เช็คด่วน!! รายชื่อ 77 จังหวัด "อนุทิน" ชง ศบค.พิจารณาคลาย "ล็อกดาวน์" ปท.
เช็คด่วน!! รายชื่อ 77 จว. “อนุทิน” ชง ศบค.พิจารณาคลาย “ล็อกดาวน์” ปท.
โควิด-19 เมื่อวันที่ 20 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รายงานความคืบหน้ากรณีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เชิญกลุ่มนักวิชาการทางการแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ ประชุมหารือแนวทางผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ในประเทศไทย หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 เริ่มลดลง ล่าสุด ในที่ประชุมดังกล่าวได้มีการเผยแพร่เอกสาร “วิกฤตโควิด-19 ในประเทศไทย: การเปลี่ยนผ่านจากมาตรการ “กึ่งล็อกดาวน์” เข้าสู่มาตรการ “สร้างเสถียรภาพ” ที่กลุ่มนักวิชาการทางการแพทย์ และอดีตผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ประกอบด้วย นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ นพ.ศุภมิตร ชุณห์สุทธิวัฒน์ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ นพ.ครรชิต ลิมปกาญจนารัตน์ และ นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.ม.ล.สมชาย จักรพันธุ์ นพ.ไพจิตร์ วราชิต นพ.โสภณ เมฆธน นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข นพ.ธวัช สุนทราจารย์ นพ.มานิต ธีระตคุณติกานนท์ และ นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล ได้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นแนวทางในการเสนอต่อ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) พิจารณาผ่อนปรนมาตรการตามลำดับพื้นที่ที่พิจารณาแล้วเห็นว่าสถานการณ์การระบาดของโรคเริ่มคลี่คลาย
ทั้งนี้รายงานดังกล่าวระบุว่า ระดับการระบาดของจังหวัด ณ วันที่ 14 เมษายน 2563 (จะมีการอัพเดตทุกวันและพิจารณารายชื่อจังหวัดก่อนสิ้นเดือนเมษายนอีกครั้ง) สำหรับกลุ่มจังหวัดที่ใช้พิจารณาแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่ม 1 จังหวัดที่ไม่พบผู้ป่วยในช่วง 14 วัน ล่าสุดหรือพบผู้ป่วยนำเข้าเท่านั้น แต่ไม่มีการแพร่โรคต่อในพื้นที่ รวม 32 จังหวัด ได้แก่ น่าน กำแพงเพชร พิจิตร สิงห์บุรี อ่างทอง ชัยนาท บึงกาฬ ตราด ระนอง จันทบุรี เพชรบูรณ์ แพร่ มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด สุโขทัย อุทัยธานี กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ นครนายก นครพนม พังงา สกลนคร สตูล หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุดรธานี พิษณุโลก แม่ฮ่องสอน ลพบุรี สระบุรี ถือว่าเป็นการติดเชื้อในระดับต่ำ ซึ่งเป็นกลุ่มที่จะเปลี่ยนได้ก่อน อาจจะมีการทดลองเปิดผ่อนคลายใน 3-4 จังหวัด ที่ไม่เคยพบผู้ป่วยก่อน โดยจะเริ่มในปลายเดือนเมษายนนี้
กลุ่มที่ 2 พบผู้ป่วยในช่วง 14วันล่าสุด แบบมีการแพร่เชื้อในวงจำกัดและพบผู้ป่วยประปรายไม่เกิน 5 รายต่อสัปดาห์ และสามารถหาความเชื่อมโยงของผู้ป่วยแต่ละรายได้ (Limited local transmission) รวม 38 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ปทุมธานี เชียงใหม่ นราธิวาส กระบี่ กาญจนบุรี ขอนแก่น ชุมพร เชียงราย ตรัง ตาก นครปฐม นครราชสีมา นครศรีธรรมราช นครสวรรค์ บุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา พะเยา พัทลุง เพชรบุรี ระยอง ราชบุรี ลำปาง ลำพูน เลย ศรีสะเกษ สงขลา สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สระแก้ว สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี สุรินทร์ หนองคาย อุตรดิตถ์ อุบลราชธานี ช่วงเดือนพฤษภาคมนี้
กลุ่มที่ 3 จังหวัดที่พบผู้ป่วยในช่วง 14 วัน ย้อนหลังแบบมีการแพร่เชื้อต่อเนื่องในพื้นที่ มากกว่า 5 รายต่อสัปดาห์ และไม่สามารถหาความเชื่อมโยงของผู้ป่วยได้ (Sustained local transmission) รวม 7 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ชลบุรี นนทบุรี ภูเก็ต สมุทรปราการ ปัตตานี ยะลา เริ่มผ่อนคลายในต้นเดือนมิถุนายน