รีเซต

ส่องทาง‘ส.ส.-ส.ว.’ ใช้เวทีสภา‘แก้วิกฤต’ปท.

ส่องทาง‘ส.ส.-ส.ว.’ ใช้เวทีสภา‘แก้วิกฤต’ปท.
มติชน
20 ตุลาคม 2563 ( 12:04 )
158

ส่องทาง‘ส.ส.-ส.ว.’ ใช้เวทีสภา‘แก้วิกฤต’ปท.

หมายเหตุความเห็นและข้อเสนอแนะจาก ส.ส. และ ส.ว. ในการใช้เวทีสภาถกหาทางออกประเทศจากวิกฤตการชุมนุมขับไล่รัฐบาล

วัลลภ ตังคณานุรักษ์
สมาชิกวุฒิสภา

การเปิดประชุมรัฐสภาจะมีการประชุมร่วมทั้ง ส.ส. ส.ว.เพื่อรับฟังความเห็นของทุกฝ่ายหาทางออกให้กับวิกฤตของประเทศ และรัฐบาลควรรับฟังพร้อมนำข้อเสนอแนะไปปฏิบัติเพื่อคลี่คลายความขัดแย้ง ขณะที่คำถามถึงรัฐบาลก็คงมีตามสไตล์ของ ส.ส. ทำไมต้องทำเช่นนั้น ทำไมทำอย่างนั้น และเชื่อว่าจะต้องมีข้อเสนอถึงรัฐบาลเพื่อขอให้ดูแลบ้านเมืองให้ดีขึ้น และหากจะทำอะไรได้บ้างก็ต้องตอบกลับมาให้สภารับทราบ สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นถือเป็นเรื่องใหญ่ หากรัฐบาลมารับฟังแล้วจะบอกว่าจะรับไปพิจารณาก่อนคงไม่ได้ เช่น สมมุติว่ามีการเสนอกรรมการกลาง 1 คณะ เพื่อระดมความเห็นทุกฝ่ายว่าจะแก้ปัญหาบ้านเมืองได้อย่างไร

หรืออาจจะไปไกลถึงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะว่ากันอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่จะเอากันหรือไม่ บางฝ่ายก็บอกควรจะแก้ไข ควรตั้ง ส.ส.ร. ก็สามารถนำเสนอได้ บรรยากาศการพูดคุยก็น่าจะแบบนี้ แต่ส่วนตัวเชื่อว่าการประชุมครั้งหน้าจะไปไกลกว่านั้นขณะที่รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่จะต้องพูดถึงแน่นอน ส่วนเรื่องที่ต้องพูดด้วย เช่น จะทำอย่างไรโดยไม่ใช้ความรุนแรง ข้อเสนอให้ยกเลิกประกาศภาวะฉุกเฉินจะยกเลิกได้หรือไม่ การประชุมครั้งนี้เชื่อว่าจะมีมากกว่าเรื่องรัฐธรรมนูญ ผมพยายามจินตนาการว่าการประชุมร่วมจะมีแนวคิดที่หลากหลายมาก สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผมเป็นคนแรกๆ ที่ให้สัมภาษณ์ว่าไม่มีปัญหา เพียงอย่าไปแตะหมวด 1 หมวด 2 และขณะนี้ยังมีจุดยืนเดิม จะตั้ง ส.ส.ร.หรือไม่ตั้งก็ได้หมด

ส่วนการชุมนุมขอบอกว่าผู้ปกครองที่มีเด็กเล็กอย่าพาไป ความเห็นส่วนตัวถ้าอายุต่ำกว่า 15 ปีไม่ควรมาอยู่ในม็อบ เพราะไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรบ้าง เพราะเด็กช่วยตัวเองไม่ได้ มีประสบการณ์น้อย และก่อนหน้านี้กลุ่มเยาวชนที่จะไปชุมนุมก็เคยมาพบเพื่อปรึกษาหารือ เพราะมีความเห็นกับเพื่อนไม่ตรงกัน โดยบอกว่าส่วนตัวพออายุ 18 ปี ก็ไปม็อบแล้ว เพราะเป็นสิทธิของแต่ละคนส่วนคนที่ไปก็ไม่ควรไปตำหนิคนที่ไม่ไปร่วม เพราะเป็นเสรีภาพแล้วยังเป็นเพื่อนกันเหมือนเดิม

ส่วนหน่วยงานรัฐหากจะทำอะไรก็ควรคิดให้มาก หากเกิดอะไรขึ้นก็จะเสียใจกันทุกฝ่าย เพราะการทำงานของเจ้าหน้าที่ก็มีความเครียด พอแนะนำหลายคนกล่าวหาว่าผมเข้าข้างเด็ก แต่คงไม่ใช่ ส่วนตัวเห็นว่าปล่อยให้เด็กแสดงออกถือว่าถูกแล้ว เท่าที่ติดตามข้อเรียกร้องส่วนใหญ่ถือว่าไปข้างหน้าได้ เพราะอย่าลืมว่าสมัยผมไปม็อบก็เคยไปเสนอข้อเรียกร้องแบบนี้ แต่ควรยกเว้นข้อเรียกร้องในบางเรื่องและควรคำนึงถึงผลกระทบกับประเทศ

สำหรับการเปิดสภาถือเป็นทางออก แต่ถ้าเปิดแล้วไม่มีคำตอบให้ประชาชนก็น่าเสียดาย ที่ประชุมไม่ควรใช้โวหาร วาทกรรม เอาใจม็อบ อย่าเอาเพียงความสะใจ ต้องเข้าใจว่าเวทีนี้ต้องการหาทางออกให้ประเทศไม่ใช่มาตำหนิการทำงานของรัฐบาล หรือจะมีแต่คำชม แบบนี้คงไม่เหมาะเพราะมีประชาชนจำนวนมากติดตามรับฟัง เพราะฉะนั้นเมื่อเปิดสภาแล้วควรใช้เวลาให้เกิดประโยชน์มากที่สุด อะไรที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวมต้องพูดให้ชัดเจน

ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์
ส.ส.เชียงใหม่ เขต 1 พรรคเพื่อไทย (พท.)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ควรยกเลิกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) บริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉินแบบเต็มรูปแบบ และให้ปล่อยตัวแกนนำที่ถูกจับกุมดำเนินคดีทุกราย ก่อนเข้าสู่กระบวนการเปิดประชุมสภาเพื่อพิจารณาแก้ปัญหาดังกล่าว เพราะการชุมนุมของนักศึกษาประชาชน ถือเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ โดยชุมนุมอย่างสงบสันติ และไม่ใช้ความรุนแรงใดๆ

ปัญหาทั้งหมดเกิดจาก พล.อ.ประยุทธ์เพียงคนเดียว ช่วง 5-6 ปี ประชาชนได้เห็นและรับรู้การบริหารประเทศของ พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐบาลแล้ว จึงไม่ยอมนิ่งหรือทนอีกต่อไป ถ้ายังอยู่ต่อไป ก็ไม่สามารถหยุดการเคลื่อนไหวหรือชุมนุมดังกล่าวได้ อาจเกิดวิกฤตประเทศซ้ำซ้อนนอกจากโควิด-19 ระบาดแล้วจนยากแก้ไขได้อีก หาก พล.อ.ประยุทธ์รับฟังเสียงข้อเรียกร้องดังกล่าว เชื่อสถานการณ์จะคลี่คลาย เพราะประชาชนได้รับการตอบสนองแล้ว

หากมีการแก้รัฐธรรมนูญจริง สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ต้องมาจากการเลือกตั้งของภาคประชาชน 100% ส่วนที่มาของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 250 คน หรือจำนวนเท่าไรก็ตาม ต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชนเท่านั้น ไม่ใช่แต่งตั้งจากผู้มีอำนาจ เครือข่ายนายทุน หรือกลุ่มผลประโยชน์ เพราะไม่ยึดโยงประชาชนอย่างใด

ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ควรเสียสละตัวเองตามข้อเรียกร้อง เพื่อคลี่คลายวิกฤตดังกล่าว อย่ามาบอกว่าผมไม่ได้ทำอะไรผิด ไม่ลาออก แต่ขอถามกลับว่า ท่านทำอะไรถูกสักเรื่องไหม ฝากท่านกลับไปคิด ไตร่ตรองดู หากเกิดวิกฤตบานปลายหรือหาทางออกไม่ได้ พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐบาล ต้องรับผิดชอบเรื่องดังกล่าวด้วย

พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช
สมาชิกวุฒิสภา

ส่วนตัวไม่เชี่ยวชาญพอจะพูดเรื่องการชุมนุมของเยาวชนเท่าไหร่ จึงตอบยาก ขอไปแสดงความเห็นในรัฐสภาดีกว่า อย่าเพิ่งพูดตอนนี้ ขณะนี้สมาชิกวุฒิสภายังไม่ได้เจอกัน เมื่อเจอกันก็จะคุยกัน ถึงความคิดเห็น แล้วค่อยหาข้อยุติ ขณะนี้ยังไม่ได้กำหนดวันพูดคุย รอเปิดประชุมสภา ทางออกวิกฤตประเทศตอนนี้ส่วนตัวไม่มีไอเดีย เป็นเรื่องของรัฐบาลมากกว่าคนอื่น ส่วนของสภา เปิดสภาเมื่อไหร่ก็จะคุยกันเอง สภาก็มีแต่เรื่องรัฐธรรมนูญเป็นหลัก อยู่ในขั้นปรึกษาหารืออยู่

ถามว่าส่วนตัวเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อหาทางออกให้กับประเทศหรือไม่นั้น ไม่รู้เหมือนกันว่าทางออกของประเทศคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ผมตอบไม่ได้ตรงนั้น เพราะก็ยังไม่รู้ความชัดเจน แต่หากมีการดำเนินการออกพระราชกฤษฎีกา เปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ แล้วให้ ส.ส. ส.ว. เข้าชื่อ ก็จะลงชื่อ ว่ายินดีอยู่แล้ว

พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์
รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล และประธานวิปพรรค

ในที่ประชุมทุกพรรคการเมืองส่วนใหญ่เห็นด้วยให้เปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญฯ ในส่วนของสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ตามเอกสารที่ทางเลขาฯสภาผู้แทนราษฎรนำเสนอในที่ประชุม คาดว่าจะเปิดประชุมตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 123 พรรคร่วมฝ่ายค้านมีข้อเสนอว่าหากเปิดประชุมขึ้นมาก็เกรงว่าอาจจะเป็นเพียงการอภิปรายที่ต่อว่ากันไปมา สุดท้ายไม่ได้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม แต่ความมุ่งหมายที่เห็นตรงกันคือ การไม่อยากให้สถานการณ์ประท้วงไปไกลมากกว่านี้ ทางฝ่ายค้านจึงเสนอให้นำญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ค้างอยู่นำมาพิจารณาในการประชุมสมัยวิสามัญฯ อย่างน้อยการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็เป็นข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม

อีกปัญหาคือ คณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พุทธศักราช ก่อนรับหลักการ ที่มีนายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล เป็นประธาน ยังไม่สรุปรายงานออกมา และล่าสุดก็ขยายเวลาการพิจารณาอีก 15 วัน จึงเป็นข้ออ้างที่ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล บอกว่ายังไม่สามารถนำมาพิจารณาในรัฐสภาได้ แต่ทางฝ่ายค้านก็คิดว่าสามารถทำให้รวบรัดได้ คือท่าทีของ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ก็ไม่คิดจะนำเรื่องนี้เข้ามาพิจารณา

ส่วนตัวคิดว่าการเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญฯ อาจจะไม่ได้ช่วยให้ผู้ประท้วงลดการออกมาประท้วง แต่อย่างน้อยหากฝ่ายรัฐบาลได้มีพื้นที่ชี้แจงอะไรบ้าง ก็อาจจะช่วยให้ประชาชนที่เห็นต่างกับกลุ่มผู้ประท้วงในขณะนี้ ไม่ออกมาประท้วงกลายเป็นม็อบชนม็อบ จากการประเมินคาดว่า เยาวชนที่ออกมาประท้วงจะเป็นไปในลักษณะแฟลชม็อบรายวัน แต่หากมีอีกฝ่ายหนึ่งขึ้นมาจัดม็อบเหมือนกัน ก็อาจจะทำให้เกิดการเผชิญหน้า และปะทะกัน

ขณะนี้ ส.ส.ฝ่ายค้านรวมชื่อกันได้แค่ 211 คน แต่ตามรัฐธรรมนูญจะต้องไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือ 245 เสียง ของทั้งสองสภา ยังขาดอีก 34 เสียง ในที่ประชุมร่วมระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้าน ก็ได้ขอร้องให้ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลมาช่วยกันลงชื่อเพื่อให้เสียงครบ นายวิรัชได้ชี้แจงว่าต้องรอหารือในที่ประชุมวิปรัฐบาลในวันพุธที่ 21 ตุลาคมนี้ก่อน ทำให้การเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญฯ จะยิ่งล่าช้าออกไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง