รีเซต

จีน-ไต้หวัน : "นโยบายจีนเดียว” กับ "หลักการจีนเดียว" ต่างกันอย่างไร ใครได้ประโยชน์มากที่สุด

จีน-ไต้หวัน : "นโยบายจีนเดียว” กับ "หลักการจีนเดียว" ต่างกันอย่างไร ใครได้ประโยชน์มากที่สุด
ข่าวสด
9 ตุลาคม 2564 ( 00:18 )
132

เป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว ที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ต้องเผชิญกับ "นโยบายจีนเดียว" (One China policy) ที่อ่อนไหวด้วยความระมัดระวังเป็นอย่างสูง นโยบายนี้คืออะไร มีที่มาอย่างไร

 

"นโยบายจีนเดียว" คืออะไร

นโยบายนี้เป็นการยอมรับจุดยืนของจีนทางการทูตว่า มีรัฐบาลจีนเพียงรัฐบาลเดียว ภายใต้นโยบายนี้ สหรัฐฯ ยอมรับและมีความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับจีน แทนที่จะเป็นเกาะไต้หวัน ซึ่งจีนเห็นว่า เป็นมณฑลที่แยกตัวออกไป และจะต้องกลับมารวมประเทศกับจีนในสักวันหนึ่ง

 

นโยบายจีนเดียวเป็นหลักการพื้นฐานสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ และยังเป็นรากฐานทางการทูตและการทำนโยบายของจีนด้วย อย่างไรก็ตาม มันแตกต่างอย่างชัดเจนจาก "หลักการจีนเดียว" (One China principle) ซึ่งจีนยืนกรานว่า ไต้หวันคือส่วนหนึ่งของจีนที่ไม่อาจแบ่งแยกได้และจะต้องกลับมารวมกันในสักวันหนึ่ง

 

นโยบายของสหรัฐฯ ไม่ใช่การยอมรับจุดยืนของรัฐบาลจีน และรัฐบาลสหรัฐฯ ยังคงรักษาความสัมพันธ์ "อย่างไม่เป็นทางการที่เหนียวแน่น" กับไต้หวัน รวมถึงการขายอาวุธให้กับไต้หวันอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ไต้หวันใช้ป้องกันตัวเองได้

 

แม้ว่ารัฐบาลไต้หวันอ้างว่า ไต้หวันเป็นประเทศเอกราช และมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า "สาธารณรัฐจีน" (Republic of China) แต่ประเทศใดที่ต้องการมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนแผ่นดินใหญ่ต้องยุติความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับรัฐบาลไต้หวัน

 

เรื่องนี้ส่งผลให้ไต้หวันเผชิญกับการโดดเดี่ยวทางการทูตจากประชาคมโลก

 

นโยบายนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร

นโยบายนี้มีที่มาย้อนกลับไปในปี 1949 และการสิ้นสุดลงของสงครามกลางเมืองในจีน ฝ่ายชาตินิยมที่พ่ายแพ้ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ก๊กมินตั๋ง (Kuomintang) ล่าถอยไปอยู่เกาะไต้หวัน และตั้งรัฐบาลขึ้นที่นั่น ขณะที่ฝ่ายคอมมิวนิสต์ที่คว้าชัยชนะได้เริ่มปกครองจีนแผ่นดินใหญ่ซึ่งมีชื่อทางการว่า สาธารณรัฐประชาชนจีน (People's Republic of China) ทั้งสองฝ่ายต่างอ้างว่า ตัวเองเป็นตัวแทนจีนทั้งหมด

 

นับจากนั้น พรรคคอมมิวนิสต์ที่ปกครองจีน ได้ขู่ว่า จะใช้กำลังถ้าไต้หวันประกาศเอกราชอย่างเป็นทางการ แต่จีนก็มีช่องทางติดต่อทางการทูตกับไต้หวันในช่วงไม่กี่ปีนี้เช่นกัน

ในตอนแรก รัฐบาลหลายประเทศรวมถึงสหรัฐฯ ยอมรับไต้หวัน เพราะต้องการหลบเลี่ยงจีนที่เป็นคอมมิวนิสต์ แต่กระแสลมทางการทูตได้เปลี่ยนทิศทาง เมื่อจีนและสหรัฐฯ เริ่มเห็นถึงความจำเป็นร่วมกันในการพัฒนาความสัมพันธ์ที่เริ่มขึ้นในยุคทศวรรษ 1970 ซึ่งสหรัฐฯ และประเทศต่าง ๆ เริ่มตัดความสัมพันธ์กับรัฐบาลไต้หวันและยอมรับรัฐบาลจีนแทน

 

แต่หลายประเทศก็ยังคงรักษาความสัมพันธ์อย่างไม่เป็นทางการกับไต้หวันไว้ ผ่านสำนักงานการค้าหรือสถาบันวัฒนธรรม ส่วนสหรัฐฯ ยังคงเป็นพันธมิตรด้านความมั่นคงที่สำคัญที่สุดของไต้หวัน

 

สหรัฐฯ ยอมรับนโยบายจีนเดียวเมื่อไร

หลังพัฒนาความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมานานหลายปี สหรัฐฯ ได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับรัฐบาลจีนในปี 1979 ในสมัยของประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์

 

ส่งผลให้สหรัฐฯ ต้องตัดสัมพันธ์กับไต้หวันและปิดสถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงไทเป

 

แต่ในปีเดียวกันนั้นเอง สหรัฐฯ ได้ผ่านกฎหมายความสัมพันธ์กับไต้หวัน (Taiwan Relations Act) ซึ่งรับประกันการสนับสนุนไต้หวัน โดยกฎหมายนี้บัญญัติว่า สหรัฐฯ ต้องช่วยเหลือไต้หวันในการป้องกันตัวเอง ซึ่งเป็นเหตุผลว่า ทำไมสหรัฐฯ จึงขายอาวุธให้ไต้หวันอย่างต่อเนื่อง สหรัฐฯ ยังระบุด้วยว่า สหรัฐฯ สนับสนุนทางออกอย่างสันติระหว่างความขัดแย้งของทั้งสองฝ่าย และสนับสนุนให้ทั้งสองฝ่าย "เจรจากันอย่างสร้างสรรค์"

 

สหรัฐฯ ยังคงรักษาความสัมพันธ์อย่างไม่เป็นทางการกับไต้หวันผ่านทางสถาบันอเมริกาในไต้หวัน (American Institute in Taiwan) ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนที่จัดกิจกรรมทางการทูตต่าง ๆ

 

ใครแพ้ใครชนะ

เห็นได้ชัดว่า รัฐบาลจีนได้ผลประโยชน์มากที่สุดจากนโยบายนี้ ซึ่งทำให้ไต้หวันต้องเผชิญกับความโดดเดี่ยวทางการทูต

ประเทศส่วนใหญ่ในโลกไม่ยอมรับไต้หวันว่า เป็นประเทศเอกราช รวมถึงองค์การสหประชาชาติด้วย ไต้หวันต้องใช้ชื่ออื่นในการเข้าร่วมงานสำคัญและสถาบันต่าง ๆ อย่างการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก (Olympic Games) และองค์การการค้าโลก (World Trade Organization)

แม้ถูกโดดเดี่ยว ไต้หวันก็ไม่ได้สูญเสียไปทั้งหมด

EP

ไต้หวันยังคงรักษาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมกับเพื่อนบ้าน และใช้ประโยชน์จากสัมพันธ์ทางใจอันยาวนานกับสหรัฐฯ ในการต่อรองต่าง ๆ

 

ไต้หวันได้ว่าจ้างกลุ่มนักเจรจาต่อรองที่ทรงอิทธิพลในกรุงวอชิงตัน รวมถึงอดีตวุฒิสมาชิกบ็อบ โดล ซึ่งสื่อสหรัฐฯ รายงานว่า เขาได้ช่วยจัดการติดต่อที่ส่งผลให้มีการพูดคุยกันทางโทรศัพท์ระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ และประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน ของไต้หวัน

 

สหรัฐฯ ก็ได้ประโยชน์จากความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับจีน ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ต่างชาติรายใหญ่ที่สุดและเป็นคู่ค้ามูลค่าสูงสุด ขณะที่ก็ยังคงรักษาความสัมพันธ์อันเหนียวแน่นกับไต้หวันต่อไป

 

สหรัฐฯ ดำเนินนโยบายจีนเดียวได้อย่างสมดุลในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา แต่ยังต้องรอดูต่อไปว่าสหรัฐฯ จะรักษาสมดุลนี้ได้นานแค่ไหน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง