รีเซต

ไทย-ญี่ปุ่นร่วมจัด Mekong - Japan SDGs Forum ขับเคลื่อนเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่่ยั่งยืน

ไทย-ญี่ปุ่นร่วมจัด Mekong - Japan SDGs Forum ขับเคลื่อนเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่่ยั่งยืน
มติชน
15 กุมภาพันธ์ 2565 ( 06:09 )
41

เมื่อไม่นานมานี้ไทยกับญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพร่วมจัดการประชุมฟอรั่มแม่โขง-ญี่ปุ่น เพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (เอสดีจีส์) (Mekong – Japan SDGs Forum) ครั้งที่ 1 ภายใต้หัวข้อ “ทศวรรษแห่งความมุ่งมั่น : การลงมือทำและการนับถอยหลังสู่ปี 2030 (Decisive Decade: Actions and Count Down Toward 2030) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของข้อริเริ่มลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น เพื่อขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 (Mekong – Japan Initiative for SDGs toward 2030) ที่ได้รับการรับรองโดยการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ 11 ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเทพเมื่อปี 2562 เป็นการยกระดับการประชุม Green Mekong Forum ที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดร่วมกับญี่ปุ่นมาแล้ว 6 ครั้ง เพื่อให้ครอบคลุมทุกมิติของเอสดีจีส์ และให้ทุกภาคส่วนของสังคมมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการดำเนินการเพื่อการบรรลุเอสดีจีส์ภายในปี 2573 โดยมีเจ้าหน้าที่อาวุโส ผู้แทนภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาชนของประเทศสมาชิกกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมา ไทย เวียดนาม และญี่ปุ่น เข้าร่วมผ่านระบบประชุมทางไกลกว่า 170 คน

 

นางอรุณรุ่ง โพธิ์ทอง ฮัมฟรีย์ส เอกอัครราชทูตประจำกระทรวงสำหรับกรอบความร่วมมือลุ่ม้ำโขง และเจ้าหน้าที่อาวุโสไทยในกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง เป็นประธานร่วมการประชุมและกล่าวเปิดงาน ร่วมกับ นายคาโนะ ทาเคฮิโระ อธิบดีกรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ กระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น โดยทั้งสองฝ่ายได้ย้ำความสำคัญของความร่วมมือและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่นในการขับเคลื่อนและสนับสนุนให้ประเทศลุ่มน้ำโขงสามารถบรรลุเป้าหมายเอสดีจีส์ภายในปี 2573 และก้าวข้ามอุปสรรคและความท้าทายในปัจจุบัน โดยเฉพาะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

 

นางอรุณรุ่งกล่าวว่า เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ประเทศสมาชิกของความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่นได้ยกระดับ Green Mekong Forum ให้เป็น Mekong – Japan SDGs Forum เพื่อให้ครอบคลุมทุกมิติของเอสดีจีส์ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและทุกภาคส่วนอย่างครอบคลุม ไทยและญี่ปุ่นตกลงร่วมกันจัดการประชุมครั้งแรก ซึ่งคือการประชุมในวันนี้ และการมีส่วนร่วมอย่างครอบคลุมจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการและภาคประชาชน สะท้อนความเป็นหุ้นส่วนสี่ฝ่ายในการขับเคลื่อนเอสดีจีส์ (quardruple partnership) ให้มีพลัง นอกจากนี้ ยังมีสมาชิกของคณะทูตานุทูตจากประเทศหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาและผู้แทนองค์กรระหว่างประเทศในไทยเข้าร่วมด้วย

 

การประชุมในวันนี้เปิดโอกาสให้ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับความท้าทายแห่งยุค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการหารือเกี่ยวกับ 1. วิธีที่เราอาจรับมือและฟื้นตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดฯ โรคโควิด 19 ได้อย่างปลอดภัยยิ่งขึ้น และสร้างระบบสาธารณสุขและโครงสร้างพื้นฐานที่ดีขึ้น 2. วิธีที่เราสามารถส่งเสริมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและความยืดหยุ่นในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล และ 3. วิธีที่เราจะสร้างสังคมที่เน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ผ่านการประยุกต์ใช้โมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (บีซีจี) ตลอดจนวิธีการและวิธีอื่นๆ ในการสร้างโลกที่ดีกว่าที่มีทั้งผู้คนที่เป็นมิตรและเอื้อต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

 

การประชุมยังสะท้อนถึงความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่องของญี่ปุ่นในการมีส่วนร่วมพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ขณะเดียวกันก็สะท้อนถึงความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าของประเทศลุ่มแม่น้ำโขงและญี่ปุ่นในการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาที่ยากลำบากและความไม่แน่นอนเช่นในปัจจุบัน เพื่อให้การฟื้นตัวของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงปลอดภัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และชาญฉลาดยิ่งขึ้น

 

ไทยและประเทศเพื่อนบ้านในลุ่มแม่น้ำโขงชื่นชมการมีส่วนร่วมที่ยาวนานและประเมินค่าไม่ได้ของญี่ปุ่น เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนและสมดุลในอนุภูมิภาค โดยญี่ปุ่นมีบทบาทสำคัญทั้งในกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น (Mekong – Japan Cooperation) กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (จีเอ็มเอส) และยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (แอคเมคส์) ซึ่งญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนากลุ่มแรก

 

นางอรุณรุ่งกล่าวด้วยว่า ในฐานะที่ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ได้คะแนนเป็นอันดับหนึ่งในเอเชียในรายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน พ.ศ. 2564 และเป็นผู้นำโลกในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (STI) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาที่ยั่งยืน ยังมีโอกาสอีกมากมายที่ญี่ปุ่นจะเสริมสร้างความร่วมมือกับประเทศลุ่มน้ำโขงเพื่อการบรรลุเอสดีจีส์ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

 

การประชุมดังกล่าวแบ่งออกเป็น 3 หัวข้อย่อย ช่วงที่ 1 เป็นการเสวนาในเรื่อง “สู่การเป็นหุ้นส่วนเพื่อสุขภาพ” (Towards Partnership for Health) ที่ตอกย้ำความท้าทายเร่งด่วนที่สุดในยุคสมัย นั่นคือสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังคงดำเนินอยู่ ประเด็นดังกล่าวแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรมว่า เหตุใดเราจึงต้องการความร่วมมือระหว่างประเทศ ภูมิภาค อนุภูมิภาค และระดับท้องถิ่น ตลอดจนความร่วมมือระหว่างผู้คนรุ่นต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านสาธารณสุขและการจัดหาเงินทุนเพื่อการสาธารณสุข และในขณะเดียวกันก็ต้องเตรียมความพร้อมสำหรับความไม่แน่นอนด้านสาธารณสุข เช่น การเกิดโรคอุบัติใหม่และการแพร่ระบาดครั้งใหม่ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ด้วยการพัฒนาระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็งยิ่งขึ้นผ่านการเพิ่มขีดความสามารถของบุคลากรทางการแพทย์และการใช้เทคโนโลยี ตลอดจนการส่งเสริมการประกันสุขภาพถ้วนหน้า (UHC) และการเข้าถึงบริการสาธารณสุขในวงกว้างของประชาชน ซึ่งจะเป็นตัวเปลี่ยนเกมส์ที่สำคัญ ทั้งยังสามารถช่วยชีวิตคนจากโรคระบาดได้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต

 

ช่วงที่ 2 “การฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน” (Towards Sustainable Economic Recovery) เป็นการหารือเรื่องแนวทางต่างๆ ในการเสริมสร้างความยืดหยุ่นให้แก่ภาคเศรษฐกิจ รวมถึงอุตสาหกรรมพลังงาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยมีการกล่าวถึงแผนงานและแนวทางด้านการพัฒนาเศรษฐกิจของแต่ละประเทศที่มุ่งสู่การเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพและการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในขณะที่ต้องรับมือและพยายามฟื้นตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาด รวมทั้งการน้อมนำหลักการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่ให้ความสำคัญกับความพอเพียง ความมีเหตุมีผลและการบริหารจัดการความเสี่ยงไปประยุกต์ใช้กับสถานการณ์ความท้าทายในปัจจุบัน

 

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทางดิจิทัลในฐานะเครื่องมือในการส่งเสริมการบรรลุเอสดีจีส์ และช่วยให้ภาคส่วนต่างๆ รับมือกับสภาวะปกติใหม่ โดยได้กล่าวถึงแนวโน้มการพัฒนาทางดิจิทัล เช่น การชำระเงินดิจิทัล และการใช้เงินตราดิจิทัล เป็นต้น ซึ่งเป็นสาขาความร่วมมือที่ประเทศลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่นสามารถขยายความร่วมมือระหว่างกันได้ต่อไปในอนาคต

 

ช่วงที่ 3 “สังคมที่มีการมีส่วนร่วมและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” (Towards Green and Inclusive Society) ได้มีการกล่าวถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมหลายประเด็น อาทิ ขยะ ขยะพลาสติกและมลภาวะ ตลอดจนแนวทางและวิธีการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เช่น การบริหารจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน พลังงานหมุนเวียน การให้ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ความร่วมมือระหว่างประเทศ และความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนา รวมทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติของไทยและเป็นแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืนในยุคหลังสถานการณ์การแพร่ระบาด

 

นางอรุณรุ่งย้ำว่า การพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นประเด็นที่ไทยใส่ใจและให้ความสำคัญอย่างมาก และสนับสนุนการพูดคุยเสวนาเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวในทุกเวที โดยไทยตั้งใจที่จะใช้ประโยชน์จากบทบาทของไทยในฐานะรองประธานคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (ECOSOC) วาระ พ.ศ. 2564 – 2565 ผู้ประสานงานอาเซียนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และเป็นเจ้าภาพร่วมของฟอรั่มนี้ เพื่อทำงานร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด โดยเฉพาะญี่ปุ่นและประเทศลุ่มแม่น้ำโขง เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีบุคคลและประเทศใดถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง

 

เชื่อว่าประเด็นต่างๆ ที่ได้มีการหยิบยกมาพูดคุยกันในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตามกรอบเวลาที่วางไว้ต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง