รีเซต

ครม.อนุมัติสร้างรถไฟความเร็วสูงเฟสสอง”โคราช-หนองคาย”เริ่มปีนี้

ครม.อนุมัติสร้างรถไฟความเร็วสูงเฟสสอง”โคราช-หนองคาย”เริ่มปีนี้
ทันหุ้น
4 กุมภาพันธ์ 2568 ( 13:36 )
9

 

 

ครม.อนุมัติสร้างรถไฟความเร็วสูงเฟสสอง”โคราช-หนองคาย”ระยะทาง 357 กิโลเมตร มูลค่า 3.41 แสนล้าน ระยะเวลาโครงการ 8 ปี เริ่มต้นปีนี้ ขณะที่ โครงการนี้ในเฟสที่หนึ่งคืบหน้าเพียง 36% ตั้งเป้าเปิดให้บริการปี 71

 

#ทันหุ้น นายจิรยุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.)อนุมัติโครงการรถไฟความเร็วสูงเฟสสอง ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 357 กิโลเมตร มูลค่า3.41 แสนล้านบาท

 

ปัจจุบันโครงการรถไฟความเร็วสูงเฟสที่หนึ่งจากกทม-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กิโลเมตร มูลค่า 1.79 แสนล้านบาท การก่อสร้างยังล่าช้ากว่ากำหนด ก่อสร้างสำเร็จไปเพียง 36%เท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม รัฐบาลตั้งเป้าหมายที่จะเปิดให้บริการเฟสหนึ่งภายในปี 2571

 

สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเฟสสอง ช่วงนครราชสีมา–หนองคายมี ระยะเวลาดำเนินการ 8 ปี เริ่มปีงบประมาณ 2568 ถึง 2575 โดยให้รัฐบาลรับภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการ และให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณรายปี โดยกระทรวงการคลังเป็นผู้จัดหาแหล่งเงินกู้ และค้ำประกันเงินกู้ให้ตามความเหมาะสม

 

ทั้งนี้ เรื่องนี้เป็นการดำเนินการตามร่างบันทึกความร่วมมือระหว่างไทยและจีนว่าด้วยการกระชับความร่วมมือในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟ ซึ่งที่ผ่านมา ครม. มีมติเมื่อ 11 กรกฎาคม 2560 ที่อนุมัติให้การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)ดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง กทม. -หนองคาย โดยรัฐบาลรับภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการ ระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี หรือระหว่างปีงบประมาณ 2560 ถึง 2563

 

นายจิรายุ กล่าวต่อไปว่า กระทรวงคมนาคม โดย รฟท. ได้ขออนุมัติดำเนินโครงการฯ ระยะที่สอง ประกอบด้วย การดำเนินการใน 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1การก่อสร้างทางรถไฟเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟความเร็วสูงจากโครงการฯ ระยะที่ 1ที่จะเริ่มต้นที่จังหวัดนครราชสีมา ไปจนถึงจังหวัดหนองคาย วงเงิน 335,665.21ล้านบาท ระยะทาง 357.12 กม. ประกอบด้วย 5 สถานี ได้แก่ 1.สถานีบัวใหญ่ 2. สถานีบ้านไผ่ 3. สถานีขอนแก่น 4. สถานีอุดรธานี และ 5. สถานีหนองคาย โดยจะเริ่มก่อสร้างในปีงบ 2568 และคาดว่าจะแล้วเสร็จในปีงบฯ 2575

 

ส่วนที่ 2 การก่อสร้างศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้า วงเงิน 5,686.21ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดหนองคาย ซึ่งเป็นการก่อสร้างศูนย์บริการเปลี่ยนถ่ายสินค้าทางรถไฟ ทั้งขาเข้า - ขาออก ระหว่างทางขนาด 1 เมตร ของรถไฟไทย และขนาดทางมาตรฐาน 1.45 เมตร ของโครงการรถไฟลาว – จีน ในรูปแบบศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จ (One stop service)

 

สำหรับโครงการฯ ระยะที่ 2เมื่อพิจารณา EIRR เชิงกว้าง กรณีโครงการฯ ระยะที่ 1 + 2 พบว่า มีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจอยู่ที่13.23 %ซึ่งยังมีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ อีกทั้ง คกก.การรถไฟฯ มีมติเห็นชอบโครงการฯ ระยะที่ 2 และ คกก.สิ่งแวดล้อมฯ ได้เห็นชอบรายงาน EIA ของโครงการฯ ระยะที่ 2 ด้วยแล้ว

 

ทั้งนี้ ครม.ให้กระทรวงคมนาคมเร่งจัดทำรายงานผลการศึกษาความเหมาะสมของรูปแบบการบริหารจัดการรถไฟความเร็วสูง เสนอครม. พิจารณาโดยเร็ว และให้การรถไฟฯ ศึกษารูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการ และเสนอขออนุมัติพร้อมกันกับการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานตามขั้นตอนของกฎหมาย โดยให้ทบทวนและปรับปรุงสมมติฐานที่ใช้ในการศึกษาให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงในปัจจุบัน

 

 

 

 

 

ช่องทางเฟสบุ๊ก ติดตามข่าวได้ที่เพจ ทันหุ้นออนไลน์

https://www.facebook.com/thunhoonnews

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง