รีเซต

สธ.ขอ ปชช.อย่ากังวลชายมาเลย์ติดโควิด-19 จากไทย ชี้ความเสี่ยงต่ำ

สธ.ขอ ปชช.อย่ากังวลชายมาเลย์ติดโควิด-19 จากไทย ชี้ความเสี่ยงต่ำ
มติชน
18 สิงหาคม 2563 ( 16:01 )
90
สธ.ขอ ปชช.อย่ากังวลชายมาเลย์ติดโควิด-19 จากไทย ชี้ความเสี่ยงต่ำ
สธ.ขอ ปชช.อย่ากังวลชายมาเลย์ติดโควิด-19 จากไทย ชี้ความเสี่ยงต่ำ เร่งหาข้อเท็จจริง

กรณีทางการมาเลเซียตรวจพบว่า พลเรือนชายชาวมาเลเซียติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 หลังจากเดินทางออกจากประเทศไทย และเข้าพักในสถานกักกันโรคของสหพันธรัฐกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย โดยเป็นการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ครั้งที่ 2 หลังจากเข้าพักได้ 10 วัน ซึ่งต่อมาได้มีการประสานทางการประเทศไทยให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงนั้น

 

เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม ที่สถาบันบำราศนราดูร กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า จากการรายงานของประเทศมาเลเซีย ที่พบว่ามีชายชาวมาเลเซียเดินทางออกจากประเทศไทย แล้วไปติดเชื้อขณะพักอยู่ในสถานกักกันโรคของประเทศมาเลเซียนั้น จากการแลกเปลี่ยนข้อมูลของ 2 ประเทศ ระบุว่า ก่อนออกจากประเทศไทยมีการตรวจคัดกรองอุณหภูมิร่างกายของผู้เดินทางรายนี้ก่อนขึ้นเครื่องบิน และเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม ชายรายดังกล่าวเดินทางถึงประเทศมาเลเซีย ทำการตรวจหาเชื้อก่อนเข้าสถานกักกันโรค ผลการตรวจไม่พบการติดเชื้อ หลังจากนั้น มีการตรวจหาเชื้อครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ซึ่งเป็นวันที่ 10 ของการเข้าพักในสถานกักกันโรค ผลตรวจพบเชื้อโควิด-19

 

“จากข้อมูลข้างต้นแบ่งเป็น ประเด็นที่ 1 เมื่อชายคนนี้เดินทางถึงมาเลเซีย เมื่อตรวจหาเชื้อทันที แต่ไม่พบเชื้อ แสดงว่า ขณะอยู่ในประเทศไทยไม่ได้มีการติดเชื้อ พร้อมทั้งได้เข้าพักในสถานกักกันโรคนานถึง 10 วัน ถึงตรวจพบเชื้อ จึงอยากให้คนไทยเข้าใจ และไม่ต้องกังวลใจ ประเด็นที่ 2 ขณะนี้ไทยอยู่ระหว่างการประสานขอให้มาเลเซียตรวจหาเชื้อซ้ำอีกครั้ง เพื่อยืนยันผลตรวจ ประเด็นที่ 3 จากการแลกเปลี่ยนข้อมูล ทำให้เราต้องค้นหาผู้ใกล้ชิด แต่ย้ำว่าไม่ใช่ผู้สัมผัสใกล้ชิด เนื่องจากขณะอยู่ในไทย เขายังไม่ได้ติดเชื้อ คนอื่นๆ จึงไม่ใช่ผู้สัมผัสเชื้อ เป็นเพียงผู้ใกล้ชิดเท่านั้น และหากว่าผลตรวจซ้ำจากมาเลเซียให้ผลบวก เราก็จะต้องหาว่า เขามีโอกาสติดจากที่ไหนในประเทศไทย แต่ถ้าตรวจซ้ำแล้วผลเป็นลบ ก็จะเหมือนเคสอื่นๆ ที่เราเคยเจอ” นพ.สุวรรณชัย กล่าว

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากว่าการตรวจซ้ำให้ผลบวก แสดงว่ามีการติดจากประเทศไทยหรือไม่ นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า จะต้องดูว่าชายรายดังกล่าว เดินทางไปถึงเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม ผลตรวจไม่พบเชื้อ และตรวจหาเชื้อครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ผลการตรวจพบเชื้อ ซึ่งเป็นระยะเวลา 10 วัน จากการตั้งข้อสมมติ เป็นไปได้ 2 แบบคือ 1.ติดเชื้อขณะอยู่ในประเทศมาเลเซีย และ 2.ติดเชื้อขณะอยู่ในประเทศไทย ซึ่งหากดูจากระยะฟักตัวของโรค 14 วัน หมายความว่า จะมีโอกาสรับเชื้อขณะอยู่ในประเทศไทยเพียง 4 วันเท่านั้น

 

“อย่างไรก็ตาม จะต้องสอบสวนโรค แต่ประเมินแล้วว่าความเสี่ยงจากกรณีนี้ค่อนข้างต่ำ และผู้ที่อยู่ร่วมครอบครัวก็เป็นเพียงผู้ใกล้ชิด ไม่ใช่ผู้สัมผัสใกล้ชิด เนื่องจากไม่ได้ป่วยขณะที่อยู่ในประเทศไทย และเมื่อเดินทางถึงมาเลเซียแล้ว การตรวจก็ไม่พบเชื้อเช่นกัน” นพ.สุวรรณชัย กล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง