รีเซต

‘จุรินทร์’บูสต์เครื่องบูมส่งออก รัฐ-เอกชนจับมือ‘วิน-วินโมเดล’

‘จุรินทร์’บูสต์เครื่องบูมส่งออก  รัฐ-เอกชนจับมือ‘วิน-วินโมเดล’
มติชน
6 พฤษภาคม 2565 ( 09:11 )
104

หมายเหตุสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สัมมนา “Enhance the Dots” โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “การสนับสนุนการค้าของไทยกับนานาชาติ” จากนั้นเป็นการเสวนาจากผู้บริหารระดับสูงในภาคธุรกิจ ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์
รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

ทั่วโลกกำลังเผชิญวิกฤตซ้อนวิกฤต ไม่ว่าวิกฤตเศรษฐกิจ วิกฤตโควิด และมาเจอวิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครนซ้อนซ้ำเข้ามาอีก สิ่งที่อยากให้คิดบวกคือ ไม่ได้เจอวิกฤตซ้อนวิกฤตเฉพาะประเทศไทย เจอกันทั้งโลก ไทยเป็นเพียงหนึ่งในนั้น ผลกระทบมันกระทบทั้งโลก ไปดูตัวเลขไอเอ็มเอฟ (กองทุนการเงินระหว่างประเทศ) จากวิกฤตโควิดกับเศรษฐกิจ คาดการณ์ว่าจีดีพีโลกปี 2565 น่าจะโตได้ 4.4% แต่เมื่อเจอวิกฤตซ้อนวิกฤตลดเหลือ 3.6% ประเทศไทยก็เหมือนกันคาดการณ์ว่าปี 2565 จีดีพีจะโต 3.5-4.5% ล่าสุดประเมินใหม่เหลือ 3.5% เป็นตัวเลขฐานต่ำสุด เป็นโลกแห่งความเป็นจริงว่าจะเดินไปทางไหนเมื่อเจอวิกฤตซ้อนวิกฤต

 

ตัวที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย คือ การส่งออกยังเป็นพระเอกต่อไปในปี 2565 ซึ่งปีที่แล้วการส่งออกคิดเป็น 58% ของจีดีพี แบ่งเป็นสินค้า 53% และบริการ 5% เดิมตั้งเป้าส่งออกปีนี้จะโต 3-4% แต่หลังเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ประมาณการใหม่กลายเป็นว่าบวกเพิ่มเป็น 6-8% ด้านธนาคารแห่งประเทศไทยประเมินการส่งออกจะขยายตัว 6% กระทรวงการคลังคาดว่าจะขยายตัว 7% แต่ไตรมาสแรกขยายตัวแล้ว 15% นำเงินเข้าประเทศแล้ว 2.4 ล้านล้านบาท เฉพาะเดือนมีนาคมขยายตัว 19.5% นำเงินเข้าประเทศ922,313 ล้านบาท และกำลังจะแตะ 1 ล้านล้านบาทต่อเดือน และปีนี้ตั้งเป้าจะนำเงินเข้าประเทศ 9 ล้านล้านบาทเป็นอย่างต่ำ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วเรานำเงินเข้าประเทศได้ 8.5 ล้านล้านบาท และเชื่อว่าจะเป็นไปได้เพราะ 3 เดือนสามารถนำเงินเข้าประเทศได้แล้ว 2.4 ล้านล้านบาทแล้ว ถ้ารวม 4 ไตรมาสก็กว่า 10 ล้านล้านบาทแล้ว

 

ก่อนโควิดท่องเที่ยวของไทยปี 2562 คิดเป็น 11% ของจีดีพี ปี 2563 เหลือ 2.7% ของจีดีพี และปี 2564 เหลือ 0.9% ของจีดีพี จากนี้เป็นหน้าที่ของทุกคนช่วยกันและตั้งเป้าปีนี้จะนำนักท่องเที่ยวเข้าประเทศให้ได้ 20 ล้านคน เป็นความหวังที่จะนำการท่องเที่ยวมาเป็นตัวช่วยการส่งออกขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย นอกจากการลงทุนภาครัฐและเอกชน การบริโภคและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

 

ดังนั้น ปีนี้กระทรวงพาณิชย์มีการบ้าน 3 ข้อที่ต้องทำงานร่วมกันคือ 1.ต้องผลักดันการส่งออกต่อไปให้เข้มข้นขึ้น 2.ต้องช่วยดูแลราคาพืชผลการเกษตร สำหรับคนตัวเล็กคือเกษตรกรที่เป็นเศรษฐกิจฐานราก ดังนั้น ต้องเดินหน้าเศรษฐกิจฐานรากต่อไปได้ 3.ดูแลค่าครองชีพของผู้บริโภคคนไทยทั้งประเทศ ทั้ง 3 เรื่องนี้ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษในปีนี้ โดยเดินหน้าด้วยนโยบายผสมผสานทั้งเชิงรุกและต้องลึกต้องไปด้วยกัน

 

รูปธรรมที่จะเกิดขึ้นสำหรับการส่งออก ได้แก่ 1.กรอ.พาณิชย์ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้ส่งออกได้ 8.5 ล้านล้านบาท เมื่อปีที่แล้ว ต่อไปต้องมี กรอ.พาณิชย์ในแต่ละภาค เกิดที่ภาคใต้แล้วที่หาดใหญ่ล่าสุด ภาคอีสานไปอุบลราชธานีหรือโคราช ภาคเหนือไปพิษณุโลก ภาคตะวันออกไประยอง 2.เรื่อง FTA ปัจจุบันมีกับ 18 ประเทศ 14 ฉบับครอบคลุมมูลค่าการค้า 2 ใน 3 ของมูลค่าการค้าที่ไทยทำกับทั้งโลก แต่ต้องรุกและลึกมากขึ้น 3.สั่งการให้ทูตพาณิชย์ทั่วโลก ทำแผนใหม่ทั้งรุกและลึกขึ้น ปี 2565 เจาะสินค้า บริการเป็นรายพื้นที่ 4.การค้าชายแดน เปิดด่านแล้ว 48 ด่าน จาก 97 ด่านทั่วประเทศ จากนี้ไปเจาะลึกมากขึ้น เพื่อนำเงินเข้าประเทศให้เร็วที่สุด 5.สร้างคนรุ่นใหม่ อบรมให้ความรู้หลักสูตรพิเศษ เดินหน้าโครงการปั้น Gen Z เป็น CEO

 

สำหรับราคาพืชเกษตร ปีนี้ดีเกือบทุกตัว เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม ได้ประชุมส่งออกผลไม้เปลี่ยนแผน เพราะติดอุปสรรคการส่งทางบก จากนโยบายซีโร่โควิดของจีน ซึ่งเรื่องหนึ่งที่แก้ไม่ได้คือ การสั่งให้รัฐบาลจีนเปลี่ยนนโยบาย ต้องยอมรับว่านโยบายซีโร่โควิดยังอยู่กับเรา ตราบที่จีนยังไม่เปลี่ยนนโยบาย ภายใต้เงื่อนไขจำกัดนี้ เมื่อไหร่ที่ด่านปิดต้องรีบเจรจาให้เปิด โดยแผนการส่งออกปีนี้เปลี่ยนจากทางบก 48% มาเหลือ 10.5% เพิ่มทางเรือจาก 52% เป็น 83% และทางอากาศจากไม่ถึง 1.0% เป็น 6.5% และจากนี้ได้ตั้งวอร์รูมให้ผู้ประกอบการทุกฝ่ายมีการประชุมตลอด และได้เปิดพาณิชย์ Fruit Festival 2022 กว่า 10,092 จุดจำหน่ายผลไม้ในประเทศ

 

สุดท้ายเรื่องค่าครองชีพเป็นการบ้านข้อใหญ่ ซึ่งเจอกับทุกประเทศในโลก เนื่องจากเงินเฟ้อ ราคาขึ้นเพราะราคาน้ำมัน พลังงานเพิ่มสูงขึ้น ต้องจับมือกันทั้งภาครัฐและเอกชน โดยหลักการทำงาน คือ 3 ฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราคาสินค้า ได้แก่ 1.ต้นน้ำเกษตรกร 2.กลางน้ำผู้ประกอบการกับผู้ส่งออก 3.ปลายน้ำผู้บริโภค ซึ่งผลประโยชน์อาจย้อนแย้งกันอยู่ ก็จะใช้ “วิน-วินโมเดล” ทำอย่างไรให้ทั้ง 3 ฝ่ายอยู่กันได้ด้วยดี แม้บางฝ่ายอาจจะต้องลดผลประโยชน์ลงไปบ้างแต่ให้อยู่ได้ ด้วยความยุติธรรมเพื่อประโยชน์ส่วนรวมและประโยชน์ของประเทศ

ศุภชัย เจียรวนนท์
ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์

 

เมื่อพูดถึงประเทศไทยเศรษฐกิจ 5.0 ไม่ใช่แค่เรื่องข้อมูล แต่รวมถึงเทคโนโลยี นวัตกรรม AI ที่เชื่อมโยงทุกส่วนของโลกเข้าด้วยกัน สามารถเข้าถึงได้ เช่น รายได้การซื้อขายของหัวเว่ย มีจำนวนเครื่องมือถือในการขายกำลังจะแซงแอปเปิล ซึ่งจากการเปิดตัวมา 2 ปี มีรายได้เพิ่มมากขึ้น จากเทคโนโลยีที่ได้พัฒนาเพิ่มขึ้นมาก โดยมองว่าเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงสร้างมูลค่าให้กับตลาดโลกเพิ่มมากขึ้น ซึ่งการเป็นผู้นำในโลกเทคโนโลยีจะมีการแข่งขันจะเป็นผู้นำอันดับ 1 มากที่สุด ซึ่งในระบบเทคโนโลยีที่เติบโตมากขึ้นในตลาดก็เริ่มพัฒนารถยนต์อีวีที่ใช้แบตเตอรี่เข้ามาใช้งาน ทั้งยุโรป จีน แม้แต่ญี่ปุ่นที่เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีก็เกิดการแข่งขันสูงขึ้น

 

ประเทศไทยจะไป 5.0 ได้ โดยต้องมีนโยบาย ต้องมีศักยภาพการแข่งขันสูงและเกิดความมั่งคั่งต้องพัฒนาตัวเองสู่เทคโนโลยี เช่น การนำรถยนต์อีวีเข้าสู่นวัตกรรมไทย โดยการพัฒนาของเทคโนโลยีจะเข้ามาตั้งแต่แรกนวัตกรรมคอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์ แบตเตอรี่ พลังงานทดแทน และเทคโนโลยีมากมายที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ไทยเรียนรู้จากการพัฒนาได้อย่างคุ้นเคยมากยิ่งขึ้น ในอนาคตจะสามารถกลายเป็นเทคโนโลยีที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จึงต้องนำเทคโนโลยีที่มีมาพัฒนาให้เกิดการต่อยอดในธุรกิจ

 

หากไทยจะนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดมูลค่าจนเกิดเป็นศูนย์กลางนวัตกรรม ต้องทำการเปิดการเรียนโดยจับมือกับมหาวิทยาลัยในประเทศให้มากขึ้นจากสาขาที่มีอยู่แล้ว โดยจะเสริมในเรื่องการใช้เทคโนโลยี ควบคู่ไปกับการเรียนรู้ภาคธุรกิจ ภาคการเงิน รวมถึงการอบรมการเป็นผู้นำในเรื่องของธุรกิจ จะสามารถเพิ่มบุคลากรระดับโลกก็เกิดขึ้นได้

 

Smart City เป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานใหม่ คือการสร้างเศรษฐกิจให้มีประสิทธิภาพ สร้างตลาดที่สามารถสร้างอุตสาหกรรม 10-20 อุตสาหกรรมในเวลาเดียวกัน โดยการลงทุนในเศรษฐกิจใหม่เริ่มจากการเป็นอยู่ดีขึ้น ความปลอดภัย สุขภาพ รวมถึงการเข้าถึงองค์ความรู้ หากมีนโยบายชัดเจน และมีการลงทุนระดับภาคและย่อยลงไป สามารถพาเศรษฐกิจโลกเดินหน้าไปอีกคืบ อีกทั้งเรื่องของโลก 2 ขั้ว ที่เกิดขึ้นจากผลกระทบเรื่องของสงครามรัสเซีย-ยูเครน มองว่าไทยสามารถดำเนินการถึงตอนนี้ทำได้ดีแล้ว จากการประคองให้ไทยเดินหน้าต่อในเศรษฐกิจโลกผันผวนและยังคงไปต่อ โดยประชาชนไม่ได้รับผลกระทบมาก

กอบศักดิ์ ภูตระกูล
อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพและการดำเนินธุรกิจของประชาชน

 

เรื่องการอำนวยความสะดวกของการทำธุรกิจของประเทศไทย ได้ดำเนินการมา 4-5 ปีมีความคืบหน้าในหลายอย่าง วันนี้เป็นจุดที่กำลังจะออกจากโควิดและอยู่กับโควิดได้หลังฉีดวัคซีนได้อย่างกว้างขวาง ทำให้คนมีความเชื่อมั่น ทำให้เศรษฐกิจเดินหน้า หากจะเดินไปข้างหน้าต้องดีขึ้นกว่าเดิม แต่สิ่งที่เป็นโซ่ตรวนของไทยคือกฎหมายที่ล้าสมัย เกิดต้นทุนทางธุรกิจจากการผ่านหลายกระบวนการ ทำให้เสียเวลา จึงเป็นที่มาว่าทำไมต้องยกเลิกกฎหมายเหล่านี้ เช่น โครงการชิ้นส่วนท่าอากาศยาน ในกฎหมายให้คนต่างชาติที่จะมาลงทุนในไทยจะต้องมีคนไทยถือหุ้นเกิน 50% หรือธุรกิจโรงแรมต้องยื่นขอใบอนุญาตถึง 40 ใบ

 

นี่คือต้นเหตุว่าประเทศกำลังเป็นยุคใหม่ แต่กฎหมายยังเป็นยุคเก่าทำให้การทำธุรกิจเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะฉะนั้น การเขียนกฎหมายดีๆ จะสามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ สิ่งที่รัฐบาลควรจะไปดู คือบริการประชาชนที่ประทับใจ เช่น การทำพาสปอร์ตที่ดีขึ้น สามารถทำผ่านออนไลน์ หรือลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายลงให้ประชาชนสามารถเข้าถึง ตัวอย่างการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่น ประเทศสิงคโปร์มีเทคโนโลยีที่เป็นแพลตฟอร์มเดียวในการดำเนินการผ่านออนไลน์ ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ไวและสะดวก

 

สำหรับประเทศไทยมีศูนย์กลางข้อมูลให้ธุรกิจติดต่อราชการแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร ณ จุดเดียว เป็นเว็บไซต์ศูนย์กลางข้อมูลธุรกิจและเป็นระบบกลางในการยื่นคำขอใหม่ เปลี่ยนแปลงหรือแก้ไข ต่ออายุ และยกเลิก ใบอนุญาตต่างๆ แบบออนไลน์ เช่น ใบขับขี่ เพื่อการจัดตั้งหรือดำเนินธุรกิจที่ติดต่อกับหน่วยงานของรัฐ แบบเบ็ดเสร็จ ครบวงจร

 

รวมถึงโครงการลด เลิก ละ เพื่อประชาชน เรียกว่ากิโยติน มีเป้าหมายลดภาระการดำเนินการเปิดธุรกิจที่ซับซ้อน โดยมองถึงความจำเป็น กฎระเบียบที่ไม่จำเป็น และเป็นอุปสรรค ภายใต้การพิจารณา คือ 1.เรื่องของกฎหมาย โดยกฎหมายดังกล่าวเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษาหรือไม่ ขัดกับกฎหมายอื่นในสัญญาหรือไม่ เช่น WTO 2.มีความจำเป็นมากน้อยอย่างไร เป้าประสงค์กฎหมายเป็นอย่างไร และ 3.เสริมสร้างธุรกิจหรือไม่ ทั้งหมดเป็นการทำงานช่วง 2-3 ปีที่แล้วและมีทีมงานขึ้นมา หลังทำมา 1 ปีกว่าๆ คลี่คลายไปมากแล้ว ทำเสร็จไปกว่า 400 กระบวนการ และมีดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายอีก 130 โครงการ และมีทบทวนอีก 58 กระบวนการ เป็นต้น

 

ดังนั้น แนวทางที่อยากจะเสนอรัฐบาลนำไปปรับใช้ในองค์กรยึดหลักดำเนินการกิโยติน คือ 1.Bottom up สร้างกลไก ลด ละ เลิกโดยหน่วยงานต่างๆ 2.Top Down แก้ไขโดยทีมส่วนกลาง และ 3.Major Change ปรับโครงสร้างระบบ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง