รีเซต

สคร.12 สงขลา เตือนระวัง 'โรคฉี่หนู' พบปีนี้เสียชีวิตแล้ว 3 ราย แนะเลี่ยงลุยน้ำ ย่ำโคลนด้วยเท้าเปล่า

สคร.12 สงขลา เตือนระวัง 'โรคฉี่หนู' พบปีนี้เสียชีวิตแล้ว 3 ราย แนะเลี่ยงลุยน้ำ ย่ำโคลนด้วยเท้าเปล่า
มติชน
27 ตุลาคม 2564 ( 11:53 )
24

สคร.ที่ 12 สงขลา เผยพบโรคไข้ฉี่หนู 236 ราย เสียชีวิต 3 คน เตือนประชาชนผู้ที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขังให้ระมัดระวังเป็นพิเศษ ช่วงหลังน้ำลด ไม่ควรเดินลุยน้ำ ย่ำดินโคลน พื้นที่ชื้นแฉะ ด้วยเท้าเปล่าหรือแช่น้ำเป็นเวลานาน แนะสวมรองเท้าบูธป้องกัน

 

เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จ.สงขลา เปิดเผยว่า สถานการณ์โรคเลปโตสไปโรซิส (Leptospirosis) หรือโรคฉี่หนู ในเขตสุขภาพที่ 12 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-26 ต.ค.64 ได้รับรายงานผู้ป่วยโรคฉี่หนู 236 ราย มีผู้เสียชีวิต 3 ราย จังหวัดละ 1 ราย คือ จ.สงขลา ตรัง และ จ.ยะลา พร้อมขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการลุยน้ำ ย่ำดินโคลน พื้นที่ชื้นแฉะด้วยเท้าเปล่า

 

สำหรับจำนวนผู้ป่วยสูงสุดคือ จ.สงขลา 107 ราย รองลงมาคือพัทลุง 59 ราย ยะลา 41 ราย ตรัง 12 ราย นราธิวาส 10 ราย ปัตตานี 5 ราย และสตูล 2 ราย พบผู้ป่วยพบเพศชาย 197 ราย เพศหญิง 39 ราย กลุ่มอายุที่พบสูงสุดคือกลุ่มอายุ 10-14 ปี รองลงมาคือกลุ่มอายุ 35-44 ปี, 15-24 ปี และ 55-64 ปี สัดส่วนอาชีพที่พบผู้ป่วยสูงสุดคือรับจ้าง ร้อยละ 27.54 รองลงมาคืออาชีพเกษตร ร้อยละ 27.12 และอาชีพนักเรียน ร้อยละ 25.42

 

สำรับอาการของโรคนั้น สำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ให้ข้อมูลว่า ผู้ป่วยมักมีอาการหลังจากได้รับเชื้อเข้าไป 1-2 สัปดาห์ โดยมีอาการที่สำคัญคือ มีไข้สูงเฉียบพลันปวดศีรษะอย่างรุนแรง ปวดกล้ามเนื้อ บริเวณน่อง โคนขา คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน ตาแดง มีเยื่อหุ้มสมองอักเสบ มีจุดเลือดออกตามผิวหนัง ไอมีเลือดปน กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ตัวเหลือง ปัสสาวะน้อย ซึม

 

หากมีอาการดังกล่าวให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้อง จะทำให้การรักษาให้หายปกติได้ง่าย เพราะหากปล่อยทิ้งไว้จนกระทั่งเชื้อเข้าไปสู่อวัยวะที่สำคัญ เช่น ปอด ตับ ไต อาจมีอาการตับวาย ไตวาย และทำให้เสียชีวิต

ข่าวที่เกี่ยวข้อง