รีเซต

จว.ใต้นำร่อง เปิดนวดสปาควบกักโควิด-19 รับต่างชาติ สธ.ชง ศบค.สัปดาห์หน้า

จว.ใต้นำร่อง เปิดนวดสปาควบกักโควิด-19 รับต่างชาติ สธ.ชง ศบค.สัปดาห์หน้า
มติชน
22 กันยายน 2563 ( 11:58 )
146
จว.ใต้นำร่อง เปิดนวดสปาควบกักโควิด-19 รับต่างชาติ สธ.ชง ศบค.สัปดาห์หน้า

วันนี้ (22 กันยายน 2563) นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยระหว่างเดินทางไปตรวจสถานประกอบการนวดและสปา ที่ ร้านแบบไทย อาหาร ศูนย์จำหน่ายสินค้าเพื่อสุขภาพ นวดไทย&เซาว์นา สปาไทย จ.พัทลุง ว่า การนวดไทยและนวดสปา ได้รับความนิยมจากชาวต่างชาติเป็นอย่างมาก และมีความต้องเข้าเดินทางเข้าประเทศมาใช้บริการสูง เพราะเป็นทางเลือกในการดูแลสุขภาพ สธ.จึงต้องออกแบบมาตรการป้องกันควบคุมโรคให้ปลอดภัยจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ขณะนี้ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.ได้อนุมัติหลักการของ Wellness Quarantin ในสถานประกอบการร้านนวดสปา ซึ่งเป็น 1 ในรูปแบบของโปรแกรม Medical and Wellness Program ที่เป็นการรับชาวต่างประเทศเข้ามาเพื่อการดูแลและรักษาสุขภาพควบคู่กับการกักกันโรค

 

 

นพ.ธเรศ กล่าวว่า มาตรการป้องกันโควิด-19 จะต้องมี 4 หลักการ คือ 1.ผู้เดินทางเข้าประเทศไทย จะต้องตรวจหาเชื้อโควิด-19 โดยมีใบรับรองแพทย์ว่าปลอดเชื้อภายใน 72 ชั่วโมงก่อนถึงไทย 2.รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการเข้าสถานกักกันโรคในรูปแบบของ Wellness Quarantine เองทั้งหมด พร้อมมีประกันสุขภาพตามที่ ศบค.กำหนด 3.สถานประกอบการนวดสปา ที่เข้าร่วมโครงการจะต้องมีพื้นที่กำหนดชัดเจนในการดูแลผู้เดินทางกลุ่มดังกล่าว มีกิจกรรมที่เหมาะสมในการดูแลด้านสุขภาพ และจัดการระบบสาธารณูปโภคได้ตามมาตรฐาน 4.ผู้เดินทางต้องอยู่ในการดูแลของสถานประกอบการอย่างน้อย 14 วัน ตรวจหาเชื้อ 3 ครั้งตามมาตรการของการกักกันโรคฯ มีเมนูอาหารเพื่อสุขภาพ 5.สถานประกอบการจะต้องส่งเสริมเศรษฐกิจประชาชนรากหญ้า ด้วยการใช้ผลิตภัณฑ์ของชุมชนโดยรอบ พืชผัก วัสดุดิบประกอบอาหารจะต้องซื้อมาจากประชาชนในพื้นที่ รวมถึงการจ้างงานคนในชุมชนให้มากขึ้น และ 6.เตรียมโรงพยาบาลรับส่งต่อ หากเกิดกรณีฉุกเฉิน

 

“ขณะนี้ ศบค.อนุมัติหลักการแล้ว อยู่ในระหว่างหารือกับสมาคมฯ โดยมีร้านนวดสปาเข้าร่วมการออกแบบมาตรการประมาณ 4-5 แห่ง ในการทำแผนการทำงานเพิ่มเติม คาดว่าจะนำเข้าเสนอ ศบค.ชุดใหญ่ในสัปดาห์หน้า เพื่อเสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป คาดว่า 3 สัปดาห์ จะกำหนดมาตรการต่างๆ แล้วเสร็จและเปิดรับผู้ประกอบการ แต่อย่างไรก็ตาม เปิดรับแล้วก็ต้องมีการประเมินมาตรฐาน และขั้นตอนการรับผู้เดินทางเข้ามา คงต้องใช้เวลา 1-2 เดือน การที่ผู้เดินทางต้องเข้ามากักกันในโรงแรม 14 วัน ก็อาจจะไม่อยากเข้ามา แต่ถ้ามาแล้วมีพื้นที่ มีกิจกรรมก็ทำให้มีการเดินทางเข้ามา และเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชน แต่ข้อที่ต้องเน้นย้ำคือ จะต้องแยกพื้นที่ของผู้รับบริการที่มาจากต่างประเทศ กับผู้รับบริการในประเทศให้ชัดเจน ไม่ปะปนกันทั้งสถานที่และกลุ่มผู้ให้บริการ” นพ.ธเรศ กล่าว

 

นพ.ธเรศ กล่าวว่า ในส่วนของผู้ประกอบการจะต้องทำความเข้าใจกับคนในชุมชนให้ชัดเจนว่าจะมีมาตรการอย่างไร อธิบายว่าจะมีการส่งเสริมเศรษฐกิจของชุมนุม การจ้างงานอย่างไรบ้าง เพื่อไม่ให้เกิดการต่อต้านของคนในชุมชน และจะต้องกำหนดพื้นที่ให้ชัดเจน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้รับบริการรายอื่นๆ ว่าจะไม่มีการปะปนกันทั้งด้านสถานที่ ของใช้และผู้ให้บริการนวด และในส่วนของผู้ให้บริการนวด จะต้องแยกชุดกับการนวดลูกค้าทั่วไป และต้องตรวจหาเชื้อโควิด-19 ตามมาตรการของสถานกักกันโรค กักกันตัวเองในบริเวณเดียวกับผู้เดินทางที่ตนเองให้บริการอย่างเข้มงวด ตลอดระยะเวลา 14 วัน พร้อมทั้งจะต้องได้รับการประเมินตรวจมาตรฐานจาก สธ.

 

ทั้งนี้ นพ.ธเรศ กล่าวว่า เบื้องต้นจะเปิดนำร่องในพื้นที่ภาคใต้ เนื่องจากนักท่องเที่ยวมีคุณภาพนิยมเข้ามาเที่ยว เช่น จ.กระบี่ จะต้องเรียนผู้ประกอบว่าพื้นที่ที่ใช้ในการดำเนินการ ไม่จำเป็นต้องมีความกว้างขว้างมาก แต่ที่สำคัญคือ จะต้องมีความชัดเจนในการแยกพื้นที่ โดย สธ.ให้ความสำคัญด้านความปลอดภัยของประชาชนในประเทศเป็นสิ่งสำคัญที่สุด และที่ผ่านมาสถานกักกันที่รัฐกำหนดตามมาตรฐานของ สธ. ยังไม่เคยมีการติดเชื้อออกนอกพื้นที่กักกันโรค

ข่าวที่เกี่ยวข้อง