รีเซต

กมธ.ยื่น "บิ๊กตู่"ล้มประมูลท่อส่งน้ำ "อีอีซี" ด้าน "ธนารักษ์"รู้ผลสอบ 20 พ.ค.นี้

กมธ.ยื่น "บิ๊กตู่"ล้มประมูลท่อส่งน้ำ "อีอีซี" ด้าน "ธนารักษ์"รู้ผลสอบ 20 พ.ค.นี้
มติชน
17 พฤษภาคม 2565 ( 09:26 )
69
กมธ.ยื่น "บิ๊กตู่"ล้มประมูลท่อส่งน้ำ "อีอีซี" ด้าน "ธนารักษ์"รู้ผลสอบ 20 พ.ค.นี้

วันที่ 17 พฤษภาคม นายไชยา พรหมา ส.ส.หนองบัวลำภู พรรคเพื่อไทย (พท.)ในฐานะประธานกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร จะทำหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ขอให้ยกเลิกการประมูลโครงการบริหารและการประมูลโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก (อีอีซี) มูลค่า 2.5 หมื่นล้านบาท โดยให้ประมูลใหม่ในระบบอีบิดดิ้ง เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม

 

เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม นายไชยา กล่าวว่า กมธ.ตรวจสอบโครงการกล่าวได้ข้อยุติเกือบสมบูรณ์แล้ว โดยเห็นว่าทีโออาร์ในการประมูลรอบที่ผ่านมาไม่ชัดเจน โดยเฉพาะการประมูลรอบที่ 2 มีการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการทีโออาร์และลดสเปกลงมา ซึ่งตัวแทนกรมธนารักษ์ตอบไม่ชัดเจนถึงเหตุผลการเปลี่ยนแปลงทีโออาร์

 

นายไชยากล่าวว่า ขณะเดียวกันจะทำหนังสือถึงนายกฯ ขอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(สกพอ.) ที่รับผิดชอบพื้นที่อีอีซี ร่วมเป็นเจ้าภาพกับกรมธนารักษ์คัดเลือกโครงการประมูลท่อส่งน้ำอีอีซี เพราะพื้นที่อีอีซีเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีกฎหมายรองรับโดยเฉพาะ ควรให้สกพอ.เข้าไปมีส่วนร่วมบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ตัวเอง

 

ด้านนายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวว่า คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงการบริหารจัดการระบบท่อส่งน้ำอีอีซี ประชุมแล้วหลายครั้ง โดยได้รับความร่วมมือเพิ่มเติมจากหลายหน่วยงาน ได้แก่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่เข้ามาร่วมตรวจสอบ เพื่อให้มีชัดเจนในทุกประเด็น

 

นายประภาศกล่าวว่า ประเด็นที่เข้ามาตรวจสอบ ได้แก่ กระบวนการคัดเลือกผู้ประมูลการจัดซื้อโครงการ ว่าเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ประเด็นค่าตอบแทนของรายได้จากค่าใช้น้ำที่รัฐบาลเคยได้รับจากบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด(มหาชน) หรือ อีสท์วอเตอร์ ตลอดระยะเวลา 30 ปี รวมถึงรายได้จริง การยื่นแบบและเสียภาษีต่างๆ ของอีสวอเตอร์ และผลการศึกษาเรื่องศักยภาพของท่อส่งน้ำสายหลักภาคตะวันออก นอกจากนี้ ยังตรวจสอบรายละเอียดการประมูลรอบที่สอง บริษัทที่เข้าร่วมมีการเสนอราคาผลตอบแทนให้รัฐบาลสูงหลายเท่าจากรอบแรกที่ได้ยกเลิกไป จะถูกตรวจสอบด้วยเช่นกัน เพื่อไขข้อข้องใจให้กับสังคม

 

“คาดว่าสรุปผลได้ทันภายในวันที่ 20 พฤษภาคมนี้แน่นอน หลังจากนั้นจะได้คำตอบว่าควรจะดำเนินการกับโครงการท่อส่งน้ำอย่างไรต่อไป”นายประภาศกล่าว

 

นายประภาศ กล่าวว่า ส่วนกรณีที่โครงการท่องส่งน้ำภาคตะวันออก ไม่ได้อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (พ.ร.บ. ร่วมทุนฯ) นั้น เพราะมีการออกพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ปี 2562 และพ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ ก็ออกมาปี 2562 โดยพ.ร.บ.ที่ราชพัสดุฯ มาตรา 29 กำหนดไว้ว่า หากมีการจัดหาประโยชน์ในที่ราชพัสดุ ถ้าโครงการมีมูลค่าไม่เกิน 5,000 ล้านบาทจะอยู่ภายใต้พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุฯ จึงเป็นที่มาว่ากรมธนารักษ์ ต้องคัดเลือกเอกชน มาบริหารท่อส่งน้ำฯ ตาม พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุฯ ไม่ใช่ดำเนินการตามพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ

 

นายประภาศกล่าวว่า ส่วนทรัพย์สิน ที่กรมธนารักษ์ เป็นเจ้าของ ได้แก่ ท่อส่งน้ำดิบสายหลัก ทั้ง3 สาย ที่อยู่ในที่ราชพัสดุ ดังนั้นท่อจึงเป็นส่วนควบของที่ดินตามกฎหมาย ทำให้กรมธนารักษ์ที่เป็นเจ้าของที่ดิน ได้รับท่อมาเป็นทรัพย์สินด้วย ทำให้มีสิทธิในการเปิดประมูล เพื่อหาผู้มาบริหารจัดการโครงการท่อส่งน้ำต่อไป โดยสัญญาจะสิ้นสุดปี 2566 ดังนั้น กรมต้องทำการเปิดประมูลก่อนจะสิ้นสุดภายใน 2 ปี เพื่อให้เกิดความคล่องตัว และต่อเนื่องของการส่งน้ำให้กับ ประชาชนและภาคอุตสาหกรรม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง