รีเซต

ศบค.ชี้โควิด-19 ลามกรุงเทพฯ ไม่หยุด วิกฤตทั้งยอดติดเชื้อ-ตาย

ศบค.ชี้โควิด-19 ลามกรุงเทพฯ ไม่หยุด วิกฤตทั้งยอดติดเชื้อ-ตาย
มติชน
7 พฤษภาคม 2564 ( 14:41 )
48
ศบค.ชี้โควิด-19 ลามกรุงเทพฯ ไม่หยุด วิกฤตทั้งยอดติดเชื้อ-ตาย

ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) กล่าวระหว่างแถลงสถานการณ์โรคโควิด-19 ว่า กรุงเทพมหานคร (กทม.) และกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้มีการรวบรวมข้อมูล โดยรายงานตัวเลขผู้ป่วยวันที่ 7 พฤษภาคม ในพื้นทีกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล 1,372 ราย ขณะที่ผู้ป่วยในกรุงเทเพฯ ตัวเลขสูงเพียงวันเดียวถึง (นิวไฮ) สูงถึง 869 ราย ส่วนนนทบุรี 201 ราย สมุทรปราการ 165 ราย สมุทรสาคร 69 ราย ปทุมธานี 39 ราย และนครปฐม 29 ราย ซึ่งตัวเลขของกรุงเทพฯ เกินกว่า 500 รายมาตลอด และแนวทางยังพุ่งขึ้นอีก

 

 

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า นอกจากนี้ จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศที่มีอาการหนัก ณ วันปัจจุบัน ข้อมูลวันที่ 1 -6 พฤษภาคม 2564 พบรวมทั้งหมด 1,170 ราย เป็นกรุงเทพฯและปริมณฑล 818 ราย และจังหวัดอื่นๆอีก 352 ราย โดยในกรุงเทพฯ พบถึง 496 รายในวันที่ 6 พฤษภาคม ซึ่งเพิ่มขึ้นจากวันที่ 5 พฤษภาคม (466 ราย) วันที่ 4 พฤษภาคม (461ราย) คือ เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เช่นเดียวกับนนทบุรี นครปฐม ตัวเลขก็เพิ่มขึ้น นอกนั้นก็ยังมีสมุทรปราการ สมุทรสาคร และปทุมธานี ดังนั้น จำนวนเตียงที่ดูแลผู้ป่วยหนักไม่ใช่ดูแค่จังหวัดเดียว แต่ต้องดู 5 จังหวัด

 

 

“ส่วนจำนวนผู้เสียชีวิตตัวเลขกรุงเทพฯ ก็เพิ่มขึ้น อย่างวันนี้ 18 คน เพิ่มจากวันที่ 6 พ.ค.เสียชีวิต 6 คน วันที่ 5 พ.ค. พบเสียชีวิต 4 คน โดยกรุงเทพฯ เสียชีวิตสะสมระลอกเดือนเม.ย. ณ ขณะนี้พบ 122 คน อย่างไรก็ตาม ในเรื่องสถานที่ ฌาปนกิจศพ ก็มีประเด็นดรามาบางที่ ซึ่งตอนนี้กรมศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้แจ้งว่ามีติดขัดอะไรให้แจ้ง 1765 ขออำนวยความสะดวกได้”นพ.ทวีศิลป์ กล่าวและว่า ในการประชุมของศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 โดยที่ประชุมทางศูนย์อนามัยได้แจ้งข้อมูลว่า ณ วันที่ 6 พ.ค. 2564 พบพื้นที่การระบาดกรุงเทพฯ ที่ติดเชื้อสูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่ 1. คลองเตย พบผู้ป่วย 46 ราย 2.ปทุมวัน 24 ราย 3. บางแค 24 ราย 4.ลาดพร้าว 13 ราย 5.ราชเทวี 10 ราย 6.ป้อมปราบศัตรูพ่าย 9 ราย 7.บึงกุ่ม 9 ราย 8. ภาษีเจริญ 8 ราย 9. บางขุนเทียน 8 ราย และ 10. ดินแดง 8 ราย โฆษก ศบค.กล่าวว่า โดยที่ประชุมได้ให้ผู้อำนวยการเขตบางแค รายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยระบุว่า คลัสเตอร์นี้เกิดตั้งแต่มี.ค. โดยเป็นร้านอาหารแห่งหนึ่งที่เชื่อมโยงสถานบันเทิง ระลอกนั้นพบ 57 ราย จากนั้นช่วง มี.ค.ต่อ เม.ย. เกิดการระบาดในตลาดบางแคจำนวนถึง 485 ราย กระทั่งพบคลัสเตอร์ชุมชน ห้างสรรพสินค้า หมู่บ้าน โดยระลอกนี้ 191 ราย ซึ่งกำลังควบคุมอยู่

 

 

“โดยในการควบคุมโรคเขตบางแค ได้ลงไปค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกทั้งในห้างสรรพสินค้า และชุมชน ซ.เพชรเกษม 84 ซึ่งสิ่งสำคัญเมื่อเจอคนติดเชื้อ ต้องแยกคนติดเชื้อเข้าสู่รพ. และโดยเฉลี่ย 1 คน ติดเชื้อจะมีคนสัมผัสเสี่ยงสูง 6 คน จึงต้องนำมาตรวจและกักตัวที่บ้าน หรือตามที่กทม.มีแนวทาง จากนั้นก็ติดตามจนครบกำหนด ขณะเดียวกันตรวจหาเชื้อในกลุ่มที่กว้างขึ้นต่อไป ซึ่งได้ทำมาแล้วและจะทำต่อเนื่อง” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง