"อาคม" แย้มโอกาสผุด "คนละครึ่ง"เฟส 3
เมื่อวันที่ 20 มกราคม นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวทำความเข้าใจในประเด็นโครงการ”เราชนะ”ว่า โครงการนี้เป็นผลต่อเนื่องมาจากระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19 ) ระลอกใหม่ ประชาชนได้รับผลกระทบและความเดือดร้อน โดยโครงการเราชนะ มีลักษณะคล้ายกับโครงการ”เราไม่ทิ้งกัน” ที่เคยเติมเงินช่วยเหลือประชาชนในการระบาดระลอกแรก และในการระบาดระลอกใหม่พบว่ามีผู้ติดเชื้อมากกว่าระลอกแรก ทำให้รัฐบาลออกมาตรการช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันประชาชน
“ทำไมไม่ให้เงินในโครงการเราชนะเป็นเงินสด เพราะดูจากโครงการเราไม่ทิ้งกัน เห็นว่ามีประชาชนจำนวนมากกดเงินสดที่ตู้เอทีเอ็ม ทำให้ใช้เวลารอต่อแถวนาน และเพิ่มความเสี่ยงของการติดเชื้อโควิด-19 รวมทั้งเมื่อคนใช้ตู้เอทีเอ็ม พร้อมกันเยอะๆ อาจทำให้ระบบของตู้มีปัญหา รวมทั้ง เพื่อให้เงินเข้าสู่กระเป๋าได้ทันทีโดยไม่ต้องกดเงิน รองรับสังคมไร้เงินสด จึงตัดสินใจเติมเงินเข้าระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์โดยภาครัฐ (g-Wallet) ในแอพพลิเคชันเป๋าตัง ” นายอาคม กล่าว
นายอาคม กล่าวว่า กลุ่มเป้าหมายในโครงการเราชนะ ครอบคลุมอาชีพอิสระ รวมทั้ง ร้านค้า หาบเร่ แผงลอย สามารถเข้าร่วมในฐานะประชาชนและในฐานะร้านค้าได้ ส่วนร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการครั้งนี้ โครงการเราชนะได้เพิ่มบริการขนส่งสาธารณะ เพราะจากการสำรวจปีนี้ประชาชนให้ความเห็นว่า ได้รับความเดือดร้อนด้านค่าเดินทาง รัฐบาลจึงเพิ่มเติมส่วนนี้ อาทิ รถแท็กซี่ รถจักรยานยนต์รับจ้าง และรถโดยสารสองแถว ที่ผู้ให้บริการต้องลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ ผ่าน www.เราชนะ.com และรับเงิน ผ่านแอพพลิเคชัน ถุงเงิน
นายอาคม กล่าวถึงกรณีมีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการคนละครึ่งจำนวนมาก และเสนอให้รัฐบาลขยายต่อโครงการคนละครึ่งระยะที่ 3 (เฟส3) นั้น กระทรวงการคลังได้ติดตามสถานการณ์ตลอดเวลา เรื่องการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19 )ระลอกใหม่ และเรื่องเศรษฐกิจภายในประเทศว่ามีความคึกคักมากขึ้นหรือไม่ แค่ไหน
นายอาคม กล่าวว่า ก่อนมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ นั้น ตัวเลขเศรษฐกิจมีแนวโน้มดีขึ้นเรื่อยๆ พอมาถึงช่วงเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้เศรษฐกิจลดลงอีกครั้ง จึงเป็นที่มาของการขยายโครงการคนละครึ่งเฟสที่ 2
“ถ้าไตรมาส 2/ 2564 การใช้จ่ายยังไม่ดีเท่าที่เราอยากจะเห็น กระทรวงการคลังอาจจะพิจารณา ขยายโครงการคนละครึ่งเฟส 3 เพราะการใช้จ่ายของประชาชน คิดเป็น 50% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ(จีดีพี) ถ้าสามารถกระตุ้นในประชาชนมีรายได้มีรายจ่ายเพิ่มขึ้น จะสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศมากขึ้นได้” นายอาคม กล่าว