รีเซต

"คนไทยฆ่าตัวตาย" ปีโควิด-19 สูง 8.8 ต่อแสนประชากร มากกว่า "ปีวิกฤตต้มยำกุ้ง"

"คนไทยฆ่าตัวตาย" ปีโควิด-19 สูง 8.8 ต่อแสนประชากร มากกว่า "ปีวิกฤตต้มยำกุ้ง"
มติชน
18 พฤษภาคม 2563 ( 16:37 )
800
"คนไทยฆ่าตัวตาย" ปีโควิด-19 สูง 8.8 ต่อแสนประชากร มากกว่า "ปีวิกฤตต้มยำกุ้ง"

 “คนไทยฆ่าตัวตาย” ปีโควิด-19 สูง 8.8 ต่อแสนประชากร มากกว่า “ปีวิกฤตต้มยำกุ้ง”

เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม ที่ กระทรวงสาธารณสุข นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงอัตราการเสียชีวิตจากการ ฆ่าตัวตาย ต่อแสนประชากร ปี พ.ศ. 2540 – 2561

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า โดยปกติประเทศไทยจะมีอัตราการฆ่าตัวตายประมาณร้อยละ 6.92 ต่อแสนประชากร แต่ใน พ.ศ. 2540 เกิดภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้อัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นเป็น 8.12 ต่อแสนประชากร และภายหลังจากปี พ.ศ. 2540 อัตราการฆ่าตัวตายลดลงตามลำดับ เป็นเวลา 10 ปี และปี พ.ศ. 2561 มีอัตราการฆ่าตัวตายร้อยละ 6.32 ต่อแสนประชากร และครั้งนี้ปี พ.ศ.2563 ในภาวะวิกฤตของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ทางกรมสุขภาพจิตได้ระดมนักวิชาการสร้างฉากทัศน์ หรือ ภาพจำลองแนวโน้มอัตราการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย พ.ศ.2563 โดยฉากทัศน์ที่ไม่ได้มีการจัดการใดๆ ปล่อยให้ปัญหามีความรุนแรงขึ้นไป อาจจะเกิดอัตราการฆ่าตัวตายต่อแสนประชากรสูงถึงร้อยละ 8.8 ซึ่งในปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 6.6

“ทางกรมสุขภาพจิตจะวางมาตรการ ร่วมมือกับ ภาคมหาดไทย ภาคประชาชน รวมทั้งภาคีเครือข่ายต่างๆ เพื่อยับยั้งอัตราการฆ่าตัวตายให้อยู่ราวๆ ร้อยละ 8 ต่อแสนประชากร ซึ่งเป็นตัวเลขที่เป็นสากล” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวต่อว่า กรมสุขภาพจิต ได้กำหนดกรอบแนวทางการดำเนินงานขึ้นมาเพื่อรองรับสถานการณ์ด้านสุขภาพจิตที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยมีการแบ่งกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบสุขภาพจิต แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 ผู้กักกัน/ผู้ติดเชื้อโควิด-19 กลุ่มที่ 2 บุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงานโควิด-19 กลุ่มที่ 3 กลุ่มเปราะบางต่อปัญหาสุขภาพจิต และ กลุ่มที่ 4 ประชาชนทั่วไป/ชุมชน โดยกลุ่มที่ต้องมีการเน้นการดำเนินงานด้านสุขภาพจิตหรือผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ซึ่งประกอบด้วย 1.กลุ่มบุคลากรสาธารณสุข ผู้เกี่ยวข้องกับโควิด-19 2.กลุ่มผู้ป่วย NCD เรื้อรัง และ 3.กลุ่มติดสุรา-ยาเสพติด

ทั้งนี้ นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า การดำเนินงานของกรมสุขภาพจิตภายใต้กรอบแนวทางการฟื้นฟูจิตใจในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 นี้ ได้ใช้กลไกการเสริมสร้างพลังด้วยวัคซีนใจในระดับต่าง ๆ ได้แก่ 1.วัคซีนใจในบุคคล จะเน้นในเรื่องของ การส่งเสริม การป้องกัน การรักษาและการฟื้นฟู 2.วัคซีนใจในระดับครอบครัว จะเน้นในเรื่อง 3 พลัง ได้แก่ พลังบวก โดยการมองสถานการณ์ให้เป็นในเชิงบวกเพื่อพร้อมที่จะรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้น พลังยืดหยุ่น เป็นบทบาทที่จะสามารถสร้างการปรับตัวและทำหน้าที่ทดแทนเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป และสุดท้ายพลังร่วมมือเพื่อเป็นพลังในการสร้างความปรองดองและก้าวผ่านวิกฤตไปได้ และ 3.วัคซีนใจในชุมชน โดยสร้างชุมชนที่รู้สึกปลอดภัย สร้างชุมชนทีมีความหวัง สร้างชุมชนที่รู้สึกสงบ สร้างชุมชนที่เข้าใจและโอกาส ใช้ศักยภาพของชุมชน พัฒนาเครือข่ายในการช่วยเหลือสื่อสารและใส่ใจที่จะแก้ไขปัญหา และใช้สายสัมพันธ์ในชุมชนเพื่อกำหนดเป้าหมาย ไว้ใจ ให้กำลังใจและส่งต่อเชื่อมโยงข้อมูลร่วมกันในสังคม

 

 

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง