รีเซต

แอสตร้าฯ เผยส่งวัคซีนให้ไทย เดือนส.ค. 5.3 ล้านโดส รวมแล้ว 16.6 ล้านโดส

แอสตร้าฯ เผยส่งวัคซีนให้ไทย เดือนส.ค. 5.3 ล้านโดส รวมแล้ว 16.6 ล้านโดส
ข่าวสด
3 กันยายน 2564 ( 13:39 )
58

แอสตร้าฯ เผยส่งวัคซีนให้ไทย เดือนส.ค. 5.3 ล้านโดส รวมแล้ว 16.6 ล้านโดส ยคาดว่าจะสามารถส่งมอบวัคซีนทั้งหมด 61 ล้านโดส ได้ภายในสิ้นปีนี้

 

 

เมื่อวันที่ 3 ก.ย.64 บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ตลอดเดือนส.ค.ที่ผ่านมา บริษัทฯ ส่งมอบวัคซีนป้องกันโควิด-19 จำนวน 5.3 ล้านโดส ให้กับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รวมยอดส่งมอบวัคซีน ณ สิ้นเดือนส.ค. เป็นจำนวนทั้งสิ้น 16.6 ล้านโดส ตามแผนการจัดหาวัคซีนให้กับประเทศไทย โดยคาดว่าจะสามารถส่งมอบวัคซีนทั้งหมด 61 ล้านโดส ได้ภายในสิ้นปีนี้

 

 

ทั้งนี้ จำนวนวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ส่งมอบในเดือนส.ค.นั้นเป็นไปตามแผนงานที่แอสตร้าฯ ได้ประมาณการไว้ก่อนหน้านี้ว่า จะสามารถจัดสรรและส่งมอบวัคซีนให้กับประเทศไทยได้ 5-6 ล้านโดสต่อเดือน

 

 

นายเจมส์ ทีก ประธาน บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า แอสตร้าฯ ตระหนักถึงหน้าที่สำคัญในการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยสิ่งที่ให้ความสำคัญเหนือสิ่งอื่นใดในขณะนี้ คือ การผลิตและส่งมอบวัคซีนที่มีคุณภาพ เพื่อปกป้องประชาชนชาวไทยและช่วยยังยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ด้วยความร่วมมือจากสยามไบโอไซเอนซ์

 

 

“เราจึงสามารถผลิตวัคซีนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ รวมถึงส่งมอบวัคซีนที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพสูงได้ตามกำหนด ทั้งนี้ แอสตร้าฯ จะพยายามอย่างสุดความสามารถในการจัดหาวัคซีนให้กับประเทศไทยโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้” นายเจมส์กล่าว

 

 

นายเจมส์กล่าวว่า นับตั้งแต่มีการเริ่มใช้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าฯ ครั้งแรกในช่วงต้นปี 2564 วัคซีนได้สร้างประโยชน์อันยิ่งใหญ่ในการช่วยชีวิตผู้คนมากมายและป้องกันอาการเจ็บป่วยจากโรคโควิด-19 ในระดับที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าฯ มีประสิทธิผลในการลดความรุนแรงของโรคโควิด-19 และการเจ็บป่วยในระดับที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในทุกกลุ่มอายุได้มากถึง 80-90% และยังมีประสิทธิผลครอบคลุมไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ต่างๆ ที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุไว้ รวมถึงสายพันธุ์เบต้าและสายพันธุ์เดลต้า

 

 

นายเจมส์ กล่าวว่า ผู้รับวัคซีนโควิด-19 ของแอสตร้าฯ สามารถทนต่อผลข้างเคียงของวัคซีนได้ดี มีการรายงานภาวะที่พบได้ยากคือลิ่มเลือดอุดตันผิดปกติร่วมกับภาวะเกล็ดเลือดต่ำ (Thrombocytopenia Syndrome หรือ TTS) เกิดขึ้นในระดับที่น้อยมากในกลุ่มผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มแรกภายใน 14 วัน และมีอัตราลดลงหลังการฉีดวัคซีนเข็มที่สอง ซึ่งไม่แตกต่างจากอัตราที่พบในประชากรที่ไม่ได้รับวัคซีน แอสตร้าฯ และพันธมิตรผู้ผลิตได้ส่งมอบวัคซีนป้องกันโควิด-19 กว่า 1 พันล้านโดส ให้แก่ประเทศต่างๆ กว่า 170 ประเทศทั่วโลก โดย 2 ใน 3 ของจำนวนวัคซีนดังกล่าวได้ถูกส่งมอบให้กับกลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่ำและกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนไปทางต่ำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง