รีเซต

แคนาดา พัฒนาแนวทางใหม่ ใช้อัลตร้าซาวด์นำส่งยาพุ่งเป้า รักษา 'มะเร็งสมอง'

แคนาดา พัฒนาแนวทางใหม่ ใช้อัลตร้าซาวด์นำส่งยาพุ่งเป้า รักษา 'มะเร็งสมอง'
TNN Health
18 ตุลาคม 2564 ( 19:26 )
174

ข่าววันนี้ ดร.เนอร์ ลิปส์แมน หัวหน้าคณะนักวิจัยจากศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพซันนี่บรุ๊ค ประเทศแคนาดา ได้ศึกษาแนวทางการรักษาโรคมะเร็งสมอง โดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูงโฟกัสต่อเนื้อเยื่อเป้าหมาย (magnetic resonance-guided focused ultrasound) ในกลุ่มผู้ป่วยหญิง 4 ราย ซึ่งป่วยด้วยโรคมะเร็งเต้านมและแพร่กระจายไปที่สมอง 


ผลการศึกษาในกลุ่มทดลอง พบว่า การใช้คลื่นเสียงความถี่สูงโฟกัสต่อเนื้อเยื่อเป้าหมาย สามารถส่งยาที่ออกฤทธิ์จำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง ไปยังเนื้อเยื่อสมองได้อย่างปลอดภัยและทำให้เซลล์มะเร็งหดตัว เนื่องจากคลื่นเสียงความถี่สูงได้ไปเปิดแนวกั้นเลือด และสมอง (blood brain barrier) ทำให้สารต่างๆ สามารถผ่านเข้าไปยังสมองได้อย่างมีประสิทธิภาพ


ดร.ลิปส์แมน อธิบายว่า วิธีการนี้เป็นกระบวนการชั่วคราว ที่ทำให้แนวกั้นเลือดและสมองถูกเปิด ภายในเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมง ช่วยให้ไม่ว่าอะไรก็ตามที่หมุนเวียนอยู่ในกระแสเลือด สามารถเข้าไปยังโรคพยาธิสภาพของสมองตามที่ต้องการได้


แม้ว่างานวิจัยนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการประเมินความปลอดภัย แต่เบื้องต้นพบว่าเซลล์มะเร็งสามารถดูดซึมตัวยาและหดตัวลง และที่สำคัญยังไม่มีผู้ป่วยในกลุ่มทดลองรายใดมีอาการรุนแรง นอกจากนี้ ยังพบว่าแนวกั้นเลือดและสมอง สามารถกลับมาปิดอีกครั้งหลังจาก 24 ชั่วโมง


ดร.ลิปส์แมน บอกว่า การใช้คลื่นเสียงเพื่อนำส่งยา เป็นแนวความคิดเชิงทฤษฎีมานานมาก แต่งานวิจัยชิ้นนี้ถือว่าเป็นครั้งแรก ที่ทำให้เห็นว่าคณะนักวิจัยสามารถนำส่งยาไปที่สมองได้


ด้าน เควิน โอเนล ที่ปรึกษาศัลยแพทย์ระบบประสาท แห่งศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านวิจัยโรคมะเร็งสมอง วิทยาลัยอิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน บอกว่า ปัจจุบันมีวิธีการรักษาโรคมะเร็งสมองจำนวนมาก การฉีดยาโดยตรงไปยังสมองเป็นอีกหนึ่งวิธีการ ที่ใช้ในรักษาโรคมะเร็งสมอง แต่การใช้คลื่นเสียงเพื่อนำส่งยาไปยังสมอง นับว่าเป็นวิธีการที่ลดการบาดเจ็บได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

 

“มะเร็ง” เดินทางมาที่สมองได้อย่างไร? เช็กต้นกำเนิด - การแพร่กระจาย


“มะเร็งสมอง” เกิดได้จากเนื้องอกที่เป็นเนื้อร้าย จากการเจริญเติบโตของเซลล์ที่ผิดปกติบริเวณสมอง ซึ่งมีสาเหตุแตกต่างกันในแต่ละช่วงอายุ จากความผิดปกติของพันธุกรรม หรือการกลายพันธุ์ของเซลล์เนื้อเยื่อ และยังเกิดได้จากเซลล์มะเร็งจากอวัยวะอื่น ลุกลามโดยตรง หรือกระจายเข้าสู่สมองทางกระแสเลือด


สำหรับเนื้องอกที่เป็นเซลล์มะเร็งนั้น จะมีการเจริญเติบโตเรื่อยๆ ควบคุมได้ยาก และมีโอกาสที่จะกลับมาเป็นได้อีกหลังการรักษา ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีวิธีการป้องกัน โรคเนื้องอกสมองแบบจำเพาะเจาะจง อย่างไรก็ตาม สถาบันประสาทวิทยา ชี้ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับอายุที่เพิ่มมากขึ้น การได้รับรังสีอันตรายปริมาณสูงเข้าสู่ร่างกาย หรือมีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นโรคเนื้องอกในสมอง


แนวทางการรักษาเนื้องอกสมอง ในปัจจุบันมีอยู่ 3 วิธีหลัก คือ การผ่าตัด ฉายรังสี และการให้ยาเคมีบำบัด ซึ่งแพทย์จะเลือกแนวทางที่เหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย แต่หากผู้ป่วยมีเนื้องอกขนาดเล็กมาก และไม่ทำให้เกิดอาการผิดปกติ อาจจะเลือกวิธีติดตามอาการ


ส่วนมะเร็งในสมองจากการแพร่กระจาย ของเซลล์มะเร็งตำแหน่งอื่นๆ ในร่างกายนั้น เกิดจากเซลล์มะเร็งที่แตกตัว ออกมาจากมะเร็งต้นกำเนิด แล้วแพร่กระจายไปตามระบบเลือดและน้ำเหลือง ซึ่งระบบน้ำเหลืองนั้น เกิดจากเครือข่ายของต่อมน้ำเหลือง มากมายทั่วร่างกายเชื่อมกันด้วยท่อน้ำเหลืองขนาดเล็ก


ทั้งนี้ มะเร็งระยะแพร่กระจายไปที่สมอง สามารถเกิดได้จากมะเร็งต้นกำเนิดเกือบทุกชนิด แต่ชนิดที่พบได้บ่อย ได้แก่ มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งไต และมะเร็งผิวหนังชนิด malignant melanoma โดยมากกว่าครึ่งของผู้ที่มะเร็งระยะแพร่กระจาย ลุกลามมายังสมองจะมีก้อนเนื้องอกมากกว่า 1 ก้อน


อาการของมะเร็งระยะแพร่กระจาย ไปที่สมองค่อนข้างหลากหลาย ขึ้นอยู่กับตำแหน่งและขนาดของก้อน อาทิ

 

- ปวดศีรษะ : เนื่องจากก้อนเนื้องอกทำให้มีความดันในกะโหลกสูงขึ้นและกดเบียดเนื้อสมองข้างเคียง โดยอาการปวดมักจะ รุนแรงในช่วงเช้าและมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆในแต่ละวัน มักพบร่วมกับอาการคลื่นไส้อาเจียน

- การชัก : เกิดจากการที่เนื้องอกไปรบกวนการนำกระแสประสาทในสมอง อาจพบได้ทั้งการชักบางส่วน เช่น กล้ามเนื้อเต้น กระตุก รับกลิ่นหรือรสผิดปกติ การพูดผิดปกติ การชา หรือชักทั่วทั้งตัวจนผู้ป่วยหมดสติ

- มีปัญหาในการพูด : ความเข้าใจในการสื่อสาร การมองเห็น การอ่อนแรงหรือชาตามส่วนต่างๆ ของร่างกายเกิดจากการที่ ก้อนไปกดเบียดตำแหน่งที่ควบคุมการทำงานต่างๆในสมอง

- การเคลื่อนไหวผิดปกติ : เกิดจากก้อนเนื้องอกไปรบกวนการส่งสัญญาณประสาทในการควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ

 

ที่มา : 
- https://www.theguardian.com/.../ultrasound-trial-offers


- Science Translational Medicine

- สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์

- สาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา ฝ่ายรังสีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์


ภาพ : Pexels

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง