รีเซต

อย.ยันไม่เลือกปฎิบัติ เปิดกว้างการนำเข้า อนุมัติชุดตรวจโควิด-19 กว่า 170 ราย

อย.ยันไม่เลือกปฎิบัติ เปิดกว้างการนำเข้า อนุมัติชุดตรวจโควิด-19 กว่า 170 ราย
มติชน
3 พฤษภาคม 2564 ( 14:47 )
110
อย.ยันไม่เลือกปฎิบัติ เปิดกว้างการนำเข้า อนุมัติชุดตรวจโควิด-19 กว่า 170 ราย

วันนี้ (3 พฤษภาคม 2564) นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีการพาดพิงถึงขั้นตอนและกระบวนการพิจารณาอนุญาตชุดตรวจโควิด-19 ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และตั้งคำถามว่าเหตุใดไม่ให้ประชาชนใช้ตรวจสอบด้วยตนเองนั้น อย. ขอชี้แจงว่า การผลิตและนำเข้าชุดตรวจโควิด-19 มีขั้นตอนและกระบวนการที่โปร่งใส พิจารณาตามระยะเวลาเพื่อให้ชุดตรวจมีความเพียงพอและไม่เกิดภาวะขาดแคลน

 

 

“ทั้งนี้ ชุดตรวจทุกรายการต้องได้รับการทดสอบโดยห้องปฏิบัติการ(แล็บ) เครือข่าย เช่น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สถาบันบำราศนราดูร เป็นต้น ตามวิธีมาตรฐานด้วยความเสมอภาค ไม่ว่าจะนำเข้ามาจากประเทศใด หรือผลิตมาจากแหล่งไหนก็ตาม ไม่มีการเลือกปฏิบัติ เพื่อให้เกิดความมั่นใจในประสิทธิภาพและความปลอดภัย” นพ.ไพศาล กล่าว

 

 

เลขาธิการ อย. กล่าวต่อไปว่า จากข้อมูลการอนุญาตชุดตรวจโควิด-19 ที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ อย. ในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่า อย.ได้พิจารณาอนุญาตชุดตรวจโควิด-19 มากกว่า 170 รายการ หลากหลายรูปแบบวิธีทดสอบ ทั้งแบบที่อาศัยเครื่องมือวิเคราะห์และแบบชุดตรวจรวดเร็ว ครอบคลุมทั้งการตรวจหาสารพันธุกรรม ตรวจหาแอนติเจน และตรวจหาภูมิคุ้มกัน

 

 

“นอกจากนี้ ยังผลิตและนำเข้ามาจากหลากหลายบริษัท ไม่มีการผูกขาดบริษัทหรือประเทศตามที่กล่าวอ้าง และขอย้ำว่า อย. เปิดกว้างให้ทุกบริษัทที่ต้องการนำเข้าชุดตรวจโควิด-19 สามารถยื่นขออนุญาตได้โดยไม่มีข้อจำกัด หรือข้อห้ามสำหรับบริษัทผู้ผลิตหรือประเทศใดๆ อีกทั้ง ชุดตรวจโควิด-19 แต่ละวิธีมีราคาที่หลากหลาย ตั้งแต่ราคาหลักร้อยจนถึงหลักพันบาท เนื่องจากมีขั้นตอนทดสอบและวิธีการแปลผลแตกต่างกัน รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการตรวจก็แตกต่างกันด้วย” นพ.ไพศาล กล่าว

 

 

เลขาธิการ อย. กล่าวว่า ยิ่งในช่วงสถานการณ์โรคระบาดนี้ อย.เปิดช่องทางอำนวยความสะดวก เร่งกระบวนการประเมินให้รวดเร็วขึ้น ซึ่งชุดตรวจโควิด-19 รูปแบบตรวจในห้องปฏิบัติการด้วยวิธี RT-PCR เป็นวิธีมาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ มีความแม่นยำมากกว่าเมื่อเทียบกับวิธีอื่น ๆ เช่น Rapid antigen test มีข้อจำกัดที่อาจเกิดผลลบลวงได้ ยังจำเป็นต้องประเมินอาการและปัจจัยอื่นร่วมด้วย ต้องอาศัยการให้คำแนะนำโดยบุคลากรทางการแพทย์ ที่สำคัญ หากพบผลบวกต้องเข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล ไม่สามารถกักตัวที่บ้าน เพื่อให้ประชาชนได้รับการรักษาที่เหมาะสมและทันท่วงที และ ป้องกันกรณีไม่ปฏิบัติตามแนวทางที่เหมาะสม อาจแพร่เชื้อโดยไม่รู้ตัว จนนำไปสู่การแพร่ระบาดรอบใหม่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง