รีเซต

สมช.เผย คนไทยส่วนใหญ่เห็นด้วย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ชง ครม.เคาะเคอร์ฟิวต่อ

สมช.เผย คนไทยส่วนใหญ่เห็นด้วย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ชง ครม.เคาะเคอร์ฟิวต่อ
มติชน
27 เมษายน 2563 ( 15:10 )
145
สมช.เผย คนไทยส่วนใหญ่เห็นด้วย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ชง ครม.เคาะเคอร์ฟิวต่อ

 

เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 27 เมษายน ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงรายงานประจำวัน ว่า วันนี้มีการประชุม ศบค. ชุดใหญ่ นำโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ในฐานะผู้อำนนวยการศูนฯ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างๆเข้าร่วมประชุม และปลัดกระทรวงต่างๆในฐานะหัวหน้าส่วนราชการ ซึ่งมีประเด็นใหญ่ๆ คือ

 

1.นายกฯขอบคุณการทำงานของทุกส่วนในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ว่าทำงานได้ดีมากๆ ได้รับการยอมรับจากทั้งในประเทศ และต่างประเทศ โดยพ.ร.ก.ฉุกเฉินก็มีความสำคัญ วันนี้ครบ 1 เดือน แต่ก็อยากให้มีการร่วมมือกันในทุกภาคส่วนทั้งฝ่ายการเมือง ฝ่ายประจำ ภาครัฐ และเอกชนทั้งหลายในการทำงาน โดยยึดหลักเรื่องสาธารณสุข และองค์การอนามัย

 

อย่างไรก็ตาม นายกฯ ได้ตั้งข้อกังวลเรื่องเศรษฐกิจ รายได้ที่ลดลง ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ โดยท่านได้มอบเป็นนโยบาลว่าต้องมีการกำหนดระยะในการผ่อนปรนเป็น 4 ระยะ เป็น 25% 50% 75% และ 100% โดยทบทวนเป็นระยะ ระยะละ 14 วัน ซึ่ง 14 วันมาจากระยะช่วงกักตัว ซึ่งเป็นตัวเลขที่ได้รับการยอมรับกันทั่วโลก

 

นอกจากนี้ ให้มีการประเมินมาตรการต่างๆ โดยการทดลองเปิดดู ถ้าผลออกมาได้ผลก็ยืดออกไป แต่ถ้าติดเชื้อเพิ่มขึ้นมาก็ปิด เพราะไม่อยากให้มีการระบาดในระลอก 2 อีก ไม่เช่นนั้นสิ่งที่ลงทุนมาทั้งหมดจะล้มเหลว ดังนั้น มาตรการต่างๆต้องคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้ด้วย

 

2.มีการรายงานจากปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้แสดงให้เห็นถึงกรณีที่อาจเกิดขึ้น คือ ถ้าเราควบคุมได้ดีจะมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น 15-30 รายต่อวัน คือต้องทำแบบที่ทำอยู่ในทุกวันนี้ ต่อมาคือ ควบคุมได้มีความเสี่ยงต่ำ การระบาดอยู่ในวงจำกัด จะต้องมีการชะลอการเข้าประเทศไทย โดยต้องมีการกักตัว ให้มีภาคธุรกิจที่มีความเสี่ยงต่ำดำเนินกิจกรรมได้ ตรงนี้อาจมีผู้ติดเชื้ออยู่ที่ประมาณ 40-70 คนต่อวัน

 

และ สถานการณ์ควบคุมได้ยาก มีการระบาดซ้ำคล้ายช่วงเหตุการณ์ระบาดจากสนามมวย สถานบันเทิง มีการเคลื่อนย้าย และชุมนุมคนจำนวนมาก ตรงนี้ผู้ติดเชื้อจะเพิ่มเป็น 500-2000 คน ซึ่งตรงนี้เราไม่อยากให้เกิดเลย เพราะถ้ามีผู้ป่วยวันละ 500-2,000 คน ต่อวัน นับรวมไปตั้งแต่เตือนพฤษภาคม-กรกฎาคม หรือ 3 เดือนข้างหน้า จะมีผู้ป่วยรวมกัน 46,596 ราย นี่คือการพยากรณ์แบบที่แย่ที่สุด แต่ถ้าลดความเสียงลงมาที่ระดับความเสี่ยงต่ำจะเกิดผู้ป่วยประมาณ 4,661 ราย ขณะที่เอาให้มาตรการเข้มไปเลยจะมีผู้ป่วยรวมกันประมาณ 1889 ราย แต่มาตรการที่ตึงเกินไปอาจจะไม่ใช่ทางออกที่ดี วันนี้มีจำนวนผู้เข้ารับการตรวจเชื้อไปแล้วจำนวน 178,083 ตัวอย่าง ซึ่งจะเพิ่มจำนวนการตรวจให้มากขึ้นเรื่อยๆ โดยจะกำหนดแผนการทำงานร่วมกันต่อไป

 

3.เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้รายงานการประเมินผลสัมฤทธิ์การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ช่วง 1 เดือน ว่า ทำให้การดำเนินการตามข้อสังการของนายกฯ เป็นไปอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ มีเอกภาพ และทันท่วงที เป็นผลให้ผู้ติดเชื้อรายวันในประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ มีการสำรวจความคิดเห็นประชาชนจำนวน 40,000 คน พบว่า ประชาชนมากกว่าร้อยละ 70 เห็นด้วยกับการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินของรัฐบาล ที่ประชุมจึงมีมติขยายระยะเวลาของการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินทั้งราชอาณาจักรต่อๆไปอีก 1 เดือน คือ 1-30 พฤษภาคม โดยมี 4 มาตรการที่ต้องคงไว้คือ การควบคุมการเดินทางเข้า-ออกราชอาณาจักร ห้ามบุคคลออกนอกเคหะสถานเวลา 22.00-04.00 น. การงดหรือชะลอการเดินทางข้ามเขตจังหวัด และงดการดำเนินกิจกรรมที่มีคนหมู่มาก เช่น การอบรม สัมมนา ชุมนุมใหญ่ๆ ฯลฯ

 

สำหรับแนวทางการผ่อนปรนที่ต้องทำกันต่อไปแต่ต้องมีหลักคิดคือ 1.ต้องคำนึงถึงปัจจัยด้านสาธารณสุขเป็นหลัก และนำปัจจัยด้านอื่นมาประกอบการพิจารณา ร้อยละ 50 ของการทำงานที่บ้านยังต้องมีอยู่ พิจารณาจากประเภทของกิจกรรมที่จำเป็นต่อการดำรงค์ชีวิตในดำดับแรก และทุกคนต้องสวมหน้ากากอนามัย กำกับให้กิจกรรมต้องประกอบด้วย การเว้นระยะห่างทางสังคม การวัดอุณหภูมิ ต้องมีเจลแอลกอฮอล์ล้างมือเพื่อฆ่าเชื้อ การจำกัดจำนวนคนให้เหมาะสมต่อกิจกรรม และสถานที่ รวมถึงต้องมีแอพพลิเคชั่นติดตามตัวถ้าเป็นไปได้ แต่ต้องคำถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน และความปลอดภัยของสาธารณชนด้วย ให้จัดสมดุลระหว่าง 2 เรื่องนี้ให้ดี

 

โดยสิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไป คือ เร่งตรวจหาเชื้อให้กับประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง และการมีเทคโนโลยีติดตามเพื่อตรวจตรากิจกรรมคู่กันไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งหากควบคุมได้ดีก็สามารถผ่อนคลายมาตรการเพิ่มเติม และขยายพื้นที่ได้ แต่หากไม่ดีขึ้น ก็ต้องระงับมาตรการผ่อนคลายในทันที โดนต้องประเมินผลสัมฤทธิ์ทุกรอบวง 15 วัน

 

4.เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ ในฐานะประธานที่ปรึกษาคณะที่ปรึกษาด้านธุรกิจเอกชนในสบค. ได้เสนอการผ่อนปรนภายหลังการขยายระยะเวลาพ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยได้มีการนำภาพของการผ่อนปรนในธุรกิจต่างๆ โดยแบ่งออกเป็น 4 อย่างคือ สีขาว มีความจำเป็นในชีวิตประจำวัน สีเขียว เช่น สถานที่ประกอบการขนาดเล็ก แต่มีมาตรการที่สามารถควบคุม จำกัดได้ หรืออาจจะเป็นสถานที่ออกกำลังกายกลางแจ้ง สีเหลือง เช่น พื้นที่ที่มีคนมาจำนวนมาก มีติดแอร์ และสีแดง พื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงที่เรายังไม่อยากให้เปิดเลย เช่น สนามมวย สถานบันเทิง หรือที่ที่มีคนมาแออัดมากๆ โดยแบ่งเป็นขั้นๆ ยังไม่ได้สรุป

 

นายกฯ เห็นด้วยในหลักการเบื้องต้น แต่ต้องลงรายละเอียด โดยกิจการต่างๆเหล่านี้ต้องแบ่งเป็นช่วงเวลา และต้องเปิดได้พร้อมกันทั่วประเทศ ไม่ใช่แค่บางที่ บางจังหวัด เช่น กทม. เปิดไม่ได้ แต่สุพรรณเปิดได้ คนกทม. อาจจะเดินทางไปกิจการนั้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งจะเป็นการเคลื่อนย้ายคน ดังนั้น ในกิจการนั้นๆต้องเปิดพร้อมกัน ซึ่งมอบให้สภาพัฒฯ และคณะที่ปรึกษาไปพูดคุยลงรายละเอียด แล้วให้มานำเสนอพรุ่งนี้ (28 เมษายน) ใน ครม. ถ้าทัน หรือช่วงเวลาต่อไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง