รีเซต

ย้อนรอยวิกฤติ ดันราคาทองคำ “นิวไฮ” ลุ้นทะลุ 6 หมื่นบาท

ย้อนรอยวิกฤติ  ดันราคาทองคำ “นิวไฮ”  ลุ้นทะลุ 6 หมื่นบาท
TNN ช่อง16
8 พฤษภาคม 2568 ( 14:42 )
11

ย้อนรอยเหตุการณ์สำคัญในอดีตราคาทองคำทุสบถิติใหม่ต่อเนื่องท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจ-สงครามทางการค้า ส่วนแนวโน้มทิศทางจะเป็นอย่างไรมีโอกาสจะเห็นทองแท่งทะลุ 60,000 บาทหรือไม่ ตามไปดูกันเลย

ราคาทองคำถือเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe-Haven Asset) ในช่วงที่สถานการณ์โลก และในประเทศเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจ สงครามทางการค้า ความไม่แน่นอนทางการเมือง นักลงทุนจะหันไปซื้อทองคำเพื่อปกป้องมูลค่าของการลงทุนจากความเสี่ยง  เพราะทองคำมีคุณสมบัติที่สามารถรักษามูลค่าได้ดีในระยะยาว แม้จะมีความผันผวนในระยะสั้น เมื่อเทียบกับสกุลเงินหรือตลาดหุ้นที่อาจเกิดภาวะเงินเฟ้อหรือความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ


ขณะเดียวกันทองคำเป็นที่ยอมรับในระดับสากลเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนและเก็บมูลค่า แม้ว่าประเทศหรือภูมิภาคใดจะประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ หรือเกิดความไม่แน่นอนทางการเมือง ทองคำยังคงเป็นที่ต้องการ และมีสภาพคล่องสูง  ทองคำสามารถซื้อขายได้ง่ายทั้งในตลาดโลกและในประเทศใด ๆ ที่มีความต้องการ โดยไม่ขึ้นกับระบบการเงินหรือรัฐบาลใด ๆ  และเมื่อเกิดภาวะเงินเฟ้อ หรือค่าเงินลดลง ทองคำจะมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมูลค่าขึ้น เนื่องจากมันมีมูลค่าที่ไม่ขึ้นอยู่กับสกุลเงินใด ๆ และทองคำเป็นแหล่งลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำเมื่อเทียบกับสินทรัพย์อื่นๆ

หากย้อนเหตุการณ์สำคัญในอดีต-ปัจจุบัน ราคาทองคำทุบสถิติ ALL TIME HIGH  มากน้อยแค่ไหนนั้น ในวันนี้ TNN ONLINE จะพาไปไขคำตอบกันค่ะ

เริ่มจากในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง (วิกฤตการเงินเอเชีย) ในปี 2540 ราคาทองคำได้รับผลกระทบจากความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจทั่วภูมิภาคเอเชีย รวมถึงประเทศไทยที่ประสบกับปัญหาค่าเงินและตลาดการเงิน การแพร่ระบาดของวิกฤติเศรษฐกิจในเอเชียส่งผลให้ราคาทองคำเพิ่มขึ้น

ราคา Gold Spot

ราคาทองคำในปี 2540  ก่อนและหลังวิกฤติเริ่มมีการปรับตัวขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปจากประมาณ 300 -  380 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ในช่วงต้นปี

ราคาทองคำสปอตทำสถิติสูงสุดในช่วงปลายปี 2540 หลังจากที่วิกฤติเริ่มทวีความรุนแรง โดยราคาทองคำสปอตขึ้นไปถึง  410 - 420 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ในช่วงปลายปี 2540 (ประมาณเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม 1997)

ราคาทองคำแท่งในไทย

ราคาทองคำแท่งในประเทศไทยในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งมีการปรับตัวสูงขึ้นตามราคาทองคำสปอตในตลาดโลก
ราคาทองคำแท่งในช่วงนั้นเคลื่อนไหวอยู่ที่ประมาณ 7,500 - 8,500 บาท ต่อบาททองคำ
ราคาทองคำแท่งในไทยมีการปรับตัวสูงขึ้นในช่วงที่วิกฤติทวีความรุนแรง โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดการเงินไทยและภูมิภาคเอเชียเกิดความไม่มั่นคง

ค่าเงินบาท

- ในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง ค่าเงินบาทเริ่มอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วจากประมาณ 25 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงต้นปี 2540
- ในช่วงปลายปี 2540 ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงอย่างหนักจนถึง ประมาณ 40 บาทต่อดอลลาร์ (ในช่วงต้นปี 2541) ซึ่งเป็นผลจากการปล่อยลอยตัวค่าเงินบาท

ปัจจัยที่ทำให้ราคาทองคำปรับสูงขึ้นในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง:

วิกฤติเศรษฐกิจในเอเชีย: ความไม่มั่นคงทางการเงินในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชีย รวมถึงการลอยตัวของค่าเงินบาทในไทยทำให้นักลงทุนหันมาซื้อทองคำเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย

ค่าเงินบาทอ่อนค่า: การอ่อนค่าของค่าเงินบาททำให้ราคาทองคำในประเทศไทยสูงขึ้นตามราคาทองคำสปอตในตลาดโลก
ความไม่มั่นคงทางการเงิน: การระบาดของวิกฤติการเงินในหลายประเทศในเอเชีย เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ รวมถึงประเทศไทย ทำให้ราคาทองคำในตลาดโลกได้รับความนิยมจากนักลงทุนที่ต้องการหลีกเลี่ยงความเสี่ยง

ขณะที่วิกฤติเศรษฐกิจโลกจากเหตุการณ์ วิกฤติเศรษฐกิจซับไพร์ม (Subprime Crisis) ที่เกิดขึ้นในปี 2550-2551 ราคาทองคำได้รับการกระตุ้นจากการที่เกิดความไม่มั่นคงทางการเงินทั่วโลกโดยเฉพาะในช่วงที่เกิดการล้มละลายของสถาบันการเงินหลายแห่งในสหรัฐฯ และมีการบังคับใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากธนาคารกลางทั่วโลก

ราคาทองคำ Gold Spot เป็นอย่างไร

- ในช่วงต้นปี 2550   อยู่ที่ประมาณ  600 -  650 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์  
- ราคาทองคำเริ่มปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงปี 2551 โดยในช่วงกลางปี 2551 ราคาทองคำพุ่งขึ้นไปแตะ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์  โดยเฉพาะในช่วงเดือน มีนาคม-พฤษภาคม 2551
- ราคาทองคำทำสถิติสูงสุดในปี 2551 ที่ 1,020 - 1,030  ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์   ในช่วง มีนาคม 2551 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดการล่มสลายของสถาบันการเงินในสหรัฐฯ และการแทรกแซงของรัฐบาลสหรัฐฯ โดยการปล่อยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
- ราคาทองคำในช่วงปลายปี 2551 มีการปรับลดลง แต่ยังคงอยู่ในระดับสูง โดยอยู่ที่ประมาณ 850 - 900 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ 

ราคาทองคำแท่งในไทย

-ราคาทองคำแท่งในประเทศไทยในช่วงวิกฤติซับไพร์มมีการเคลื่อนไหวตามราคา Gold Spot  ในตลาดโลก
-ราคาทองคำแท่งในช่วงปี 2550 อยู่ที่ประมาณ 15,000 - 18,000 บาท ต่อบาททองคำ
-ราคาทองคำแท่งในปี 2551 โดยเฉพาะในช่วงมีนาคม 2551 ราคาทองคำแท่งในไทยพุ่งขึ้นไปถึง 18,000 - 20,000 บาท ต่อบาททองคำ
-ราคาทองคำแท่งในช่วงปลายปี 2551 ลดลงบ้าง แต่ยังคงอยู่ในระดับสูงที่ประมาณ 17,000 - 18,000 บาท ต่อบาททองคำ
ค่าเงินบาท:
-ค่าเงินบาทในช่วงปี 2550 เคลื่อนไหวอยู่ที่ประมาณ 33-34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ
-ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจซับไพร์มในปี 2551 ค่าเงินบาทมีความผันผวน เนื่องจากความไม่มั่นคงทางการเงิน โดยในช่วงปลายปี 2551 ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงจากประมาณ 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ไปเป็น 35-36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

ปัจจัยที่ทำให้ราคาทองคำปรับสูงขึ้นในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจซับไพร์ม

การล่มสลายของสถาบันการเงิน: การล้มละลายของสถาบันการเงินใหญ่ๆ ในสหรัฐฯ เช่น Lehman Brothers ทำให้เกิดความวิตกกังวลในตลาดการเงินทั่วโลก

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลสหรัฐฯ: รัฐบาลสหรัฐฯ และธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Reserve) ดำเนินการพิมพ์เงินและลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้มีการใช้ทองคำเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย

-การอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ: ความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงในระบบการเงินโลกทำให้ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง ส่งผลให้ราคาทองคำเพิ่มขึ้นในสกุลเงินอื่นๆ

ช่วงน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ รวมถึงเหตุการณ์เศรษฐกิจโลกที่ผันผวน ราคาทองคำในช่วงนี้ก็มีการปรับตัวขึ้นสูง โดยเฉพาะในช่วงปลายปี 2554 ซึ่งเป็นช่วงที่ราคาทองคำทำ ALL TIME HIGH (ราคาสูงสุดในประวัติศาสตร์ในช่วงนั้น) เนื่องจากได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัย รวมถึงความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจโลก ความวิตกกังวลจากวิกฤตหนี้ในยุโรป (Eurozone Debt Crisis) และการกระตุ้นเศรษฐกิจจากธนาคารกลางสหรัฐ (Federal Reserve) ที่ส่งผลให้ราคาทองคำพุ่งสูงขึ้นในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย (safe haven)

ราคาทอง Gold Spot

ในปี 2554 ทำสถิติสูงสุดในประวัติศาสตร์ (ALL TIME HIGH) ที่  1,920.30  ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ในวันที่ 6 กันยายน 2554

ราคาทองคำแท่งในไทย

พุ่งขึ้นไปอยู่ที่ประมาณ 28,000 - 30,000 บาท ต่อบาททองคำ ช่วงปลายปี 2554 (หลังจากน้ำท่วม) ยังคงรักษาระดับสูงอยู่ที่ประมาณ 30,000 บาท ต่อบาททองคำ

ค่าเงินบาท

-ช่วงน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 เคลื่อนไหวในช่วง 30.5 - 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ
- ค่าเงินบาทมีความผันผวนในช่วงนั้น โดยในช่วงกลางปี 2554 ค่าเงินบาทเริ่มแข็งค่าและต่อมาอ่อนค่าลงในช่วงปลายปี เมื่อราคาทองคำในตลาดโลกปรับสูงขึ้น

ปัจจัยที่ทำให้ราคาทองคำพุ่งสูงขึ้นในช่วงน้ำท่วมใหญ่ปี 2554

วิกฤตหนี้ยูโรโซน (Eurozone Debt Crisis): การเผชิญกับปัญหาหนี้สินในหลายประเทศในยุโรป เช่น กรีซ, โปรตุเกส, และสเปน ทำให้เกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเงิน ซึ่งส่งผลให้ราคาทองคำเพิ่มขึ้นเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย
การดำเนินนโยบายการเงินจากธนาคารกลางสหรัฐ (Fed): การดำเนินมาตรการการเงินแบบผ่อนคลาย (Quantitative Easing) โดยธนาคารกลางสหรัฐ ซึ่งทำให้การลงทุนในทองคำเพิ่มขึ้น

ภัยพิบัติธรรมชาติ (น้ำท่วมใหญ่ในประเทศไทย): สถานการณ์น้ำท่วมในประเทศไทยในปี 2554 ทำให้เกิดความไม่แน่นอนในเศรษฐกิจภายในประเทศ ส่งผลให้นักลงทุนเริ่มหันไปลงทุนในทองคำ
 
สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน (ปี 2561-2562) ราคาทองคำมีการเคลื่อนไหวอย่างค่อนข้างสูง เนื่องจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจโลกจากสงครามการค้า ซึ่งทำให้นักลงทุนหันมาซื้อทองคำเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (safe haven) ในช่วงที่มีความผันผวนในตลาดการเงิน
 
-ราคาทองGold Spot สูงสุดที่ 1,557.47 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ในวันที่ 4 กันยายน 2562

- ราคาทองคำแท่งสูงสุดที่ประมาณ 24,000-25,000 บาท ต่อบาททองคำในช่วง กลางปี 2562  

-ค่าเงินบาทช่วงสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนในปี 2561-2562 เคลื่อนไหวอยู่ที่ประมาณ 31-33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
 

ปัจจัยที่ทำให้ราคาทองคำปรับสูงขึ้นในช่วงสงครามการค้าสหรัฐ-จีน

ความไม่แน่นอนจากสงครามการค้า: ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีนทำให้เกิดความไม่แน่นอนในเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะการเก็บภาษีสินค้าจีนและสหรัฐฯ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและทำให้ทองคำกลายเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยที่น่าสนใจ
การอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ: ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงในช่วงที่มีความไม่แน่นอนทางการค้า ส่งผลให้ทองคำในสกุลเงินอื่นมีราคาสูงขึ้น

การลดอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ: การลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Reserve) ในปี 2562 สนับสนุนให้ราคาทองคำสูงขึ้น เพราะเมื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำลง ทองคำจะกลายเป็นทางเลือกที่ดีในการลงทุน

ช่วงปี 2562-2563  ซึ่งเป็นช่วงการระบาดของ COVID-19 ราคาทองคำมีการเคลื่อนไหวอย่างมากจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา ที่ทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลก ในช่วงนี้นักลงทุนหันมาซื้อทองคำเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (safe haven asset) ในภาวะที่ไม่แน่นอน ทำให้ราคาทองคำเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ราคาทอง Gold Spot

-ปี 2562   เริ่มต้นที่ประมาณ 1,300 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และมีการปรับตัวขึ้นเนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน
-ปลายปี 2562 ราคาทองคำสปอตอยู่ที่ประมาณ 1,500 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ และยังคงมีแนวโน้มขาขึ้นต่อเนื่อง
-ปี 2563  เมื่อเกิดการระบาดของ COVID-19  ราคาทองคำปรับขึ้นอย่างรวดเร็วเนื่องจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ โดยในช่วงกลางปี 2563 ราคาทองคำสปอตพุ่งขึ้นไปแตะระดับ 2,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์  ซึ่งเป็นราคาสูงสุดในประวัติศาสตร์ในขณะนั้น
-ราคาทองคำเริ่มปรับลดลงในช่วงปลายปี 2563 แต่ยังคงอยู่ในระดับที่สูง โดยราคาทองคำสปอตในช่วงปลายปี 2563 อยู่ที่ประมาณ 1,800 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์

ราคาทองคำแท่ง

-ปี 2562 อยู่ที่ประมาณ 19,000 - 22,000 บาท ต่อบาททองคำในช่วงต้นปี และพุ่งสูงขึ้นตามราคาทองคำสปอตในช่วงปลายปี 2562
-ปี 2563 ในช่วงที่ราคาทองคำสปอตพุ่งสูง ราคาทองคำแท่งในไทยพุ่งขึ้นไปถึงประมาณ 30,000 - 32,000 บาท ต่อบาททองคำในช่วงกลางปี 2563 (เมื่อราคาทองคำสปอตแตะ 2,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์)
-ในช่วงปลายปี 2563 ราคาทองคำแท่งลดลงบ้าง แต่ยังคงอยู่ในระดับสูงที่ประมาณ 27,000 - 28,000 บาท ต่อบาททองคำ

ค่าเงินบาท

-ในปี 2562 เคลื่อนไหวอยู่ที่ประมาณ 31-32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ โดยในช่วงปลายปี 2562 ค่าเงินบาทเริ่มแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย
- ปี 2563 ในช่วงต้น แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยอยู่ที่ประมาณ 30-31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ  
-แต่ในช่วงกลางปี 2563 ค่าเงินบาทเริ่มอ่อนค่าลงบ้าง โดยอยู่ที่ประมาณ 31-32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ  
เนื่องจากผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดจาก COVID-19 และการกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารกลางทั่วโลก

ปัจจัยที่ทำให้ราคาทองคำปรับขึ้นในช่วงโควิด-19

วิกฤตเศรษฐกิจจากโควิด-19: การระบาดของ COVID-19 ทำให้เศรษฐกิจโลกตกอยู่ในภาวะถดถอย นักลงทุนหันมาซื้อทองคำเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยง

การลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลาง: การที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Reserve) และธนาคารกลางอื่นๆ ทั่วโลกลดอัตราดอกเบี้ย และดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย ทำให้ราคาทองคำปรับขึ้นตาม

การพิมพ์เงิน (Quantitative Easing): การพิมพ์เงินจากธนาคารกลางทั่วโลกและการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายประเทศทำให้ความต้องการทองคำเพิ่มขึ้นในฐานะที่เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย

ช่วงวิกฤติเศรษฐกิจจากสงครามรัสเซีย–ยูเครน (ตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นมา) ราคาทองคำได้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในปี 2567   ซึ่งเป็นช่วงที่ราคาทองคำทำสถิติสูงสุดใหม่ทั้งในระดับโลกและในประเทศไทย ดังนี้:

ราคาทองคำ Gold Spot

ราคาสูงสุด: 2,790.15 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อออนซ์ ช่วงเวลา ปลายเดือนตุลาคม 2567
ปัจจัยที่ส่งผล: ความตึงเครียดทางการเมืองและเศรษฐกิจโลก รวมถึงความไม่แน่นอนจากนโยบายของรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

ราคาทองคำแท่ง

ราคาสูงสุด: 44,550 บาทต่อบาททองคำ ปลายเดือนตุลาคม 2567
ปัจจัยที่ส่งผล: การอ่อนค่าของค่าเงินบาทและความต้องการทองคำที่เพิ่มขึ้นจากนักลงทุนในประเทศ ค่าเงินบาทเฉลี่ย  ประมาณ 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

ปัจจัยที่ส่งผลให้ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้น

ความตึงเครียดทางการเมืองและเศรษฐกิจ: ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมถึงความไม่แน่นอนจากนโยบายของรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

การอ่อนค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ: ส่งผลให้ทองคำซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่าเป็นสากลมีความน่าสนใจมากขึ้นสำหรับนักลงทุน
ความต้องการทองคำที่เพิ่มขึ้น: ทั้งจากนักลงทุนที่ต้องการป้องกันความเสี่ยงและจากการซื้อทองคำสำรองของธนาคารกลางหลายแห่ง
ราคาทองคำที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจจากสงครามรัสเซีย–ยูเครนสะท้อนถึงความไม่แน่นอนทางการเมืองและเศรษฐกิจโลก ซึ่งทำให้นักลงทุนหันมาลงทุนในทองคำเพื่อป้องกันความเสี่ยง

ขณะที่ราคาทองคำในปี 68 ร้อนแรงไม่น้อย ทุบ ALL TIME HIGH ไม่หยุด หลังประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” ประกาศมาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) และมาตรการภาษีศุลกากรแบบครอบจักรวาล (Universal Tarrifs) ส่งผลให้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกถูกเรียกเก็บภาษีสินค้าที่นำเข้าสูงขึ้น ทำให้หลายประเทศตอบโต้ด้วยมาตรการเก็บภาษีเช่นกัน หนุนราคาทองคำพุ่งกระฉูด

- ราคาทอง Gold Spot สูงสุด: 3,500 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อออนซ์   เมื่อ 22 เม.ย. 68

- ราคาทองคำแท่ง ราคาสูงสุด 54,800  บาท

- ค่าเงินบาทเฉลี่ยอยู่ที่  33.12 บาทต่อดอลลาร์

ส่วนแนวโน้มทิศทางราคาทองคำจะไปต่อหรือไม่นั้น นายวรุต รุ่งขำ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน ฟิวเจอร์ส จำกัดมองว่า  ราคาทองคำในต่างประเทศ และทองแท่งไทยก็มีโอกาสปรับตัวขึ้นได้อีกหากสหรัฐฯ ยังเก็บภาษีนำเข้าสินค้ากับทั่วโลก โดยเฉพาะจีน และหากแต่ละประเทศมีการตอบโต้สหรัฐฯ ขึ้นภาษีเช่นกันก็จะทำให้สถานการณ์โลกมีความเสี่ยงสูง เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทยอาจจะชะลอตัวลงอีก ดังนั้นทองคำยังเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยที่นักลงทุนหันมาลงทุนเพิ่ม แทนการลงทุนในตลาดหุ้นที่มีความเสี่ยงสูง

นอกจากนี้ธนาคารกลางทั่วโลกยังมีการซื้อทองคำเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศกันต่อเนื่อง  โดยจากข้อมูลของสภาทองคำโลกในไตรมาส 1/68  ธนาคารกลางได้เพิ่มปริมาณทุนสำรองทั่วโลก 244 ตัน  ท่ามกลางสภาวะความไม่แน่นอนในระดับโลกที่ยังคงดำเนินอยู่ต่อไปขณะที่ความต้องการทองคำโดยรวมทั่วโลกจากทุกภาคส่วนอยู่ที่ 1,206 ตัน เพิ่มขึ้น 1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

หากย้อนดูราคาทองคำตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน ราคา Gold Spot ปรับขึ้นไปแล้ว 637 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ หรือเพิ่มขึ้น 10.52% ส่งผลให้ทองแท่งและรูปพรรณปรับขึ้นไปแล้ว 8,700 บาท หรือเพิ่มขึ้น 24.29% ขณะที่เงินบาทแข็งค่า 1.20 บาทต่อดอลลาร์ หรือ 3.50% แตะที่ระดับ 33.05 บาทต่อดออลลาร์สหรัฐ  และถ้าย้อนหลัง 20 ปีราคาทองแท่งอยู่ที่ 7,000 - 9,000 บาท แต่ตอนนี้ขึ้นมา 6 เท่า 54,000 บาทแล้ว  และจากการณ์ประเมินของวาณิชธกิจขนาดใหญ่มองว่าในช่วงครึ่งปีหลังราคาทองคำแท่งมีโอกาสที่จะทะลุไปได้ถึง 58,600-63,000 บาท โดยราคา Gold Spot อยู่ที่ 3,700 - 4,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ จากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่รุนแรงขึ้น 

รวมถึงความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่การอ่อนค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐจากปัจจัยเศรษฐกิจและนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น ตลอดจนแรงเทขายในตลาดตราสารหนี้ ซึ่งผลักดันให้นักลงทุนหันไปถือสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองคำ นอกจากนี้ การเข้าซื้อทองคำอย่างต่อเนื่องของธนาคารกลางทั่วโลก โดยเฉพาะธนาคารกลางจีน ก็ยังเป็นปัจจัยหนุนสำคัญที่ช่วยเสริมความเชื่อมั่นในทิศทางขาขึ้นของทองคำ

“ราคาทองคำมีความผันผวนจากปัจจัยต่างประเทศ โดยทองคำจะปรับตัวขึ้นทุกครั้งเมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ แต่ไม่ได้ทำนิวไฮใหม่ทุกครั้ง เพราะต้องขึ้นกับค่าเงินบาทในช่วงนั้นด้วยว่าแข็งค่าหรืออ่อนค่ามากน้อยแค่ไหน  แต่เมื่อสถานการณ์คลี่คลายราคาทองคำจะพักฐาน นักลงทุนจะขายทำกำไรส่งผลให้ราคาทองคำปรับตัวลงเป็นเรื่องที่ต้องระวัง”

โดยในระยะกลาง 1-3 เดือนข้างหน้า ประเมินแนวรับแรกที่  3,123 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์  แนวรับต่อไปที่  3,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์   แนวต้านที่ 3,410 -  3,500 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์    

แม้ว่าทองคำในช่วงนี้ราคาขึ้นลงหวือหวาจนทำให้นักลงทุนเข้ามาเก็งกำไร เพื่อได้ผลประโยชน์ตอบแทนการลงทุนดีกว่าการลงทุนประเภทอื่นหรือฝากเงิน แต่ทองคำไม่ได้สร้างรายได้สม่ำเสมอ เนื่องจากไม่มีการจ่ายดอกเบี้ยหรือเงินปันผล ราคาทองคำจะให้ผลตอบแทนจากการเปลี่ยนแปลงของราคาตลาดเท่านั้น  

หากนักลงทุนมีแผนการใช้เงินในระยะสั้นหรือมีความกังวลเกี่ยวกับการผันผวนของตลาด ก็สามารถทยอยขายทำกำไรออกมาบางส่วนเพื่อล็อกผลตอบแทนไว้ก่อน แต่อย่าลืมว่าทองคำไทยมีความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาทในระยะสั้น และเศรษฐกิจโลกในระยะยาวดังนั้นจะต้องดูปัจจัยรอบด้านที่อาจส่งผลต่อราคาในอนาคตก่อนที่จะตัดสินใจลงทุน

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม