รีเซต

รู้จัก "ไทรอยด์เป็นพิษ" ต้นเหตุปัญหาสุขภาพ ภาวะแทรกซ้อน จนเสียชีวิต

รู้จัก "ไทรอยด์เป็นพิษ" ต้นเหตุปัญหาสุขภาพ ภาวะแทรกซ้อน จนเสียชีวิต
NewsReporter
19 กรกฎาคม 2565 ( 10:03 )
328

กลายเป็นข่าวใหญ่เมื่อ"ซันนี่ ยูโฟร์" อดีตบอยแบนด์ยุค 90 เสียชีวิตด้วยโรคประจำตัว ในคอนโดย่านทาวน์อินทาวน์ ซึ่ง ซันนี่ ยูโฟร์ มีโรคประจำตัวหลายโรค และก่อนเสียชีวิตมีอาการ "ไทรอยด์เป็นพิษ" กำเริบ อาการดังกล่าวเป็นอย่างไร วันนี้ TrueID จะพาไปรู้จักกัน

 

ไทรอยด์เป็นพิษ...คืออะไร


ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ (Thyrotoxicosis)
สามารถเรียกอีกชื่อว่า ภาวะไฮเปอร์ไทรอยด์ (Hyperthyroidism) หรือภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไป (Overactive thyroid) เกิดขึ้นเมื่อต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ออกมามากกว่าปริมาณที่ร่างกายต้องการ

ต่อมไทรอยด์เป็นต่อมขนาดเล็ก รูปร่างคล้ายผีเสื้อ ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าของลำคอ มีหน้าที่ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ซึ่งมี 2 รูปแบบหลัก คือ Triiodothyronine (T3) และ Thyroxine (T4) โดยฮอร์โมนไทรอยด์นั้นมีผลต่อระบบเผาผลาญพลังงานของร่างกาย จึงเกี่ยวข้องกับการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกายเกือบทุกส่วน ที่สำคัญ เช่น การควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย การหายใจ การเต้นของหัวใจ น้ำหนักตัว อารมณ์ ฯลฯ หากผู้ป่วยมีภาวะไทรอยด์เป็นพิษแล้วไม่ได้รับการรักษา จะส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพต่อหัวใจ กระดูก กล้ามเนื้อ รอบเดือน และระบบสืบพันธุ์ได้

 

ผู้ป่วยแต่ละรายแสดงอาการได้หลากหลาย ดังนี้

  • ระบบหัวใจและหลอดเลือด : เหนื่อยง่าย หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ และอาจถึงขั้นหัวใจล้มเหลว

  • ระบบประสาท : มือสั่น หงุดหงิดง่าย นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย ขาดสมาธิ

  • ระบบผิวหนัง : เหงื่อออกมาก ผิวชื้น ผมร่วง ศีรษะล้าน ผิวหนังบริเวณหน้าแข้งหนาขึ้น นิ้วปุ้มหรือนิ้วตะบอง เล็บกร่อน

  • ระบบตา : ตาโตขึ้น เปลือกตาเปิดกว้าง หรืออาจตาโปน

  • ระบบทางเดินอาหาร : หิวบ่อย ถ่ายบ่อย ถ่ายเหลว คลื่นไส้ อาเจียน

  • ระบบเผาผลาญ : น้ำหนักตัวลดแม้รับประทานอาหารในปริมาณปกติหรือรับประทานมากกว่าปกติ ตัวอุ่นขึ้น

  • ระบบสืบพันธุ์ : ประจำเดือนมาผิดปกติ กะปริบกะปรอย ประจำเดือนขาด มีบุตรยาก

  • ระบบกล้ามเนื้อ : อ่อนแรง มือสั่น

  • คอ : คอโต บางรายอาจมีก้อนที่บริเวณคอ

 

ภาวะแทรกซ้อนของโรคไทรอยด์เป็นพิษ

โดยส่วนใหญ่แล้ว หากได้รับการรักษาที่ถูกต้องอย่างทันท่วงที โอกาสที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนก็จะน้อย แต่หากปล่อยทิ้งไว้ไม่ได้รับการรักษาอย่างจริงจังก็อาจพบภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้ได้ เช่น

 

1. ปัญหาสายตา พบได้ในผู้ป่วยโรคเกรฟวส์เท่านั้น ที่มีปัญหาต่อมไทรอยด์เป็นพิษ โดยปัญหาสายตาที่เป็นภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ ตาแห้ง ตาไวต่อแสง เห็นภาพซ้อน โดยส่วนใหญ่อาการทางสายตาจะดีขึ้นเมื่อโรคไทรอยด์เป็นพิษได้รับการรักษา


2. ปัญหาเกี่ยวกับระบบหัวใจ ภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อผู้ป่วยโรคไทรอยด์เป็นพิษก็คือ ความผิดปกติเกี่ยวกับหัวใจ เช่น หัวใจเต้นเร็ว หรือหัวใจเต้นผิดปกติที่เกิดจากการสั่นที่หัวใจห้องบน ซึ่งเกิดจากหัวใจสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้ไม่พอ


3. ภาวะไทรอยด์ต่ำ การรับการรักษาไทรอยด์เป็นพิษก็อาจทำให้ระดับฮอร์โมนต่ำกว่าปกติจนเกิดภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ และก่อให้เกิดอาการต่างๆ เช่น หนาว เหนื่อยง่าย น้ำหนักผิดปกติ


4. กระดูกเปราะบาง หากไม่ได้รับการรักษาสามารถส่งผลเสียต่อมวลกระดูกทำให้กระดูกอ่อนแอ หรือกลายเป็นโรคกระดูกพรุน เนื่องจากร่างกายมีฮอร์โมนไทรอยด์มากไป ส่งผลต่อความสามารถในการดูดซึมแคลเซียมของกระดูกได้


5. ไทรอยด์เป็นพิษขั้นวิกฤต จะมีอาการหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ มีไข้สูงเกินกว่า 38 องศาเซลเซียส ท้องเสีย อาเจียน ตัวเหลือง ตาเหลือง และอาจถึงขั้นหมดสติได้ โดยสาเหตุที่ทำให้เข้าสู่ภาวะวิกฤต ได้แก่ การติดเชื้อ การรับประทานยาไม่สม่ำเสมอ การตั้งครรภ์

 

วิธีตรวจต่อมไทรอยด์เบื้องต้นด้วยตัวเอง

  1. ส่องกระจก ยืดลำคอขึ้น หันทางซ้ายและขวาช้าๆ เพื่อหาความผิดปกติบริเวณลำคอ

  2. ใช้นิ้วชี้และนิ้วกลางของมือทั้งสองข้างคลำลำคอพร้อมๆ กันในแต่ละด้าน จากด้านหลังไปด้านหน้า และจากบนลงล่าง

  3. หากผมการสัมผัสที่ติดขัดเหมือนมีก้อน...ให้ลองคลึงดู

  4. หากพบก้อนผิดปกติให้ไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจ

 

ข้อมูล รพ.บำรุงราษฎ์ , รพ.บางปะกอก , รพ.เวชธานี , รพ.พญาไท

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

ทุกประเด็นร้อนข่าวสาร สาระ ทันเหตุการณ์ พูดคุยกันได้ 24 ชม.

คลิกเลย >>> TrueID Community <<<

 

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง