 2564 ( 13:38 )
84
สธ.ผนึกกำลัง 11 วิชาชีพ สู้โควิด-19 เปิดรับจิตอาสาปิดรอยรั่วภารกิจสาธารณสุข
 

เมื่อวันที่ 29 เมษายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สมาพันธ์สภาวิชาชีพแห่งประเทศไทย ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมแถลง “สมาพันธ์สภาวิชาชีพรวมใจ สู้ภัยโควิด-19” โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ สธ. พร้อมผู้บริหาร สธ. เข้าร่วม

 

 

นายอนุทิน กล่าวว่า รัฐบาล และคนไทยทุกคน ขอบคุณความทุ่มเทเสียสละของจิตอาสาจากทุกสภาวิชาชีพที่เป็นกลไกร่วมกันกับ สธ. ในการบริหารจัดการโควิด-19 รัฐบาลพร้อมให้การดูแลประชาชนในทุกมิติ ทั้งการรักษา ป้องกันควบคุมโรค และการทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงมือแพทย์โดยเร็ว ส่วนการให้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ต้องขอความกรุณาจากสภาวิชาชีพที่มีสมาชิกเป็นจำนวนมาก ช่วยกันประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเกิดความเข้าใจ

 

“รัฐบาลจัดเตรียมวัคซีนให้กับคนทุกคนในประเทศไทย ไม่ใช่เพียงเฉพาะคนไทย เพราะเรายึดหลักการว่าจะไม่มีใครปลอดภัย หากทุกคนยังไม่ปลอดภัย หากเราฉีดแต่คนไทย ไม่ฉีดสัญชาติอื่นที่อยู่ในเมืองไทย เราก็พูดไม่ได้ว่าเราปลอดภัย การที่กลุ่มสมาพันธ์วิชาชีพฯ เข้ามาเข้าร่วมการฉีดวัคซีน ก็จะสร้างความมั่นใจให้ประชาชน และเชื่อว่าการฉีดวัคซีนจะบรรลุวัตถุประสงค์อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น” นายอนุทิน กล่าว

 

นายอนุทิน กล่าวว่า ขณะนี้ บุคลากรสาธารณสุขได้รับการฉีดวัคซีนเกินกว่าร้อยละ 90 ส่วนประชาชนทั่วไปจะเริ่มฉีดวัคซีนในเดือนมิถุนายน ทั้งนี้ ความช่วยเหลือจากสมาพันธ์ฯ จะช่วยลดอัตราการติดเชื้อในบุคลากรสาธารณสุขได้ และรัฐบาลก็จะจัดเตรียมอุปกรณ์ป้องกันให้ผู้ปฏิบัติงาน ทำงานอย่างปลอดภัยมากที่สุด

 

ด้าน น.ส.ทัศนา บุญทอง นายกสภาการพยาบาล ในฐานะประธานสมาพันธ์สภาวิชาชีพ กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 มีผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง แพร่กระจายในทุกจังหวัด หากคนไทยยังไม่สามารถช่วยกันควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อได้ จำนวนผู้ป่วยสะสมจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น จนเกินศักยภาพของระบบสาธารณสุขของชาติที่จะรับมือดูแลได้ จากข้อมูลพบการติดเชื้อในคนหลายกลุ่ม รวมถึงบุคลากรในการดูแล ได้แก่ แพทย์ พยาบาล และบุคลากรสุขภาพทุกสาขา มีข้อมูลว่า พยาบาลซึ่งเป็นบุคลากรที่ดูแลใกล้ชิดผู้ป่วยตลอด 24 ชั่วโมง มีการติดเชื้อ หรือ สัมผัสผู้ติดเชื้อ ต้องรับการรักษาตัว หรือถูกกักตัวเป็นระยะเวลา 14 วัน

 

“โดยมีรายงานว่า แพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ที่ถูกกักตัว เฉพาะพยาบาลเฉลี่ยโรงพยาบาลละ 20-30 คน เฉพาะในกรุงเทพมหานคร (กทม.) มีโรงพยาบาลที่ต้องกักตัวพยาบาล 17 แห่ง และมีโรงเรียนแพทย์แห่งหนึ่ง พบสูงสุดถึง 78 คน ทำให้โรงพยาบาลแต่ละแห่งขาดแคลนกำลังคนมากยิ่งขึ้น สัดส่วนในการดูแลผู้ป่วย จากเดิมพยาบาล 1 คนต่อผู้ป่วย 20 เตียง ต้องเพิ่มเป็นพยาบาล 1 ต่อผู้ป่วยในบางแห่งถึง 100 เตียง” น.ส.ทัศนา กล่าว

 

น.ส.ทัศนา กล่าวว่า สมาพันธ์ฯ ทั้ง 11 สภาวิชาชีพ ประกอบด้วย แพทยสภา สภาการพยาบาล สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ สภาเภสัชกรรม ทันตแพทยสภา สภาวิศวกร สภาสถาปนิก สัตวแพทยสภา สภาเทคนิคการแพทย์ สภากายภาพบำบัด และสภาวิชาชีพบัญชีในพระบรมราชูปถัมภ์ ตระหนักถึงภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้น จึงมีมติร่วมกันในการรวบรวม ผู้ประกอบวิชาชีพ ที่มีความรู้ และสามารถจัดสรรเวลาเพื่อมาเป็นอาสาสมัคร ร่วมปฏิบัติภารกิจที่จะสามารถปฏิบัติได้เพื่อช่วยแบ่งเบาการทำงานของ สธ. UHOSNET กทม. และหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ โดยมีหลักการร่วมกันว่า 1.การปฏิบัติภารกิจในสถานการณ์นี้ ไม่ถือว่าเป็นการก้าวล่วงการปฏิบัติของวิชาชีพอื่นที่มีกฎหมายกำกับอยู่ 2.ต้องมีการเตรียมความรู้ และความพร้อมให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและบุคลากรมีความปลอดภัย ประเด็นที่บุคลากรของแต่ละสภาวิชาชีพ จะร่วมปฏิบัติได้ มีดังนี้

 

“1.การให้ข้อมูลและให้คำปรึกษา สามารถปฏิบัติได้ทุกสาขาวิชาชีพ 2.การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยวิชาชีพแพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ ปฏิบัติได้ 3.การบริหารจัดการโรงพยาบาล/โรงพยาบาลสนาม/ UHOSNET/ ฮอสปิเทล (Hospitel) ซึ่งปฏิบัติได้ทุกสาขาวิชาชีพ 4.การให้บริการ การดูแลในหอผู้ป่วยอื่นๆ ที่ไม่ใช่ผู้ป่วยโควิด-19 วิชาชีพการพยาบาลปฏิบัติได้ เพื่อให้พยาบาลประจำไปดูแลผู้ติดเชื้อควิด-19 5.การตรวจคัดกรอง และเก็บตัวอย่างเชื้อ (swab) ปฏิบัติได้ทุกสาขาวิชาชีพสุขภาพที่ได้รับการอบรมเพิ่มเติม ซึ่งจะเริ่มให้การอบรมสัปดาห์หน้า 6.การจัดเตรียมโรงพยาบาล/โรงพยาบาลสนาม ดัดแปลงอาคาร ห้องความดันลบ เครื่องช่วยหายใจ เครื่องมือและปัญญาประดิษฐ์ รวมถึงการบริหารจัดการพื้นที่และสิ่งอำนวยความสะดวกให้มีความปลอดภัย โดยวิชาชีพวิศวกร สถาปนิก ปฏิบัติได้” น.ส.ทัศนา กล่าวและว่า ขณะนี้แต่ละสภาวิชาชีพ ได้โพสต์แบบรับลงทะเบียนอาสาสมัครในเว็บไซต์ของแต่ละสภาวิชาชีพ ในหัวข้อ “สมาพันธ์สภาวิชาชีพรวมใจ สู้ภัยโควิด-19” และ เมื่อ สธ.ร้องขอความสนับสนุนในด้านใดมา สมาพันธ์ฯ ก็จะบริหารจัดการบุคลากรไปช่วยภารกิจนั้นๆ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง