รีเซต

รัฐบาลจ่อกู้เพิ่ม หากล็อกดาวน์อีกครั้ง ชี้ เอามาเยียวยา ไม่มีใครว่า

รัฐบาลจ่อกู้เพิ่ม หากล็อกดาวน์อีกครั้ง ชี้ เอามาเยียวยา ไม่มีใครว่า
ข่าวสด
23 ธันวาคม 2563 ( 17:22 )
104
รัฐบาลจ่อกู้เพิ่ม หากล็อกดาวน์อีกครั้ง ชี้ เอามาเยียวยา ไม่มีใครว่า

ผอ.สำนักงบฯ เผย รายละเอียดงบประมาณ ปี 65 กว่า 3.1 ล้านล้านบาท ชี้ ตอนนี้เงินยังเหลือ แต่ถ้าไม่พอ จ่อกู้เพิ่ม หากล็อกดาวน์อีก ชี้ มาเยียวยา "โควิด" ไม่มีใครว่า

 

วันนี้ (23 ธ.ค.) นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผอ.สำนักงบประมาณ เปิดเผยว่า ที่ประชุมเห็นชอบกรอบงบประมาณประจำปี 2565 ตามผลการหารือของคณะกรรมการ 4 ฝ่าย ที่มีสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

 

มีวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 3.1 ล้านล้านบาท ลดลงจากงบประมาณปี 2564 จำนวน 1.859 แสนล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 5.66 ภายใต้สมมติฐานอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในปี 2565 เติบโต 3.5 เปอร์เซ็นต์ กรอบเงินเฟ้อ 1.2 เปอร์เซ็นต์ และมูลค่าต่อจีดีพี 17.328 ล้านล้านบาท ประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิ 2.4 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ สำนักงบประมาณจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 5 ม.ค. 2564

 

  • หั่นงบสัมมนา-ดูงานต่างประเทศ

 

“เป็นการจัดทำงบประมาณขาดดุล 7 แสนล้านบาท และมีงบลงทุน 6.2 แสนล้านบาท งบประจำ 2.354 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 75 เปอร์เซ็นต์ ตั้งงบชำระคืนเงินกู้ 1 แสนล้านบาท ในภาพรวมงบประมาณและเงินอื่นๆ ยังคิดว่าดีอยู่ พอที่จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัว 3.5 เปอร์เซ็นต์” นายเดชาภิวัฒน์ กล่าว

 

ผอ.สำนักงบประมาณ กล่าวว่า กรณีเป็นงบรายจ่ายประจำ เราพยายามลดลงมา ในปี 2565 ลดลงเหลือร้อยละ 75 ซึ่งส่วนประกอบของรายจ่ายประจำ แน่นอนคือ เงินเดือนข้าราชการ การรักษาพยาบาลประมาณล้านสองแล้ว เราพยายามลดรายจ่ายประจำ ที่สามารถลดลงได้ หรือชะลอได้

 

เช่น การเดินทางไปต่างประเทศ การประชุมสัมมนาลดลงได้บางส่วน อย่างไรก็ดี ที่สามารถลดลงได้ คือ เงินสมทบกองทุน โดยเฉพาะที่มีเงินของตัวเอง และส่วนราชการที่มีเงินนอก ที่มีรายได้จัดเก็บได้เอง และให้ส่วนราชการชะลอการขอเพิ่มงบรายจ่ายประจำ

 

  • ยันมีเงินเยียวยาโควิด-กู้เพิ่มได้

 

นายเดชาภิวัฒน์ กล่าวว่า สำหรับงบประมาณที่ใช้ดูแลสถานการณ์โควิด-19 ยังคงใช้จากพ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท สามารถใช้ไปถึงปีหน้าได้ แต่ในปี 2565 หากจำเป็นต้องใช้งบเพื่อฟื้นฟูเยียวยาสถานการณ์โควิด-19 คงอยู่ในส่วนของงบกลาง ซึ่งกรอบวงเงินอยู่ในระดับ 3 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นไปตามกรอบวินัยการเงินการคลัง

 

ทั้งนี้ หากประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ขั้นเลวร้ายที่สุด หรือมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก เงินมีเพียงพอที่จะเยียวยา หรือมีเงินประมาณ 2-3 แสนล้านบาท รวมกับงบกลางและงบกลางกรณีฉุกเฉินอีก รวมแล้วประมาณ 4 แสนล้านบาท

 

“ตอนนี้ยังไม่จำเป็นต้องกู้เพิ่ม ตอนนี้สบาย ยังมีเงินในกระเป๋าเยอะ แต่หากถ้าปิดประเทศ เหมือนอังกฤษ หรือในยุโรป อันนั้นน่าเป็นห่วง ซึ่งสัดส่วนเงินกู้ต่อจีดีพีร้อยละ 60 โดยประมาณ ประเทศอื่นเป็น 100 แล้ว ช่วงนี้เวลานี้ 60 เรายังมีวินัยอยู่

ส่วนจะขยายหรือไม่ ต้องประชุมให้เป็นนโยบายรัฐบาล ถ้าจะกู้เพื่อบรรเทา ใครจะไปค้าน ซึ่งไม่จำเป็นต้องแก้กฎหมาย และที่ตั้งไว้ 60 เป็นเพียงตุ๊กตา แต่ถามว่า กู้มาทำอะไร ถ้ากู้มาเยียวยา มาบรรเทา ไม่มีใครว่า” ผอ.สำนักงบประมาณ กล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง