รมว.คมนาคม เปิดโครงการรณรงค์ลดอุบัติเหตุ “ปีใหม่ปลอดโควิด-19 ปลอดอุบัติเหตุทางถนน”
ข่าววันนี้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานเปิดโครงการรณรงค์ลดอุบัติเหตุ “ปีใหม่ปลอดโควิด-19 ปลอดอุบัติเหตุทางถนน” ซึ่งจัดโดย บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ร่วมกับมูลนิธิเมาไม่ขับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภาคีเครือข่ายรณรงค์ลดอุบัติเหตุเมาไม่ขับ และภาคีเครือข่ายอื่น ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยมี นางสุขสมรวย วันทนียกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงคมนาคมและหน่วยงานในสังกัด ผู้แทนภาคีเครือข่ายรณรงค์ลดอุบัติเหตุทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ประชาชน สื่อมวลชนเข้าร่วมพิธี และมีนายสัญลักข์ ปัญวัฒนลิขิต กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด นายแพทย์ปรีชา เปรมปรี รองอธิบดีกรมควบคุมโรค นายแพทย์แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ ให้การต้อนรับ ในวันที่ 29 ธันวาคม 2564 ณ สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (จตุจักร)
.
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้แสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 และอุบัติเหตุบนท้องถนน ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2565 ระหว่างวันที่ 31 ธันวาคม 2564 – 3 มกราคม 2565 เนื่องจากมีวันหยุดต่อเนื่อง 4 วันและมีประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนารวมถึงเดินทางท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก
กระทรวงคมนาคมจึงได้กำชับให้หน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้องบูรณาการความร่วมมือ เพื่ออำนวยความสะดวก ปลอดภัย และดูแลประชาชนให้เดินทางช่วงเทศกาลโดยสวัสดิภาพตลอดเส้นทาง ควบคู่กับการดำเนินงานตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19
โดยในช่วงปีใหม่นี้กระทรวงฯ ได้กำหนดนโยบายอำนวยความสะดวกในการบริการขนส่งสาธารณะและโครงข่ายคมนาคมอย่างบูรณาการ โดยยึดหลัก “เดินทางสะดวก ปลอดภัย ห่างไกล COVID-19” กำชับหน่วยงานในสังกัดบูรณาการร่วมกันอำนวยความสะดวกประชาชน และเข้มงวดกวดขันการดำเนินมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 โดยถือปฏิบัติตามข้อกำหนด พ.ร.ก. ฉุกเฉิน และคำสั่ง ศบค. อย่างเคร่งครัด โดยเน้นย้ำและให้ความสำคัญกับการรณรงค์สร้างการใส่ใจในประชาชน ทั้งให้ใส่ใจตนเองและใส่ใจต่อผู้ร่วมทาง การรักษากฎจราจร ขับขี่มีอย่างมีน้ำใจ ใช้อุปกรณ์เพื่อความปลอดภัย เช่น เข็มขัดนิรภัยหรือหมวกนิรภัยตลอดการเดินทาง และที่สำคัญคือ เมาไม่ขับ และง่วงต้องพัก พร้อมทั้งปฏิบัติตามมาตรการทางสาธารณสุขเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 อย่างเข้มงวด เช่น การสวมหน้ากากอนามัย รักษาระยะห่าง และล้างมือบ่อย ๆ เป็นต้น
ในส่วนของ บขส. ได้มีมาตรการดูแลความปลอดภัยโดยเฉพาะผู้โดยสารที่เดินทางมายังสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (จตุจักร) ทุกคนต้องสวมหน้ากากอนามัย รักษาระยะห่าง และปฏิบัติตามมาตรการที่รัฐบาลกำหนด นอกจากนี้ บขส. ได้จัดเตรียมเจลแอลกอฮอล์ล้างมือไว้สำหรับบริการประชาชนทุกจุดให้บริการ เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข และดำเนินการตามข้อสั่งการของนายศักดิ์สยาม ทาง บขส. พร้อมทำตามมาตรการป้องกันด้วยการสุ่มตรวจ Antigen Test Kit หรือ ATK กับผู้ที่จะเดินทางกลับภูมิลำเนา โดย บขส. ได้รับการสนับสนุนจาก กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข นำรถโมบายเคลื่อนที่พระราชทาน มาตรวจคัดกรองเชื้อไวรัส COVID-19 ให้กับประชาชนที่เดินทางในช่วงเทศกาลปีใหม่ ระหว่างวันที่ 28 – 31 ธันวาคม 2564 และวันที่ 1 – 3 มกราคม 2565 โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ณ บริเวณประตูทางเข้า ชั้น 1 และ 3 ด้านหน้าอาคารสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (จตุจักร)
ด้านการป้องกันอุบัติเหตุ กระทรวงฯ และ บขส. มีนโยบายที่สำคัญ คือ ต้องอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในการเดินทางให้กับประชาชน พนักงานที่ขับรถโดยสารสาธารณะต้องปฏิบัติตามมาตรการ ที่กำหนดอย่างเคร่งครัด โดยจะมีการเข้มงวดในเรื่องการขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด การโทรแล้วขับ และการดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งพนักงานขับรถโดยสารสาธารณะของ บขส. ขสมก. และรถร่วมฯ ต้องปลอดจากแอลกอฮอล์ หากตรวจพบว่าพนักงานขับรถมีปริมาณแอลกอฮอล์เกินศูนย์มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จะมีการลงโทษตามลำดับ ตั้งแต่ตัดเงินเดือน ให้ออก จนถึงไล่ออกในที่สุด เนื่องจากผู้ขับขี่รถสาธารณะเป็นบุคคลที่ต้องรับผิดชอบต่อชีวิตผู้โดยสารเป็นจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องมีมาตรฐานในการขับรถที่สูงกว่าผู้ขับขี่รถทั่วไป การดื่มแอลกอฮอล์แม้แต่เพียงเล็กน้อยเป็นเจตนาละเมิดกฎแห่งความปลอดภัย ถือว่าความผิดสำเร็จแล้วฐานดื่มสุราในขณะปฏิบัติหน้าที่
ในส่วนของมาตรการรองรับการเดินทางของประชาชนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2565 กระทรวงฯ ได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จัดทำแผนการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยรองรับการเดินทางของประชาชนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2565 พร้อมเสนอแนวทางอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในการเดินทางในช่วงเทศกาลปีใหม่ ระยะเวลารวม 7 วัน ตั้งเป้าหมายการดำเนินการช่วงวันหยุดยาว ดังนี้
1. บริการระบบขนส่งสาธารณะให้เข้าถึงง่าย เพียงพอไม่ล่าช้า ไม่มีผู้โดยสารตกค้าง ไม่โก่งราคา ไม่ทิ้งผู้โดยสาร และทันกับเหตุการณ์ 2. ให้ความเชื่อมั่นแก่ประชาชนในคุณภาพของการให้บริการขนส่งสาธารณะ ด้วยการดูแลรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มข้นและจริงจัง 3. กำกับและควบคุม ลดจำนวนการเกิดอุบัติเหตุ ลดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนจากการเดินทางช่วงเทศกาลปีใหม่ 2565
4. บริหารจัดการจราจรทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2565 ให้มีความคล่องตัวและไม่ติดขัด และ5. บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในการเดินทาง
สำหรับกิจกรรมในวันนี้ได้มีการจัดเสวนา “ฉลองปีใหม่อย่างไร? ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อจากอุบัติเหตุ” โดยมีเหยื่อเมาแล้วขับมาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เนื่องจากสถิติอุบัติเหตุเทศกาลปีใหม่ 2564 พบว่า มีผู้เสียชีวิต จำนวน 392 ราย และผู้บาดเจ็บ จำนวน 3,326 ราย สาเหตุหลักเกิดจากการเมาแล้วขับ นอกจากนี้ ภาคีเครือข่ายได้นำหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ สติกเกอร์กิจกรรม แผ่นพับคู่มือการปฏิบัติตนเพื่อป้องกันโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 และคู่มือการเดินทางปีใหม่อย่างไรให้ปลอดภัยมาแจกให้ประชาชนภายในงานด้วย
ทั้งนี้ กระทรวงฯ และ บขส. ขอความร่วมมือให้ประชาชนร่วมกันลดปัจจัยเสี่ยง ทั้งการลดอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยการรักษากฎจราจร ขับขี่อย่างมีน้ำใจ มีสติในการขับรถ ไม่ประมาท ใช้อุปกรณ์เพื่อความปลอดภัย เช่น เข็มขัดนิรภัยหรือหมวกนิรภัยตลอดการเดินทาง และที่สำคัญคือ เมาไม่ขับและง่วงต้องพัก รวมทั้งปฏิบัติตามมาตรการทางสาธารณสุขเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 แบบครอบจักรวาล (Universal Prevention) อย่างเข้มงวด