รีเซต

แพทยสมาคมฯ ส่งจม.เปิดผนึกถึงนายกฯ ปราม รมว.ดิจิทัลฯ ออกหน้าหนุนบุหรี่ไฟฟ้า

แพทยสมาคมฯ ส่งจม.เปิดผนึกถึงนายกฯ ปราม รมว.ดิจิทัลฯ ออกหน้าหนุนบุหรี่ไฟฟ้า
มติชน
6 ตุลาคม 2564 ( 18:01 )
63
แพทยสมาคมฯ ส่งจม.เปิดผนึกถึงนายกฯ ปราม รมว.ดิจิทัลฯ ออกหน้าหนุนบุหรี่ไฟฟ้า

ข่าววันนี้ 6 ตุลาคม ศ.เกียรติคุณ นพ.อมร ลีลารัศมี นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมด้วย คณะแพทย์จากราชวิทยาลัย 14 แห่ง สมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ และเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ ส่งจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กรณี นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้พิจารณาบุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกกฎหมาย เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2564 ขณะที่รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ (พณ.) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ต่างยืนยันนโยบายไม่นำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า

 


ศ.เกียรติคุณ นพ.อมร กล่าวว่า ยืนยันว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่ใช่สินค้าปกติ แต่เป็นผลิตภัณฑ์ที่อุตสาหกรรมยาสูบผลิตขึ้นเพื่อเสริมการตลาดทดแทนบุหรี่มวน โดยผลวิจัยทั่วโลกพิสูจน์ว่าบุหรี่ไฟฟ้าทำลายสุขภาพอย่างชัดเจน เช่น สหรัฐอเมริกา ที่อนุญาตสูบแบบถูกกฎหมาย พบว่าเยาวชนใช้บุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้น ซึ่งไม่ใช่นักสูบหน้าเก่า แต่เป็นนักสูบหน้าใหม่จากการให้ข้อมูลและประชาสัมพันธ์มอมเมา ส่วนหนึ่งเป็นผู้ที่สูบควบกันทั้ง 2 อย่าง เนื่องจากบุหรี่ไฟฟ้ามีสารนิโคตินซึ่งเป็นสารเสพติดที่เลิกได้ยากมาก มีผลให้เกิดการอักเสบและตีบตันของหลอดเลือดในระบบการไหลเวียนและหัวใจ รวมถึงการเกิดโรคเรื้อรังต่างๆ และต้องการการรักษาที่มีราคาแพง ทำลายสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะเยาวชนและผู้ใกล้ชิดที่จะได้รับไอสารพิษ ส่วนน้ำยามีการเติมกลิ่นจากสารสกัดดอกไม้และผลไม้ ทำให้มีกลิ่นหอมเพิ่มความนิยม เมื่อมีกระบวนการเผาไหม้จากขดลวดให้ความร้อน ทำให้เกิดสารก่อมะเร็งหลายชนิด

 

“ขอบคุณนายกฯ ที่มีวิสัยทัศน์ปกป้องสุขภาพของประชาชน ไม่เปิดโอกาสให้มีการพิจารณาเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกกฎหมาย ซึ่งคณะแพทย์ บุคลากรสาธารณสุขและสุขภาพมีความภาคภูมิใจที่ ครม.ผ่าน พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2560 กฎกระทรวงพาณิชย์ และประกาศต่างๆ มาบังคับใช้ เพื่อปกป้องให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี ซึ่งเป็นไปตามที่ประเทศไทยได้มีการลงนามในความร่วมมือกับอีก 181 ประเทศ ในข้อตกลงความร่วมมือ FTCT ขององค์การอนามัยโลกที่จะร่วมมือกันลดจำนวนคนสูบบุหรี่” นายกแพทยสมาคมฯ กล่าว

 

ด้าน พล.อ.ท.นพ.อนุตตร จิตตินันทน์ ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผู้ผลิตบุหรี่ไฟฟ้าให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน ไม่ได้บอกให้ครบว่า เมื่อติดบุหรี่ไฟฟ้าแล้วจะเลิกได้อย่างไร โดยเฉพาะสารนิโคตินในน้ำยาที่ใช้สูบมีความเข้มข้นแตกต่างกันและยากต่อการควบคุม ยิ่งเข้มข้นมาก การติดยายิ่งรุนแรง และโรคที่เกิดจากสารนิโคตินก็จะมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นด้วย นอกจากนี้ ผู้ผลิตยังทำการทางการตลาดเพื่อขยายผลการจำหน่ายในหลายรูปแบบ เช่น โฆษณาสินค้าด้วยการสร้างรูปแบบอุปกรณ์ ทั้งรูปร่าง สีสัน และ กลิ่น ให้เป็นที่ดึงดูด เป็นแฟชั่น โฆษณาในสื่อออนไลน์ที่เย้ายวนให้มีการใช้ในเยาวชน

 

ศ.นพ.ประมุข มุทิรางกูร ประธานราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศ กล่าวว่า กรณีที่อ้างว่ามี 67 ประเทศ อนุญาตให้มีการจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า ขอให้ทบทวนคำอนุญาตของประเทศเหล่านั้นว่า แต่ละประเทศล้วนมีข้อแม้และข้อบ่งชี้ในการใช้ทั้งสิ้น มิใช่ขายได้อย่างอิสระ และยังมีประเทศอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่อนุญาต (Ban) การจำหน่ายด้วยเหตุผลว่า ต้องการปกป้องสุขภาพประชาชนด้วยกระบวนการ “ป้องกัน ดีกว่าแก้” ดังนั้น แพทยสมาคมฯ และองค์กรร่วมจึงขอคัดค้านอย่างเต็มที่ในการที่จะมีการพิจารณาให้มีการยกเลิกประกาศของ พณ.ในการห้ามนำเข้าและจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย และขอเชิญชวนให้มีการต่อต้านการสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เป็นกำลังในการช่วยกันพัฒนาประเทศชาติต่อไป

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง