กรุงเทพฯเหลือ 140 เตียงไอซียูรับคนไข้โควิด หมอวอนล็อกดาวน์ตัวเองสกัดเชื้อ
เมื่อวันที่ 23 เมษายน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวชี้แจงถึงการบริหารจัดการเตียงเพื่อรองรับผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ว่า สถานการณ์การบริหารจัดการเตียงผู้ป่วยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ในต่างจังหวัด ถือว่าไม่มีปัญหา เพราะมีระบบ Single command บริหารโดย สธ.ฝ่ายเดียว แต่ความยากอยู่ที่ในกรุงเทพมหานคร ซึ่งกรมการแพทย์ ต้องขอความร่วมมือทุกหน่วยงานในการทำฮอสปิเทล (Hospitel) เพื่อแยกคนกลุ่มสีเขียว ที่มีอาการน้อยเข้าไปอยู่ ตอนนี้หาได้กว่า 5-6 พันเตียง มีการเข้าอยู่แล้วประมาณ 3 พันคน
“นอกจากนี้ เราพยายามจัดกลุ่มคนที่อาการอยู่ในขั้นเหลืองอ่อน ไปอยู่ที่สถาบันธัญญารักษ์ 200 เตียง ซึ่งรับเข้าแล้ว 50 คน วันนี้จะส่งเข้าอีก 50 คน จากนั้นพยายามให้โรงพยาบาล (รพ.) ต่างๆ รวมถึงโรงเรียนแพทย์ ถ่ายโอนผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวออกมาอยู่ รพ.สนาม และฮอสปิเทล แทน เพื่อรีบเอาคนที่ที่อาการกลุ่มสีเหลืองแก่ ไปจนถึงกลุ่มสีแดงเข้าไปรักษาใน รพ.แทน” อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าว
นพ.สมศักดิ์ กล่าวถึงกรณีผู้สูงอายุเสียชีวิตระหว่างรอเตียงที่เขตบางคอแหลม กรุงเทพมหานคร (กทม.) ว่า กรมการแพทย์ไม่มีข้อมูลในรายละเอียดในส่วนนี้ ซึ่งเชื่อว่าเป็นส่วนที่ตกค้าง และเป็นหน้าที่ของ กทม.และสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) ที่เป็นต้นทาง จะต้องรายงานไปที่กรมการแพทย์ สธ.เพื่อให้ปลายทางเข้าไปช่วยเหลือผู้ป่วย เพราะหากผู้ป่วยอยู่บ้านนานและไม่ได้รับยา ก็ส่งผลให้เปลี่ยนจากการเป็นผู้ป่วยสีเหลือง เป็นเหลืองเข้มได้
นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์การดูแลผู้ติดเชื้อมีอาการนั้น ก็ต้องยืนยันอีกเช่นกันว่า ในส่วนของเครื่องช่วยหายใจนั้น ไม่ได้มีปัญหา แต่ที่มีปัญหาอยู่คือ เตียงไอซียู (ICU) ซึ่งมีปัญหาเฉพาะในกรุงเทพฯ ซึ่งจากข้อมูลตอนนี้รวม รพ.ทุกสังกัดมีประมาณ 700 เตียง แต่ตอนนี้ว่างอยู่ประมาณ 140 เตียง หากตัวเลขผู้ติดเชื้อยังสูง และมีผู้อาการหนักมากขึ้นเรื่อยๆ ก็คาดกันว่าเตียงไอซียู จะรองรับได้ประมาณ 10 วัน แต่ตอนนี้ รพ.แต่ละแห่งไปขยายเพิ่มเติม ก็คาดว่าจะสามารถรองรับได้ 20 วัน โดยกรมการแพทย์ก็ปรับให้ Cohort-ward มาทำเป็น ICU Cohort
“ทั้งนี้ เฉลี่ยคนรักษาในไอซียู 14-20 วัน ดังนั้น เราต้องพยายามเอาคนติดเชื้อเข้าสถานพยาบาลเพื่อให้ได้รับการดูแล คนสีเหลืองอ่อนๆ ต้องได้รับยาเพื่อที่อาการจะได้ไม่หนัก แบบนี้ไอซียูเราถึงจะเพียงพอ นอกจากนี้ทุกคนต้องช่วยกันดึงกราฟคนติดเชื้อลง ช่วง 2 สัปดาห์นี้ต้องล็อกดาวน์ตัวเอง ไม่ควรกินข้าวร่วมกัน แม้แต่คนในครอบครัวก็ตาม” อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าว
นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก็ปรับแนวทางการรับผู้ป่วยเข้านอน รพ. ซึ่งเดิมจากต้องตรวจสอบจากผู้ที่มีผลการตรวจแล็บชัดเจน เพื่อการตรวจสอบว่าติดเชื้อจริงหรือไม่ เพราะหากเป็นผลบวกปลอม แต่มีการนำเข้าไปนอนใน รพ.สนาม ก็จะทำให้ผู้ที่จริงๆ แล้วไม่ได้ติดเชื้อกลายเป็นติดเชื้อ แต่ตอนนี้ก็ปรับเป็นให้นอน รพ.ได้แล้วแต่เป็นห้องแยก เพื่อป้องกันการรับเชื้อ