บุหรี่-เหล้า ปัจจัยลัดรับเชื้อ "โควิด-19"
บุหรี่-เหล้า ปัจจัยลัดรับเชื้อ “โควิด-19″
โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ศัตรูปอด เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกาย จุดมุ่งหมายของมันคือ กัดกินเนื้อเยื่อปอด ลุกลามไปยังอวัยวะอื่นในร่างกายของผู้ป่วย
เมื่อไม่นานมานี้เวทีเสวนา เหล้า บุหรี่ กับความเสี่ยง โควิด-19 จัดโดย เครือข่ายปกป้องเด็กและเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยงทางสังคม เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) และศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า แอลกอฮอล์เป็นสาเหตุเพิ่มความเสี่ยงในโรคติดเชื้อ อาทิ วัณโรคปอด ปอดบวม โรคติดเชื้อในปอด ส่วนเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคในปอดได้เช่นกัน ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ มีโอกาสรับเชื้อง่ายกว่าคนปกติ เพราะเมื่อดื่มเข้าสู่ร่างกายจะเข้าไปทำลายระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้เม็ดเลือดขาวทำงานฆ่าเชื้อโรคในร่างกายได้ไม่เต็มที่ ส่งผลให้ติดเชื้อต่างๆ ได้ การตั้งวงดื่มเหล้ากับเพื่อนหรือเที่ยวในสถานบันเทิงยิ่งเสี่ยงหนัก หากมีผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในกลุ่มแค่หายใจ หรือหยิบจับภาชนะร่วมกันก็ติดเชื้อได้แล้ว เพราะนั่งในระยะใกล้ จากสถิติพบผู้ใหญ่ติดไวรัสโควิด-19 ง่ายกว่าวัยอื่น ส่วนผู้ที่เสียชีวิตจะเป็นกลุ่มคนสูงวัยและคนที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง
“หลายคนอาจสงสัยว่าทุกคนที่ดื่มเหล้าแก้วเดียวกันจะติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทุกคนหรือไม่นั้น อาจกล่าวได้ว่ามีสิทธิรับเชื้อกันทุกคน เพราะนักดื่มส่วนใหญ่มีกลไกในแง่ความเป็นอยู่ด้านสุขลักษณะหรือการดูแลตัวเองน้อย จึงมีโอกาสรับเชื้อมากขึ้น เชื้อไวรัสจะส่งผ่านแก้วที่ใช้ร่วมกัน เข้าสู่ทางเดินหายใจทางจมูกและปาก เพียงหายใจใกล้กันหรือนั่งใกล้กันก็สามารถติดเชื้อได้แล้วเพราะผู้ติดเชื้อจะมีอาการไอ และมีน้ำมูกเชื้อโรคจะอยู่ในเสมหะและน้ำลายถ้าเกิดการไอ ละอองน้ำลายจะฟุ้งกระจายไปสู่ภาชนะของผู้อื่นส่งผลให้โต๊ะเดียวกันติดเชื้อ” รศ.พญ.รัศมน กล่าว
ทั้งนี้ รศ.พญ.รัศมน กล่าวว่า ผู้ที่ดื่มเหล้าเป็นประจำต้องระมัดระวังตัวมากกว่าคนปกติ เพราะจากงานวิจัยพบว่า ผู้ที่ติดเหล้ามีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคติดเชื้อในปอดถึง 2.9 เท่า และยังพบอีกว่า เหล้าเป็นสาเหตุของอัตราการเสียชีวิตในกลุ่มของผู้ติดเชื้อวัณโรค ปอดบวมถึงร้อยละ 13.5 ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูง จึงเห็นด้วยกับการที่ภาครัฐกำลังออกมาตรการปิดสถานบันเทิง ถือเป็นมาตรการทั่วไปในการสกัดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส นอกจากนี้ ยังถือเป็นจังหวะดีที่นักดื่มจะหันมาดูแลสุขภาพตนเองให้แข็งแรงขึ้น อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการปกป้องตนเอง ต้องพยายามเว้นระยะห่างกัน ไม่ใช้ภาชนะร่วมกัน ทานอาหารให้ถูกสุขลักษณะ ออกกำลังกายให้แข็งแรง การสวมหน้ากากอนามัย และล้างมือบ่อยๆ จะเป็นส่วนหนึ่งในการต่อต้านเชื้อโรคนี้ได้
ดร.วศิน พิพัฒนฉัตร ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ศจย. คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า การสูบบุหรี่มวนและบุหรี่ไฟฟ้า เสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 ด้วยเหตุผล 2 ประการ คือ
ประการที่ 1 การสูบบุหรี่มวน และบุหรี่ไฟฟ้าทำให้ปอดไม่แข็งแรง การสูบบุหรี่แม้เพียงมวนเดียว ก็ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจและสุขภาพปอด และถ้าสูบเป็นระยะเวลานานสามารถนำไปสู่โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) เสี่ยงติดเชื้อมากยิ่งขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับรายงานจากวารสารการแพทย์จีน ระบุว่า ในผู้ป่วยที่มีอาการทรุดลงรวมถึงเสียชีวิตเป็นผู้สูบบุหรี่มากกว่าผู้ไม่สูบบุหรี่ถึง14 เท่า
ดังนั้น จึงมีผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพหลายคนจากทั่วโลกกล่าวถึงการงดสูบบุหรี่เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย เช่น ศาสตราจารย์ คริสโตเฟอร์ วิตตี้ หัวหน้าเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ของอังกฤษ ระบุว่า เป็นช่วงเวลาที่จะเลิกบุหรี่ เพราะคนที่สุขภาพไม่แข็งแรงมีความเสี่ยงต่อโคโรนาไวรัส ตามรายงานจากสำนักงานบริการสุขภาพแห่งชาติของอังกฤษ การเลิกสูบบุหรี่เพิ่มโอกาสมีสุขภาพที่ดีได้ภายใน 20 นาที หลังเลิกสูบบุหรี่หัวใจจะกลับสู่อัตราการเต้นปกติ การไหลเวียนของโลหิตดีขึ้น ความดันโลหิตก็เริ่มลดลง และภายใน 72 ชั่วโมง เซลล์ที่แข็งแรงจะเริ่มแทนที่เซลล์ที่เสียหายในปอด และปอดก็จะกลับมาทำงานได้เต็มประสิทธิภาพอีกครั้ง
รวมถึงการเลิกบุหรี่ไฟฟ้าด้วย มีการทดลองในหนู พบว่า บุหรี่ไฟฟ้าทำให้ลดประสิทธิภาพของระบบภูมิคุ้มกัน เพิ่มความไวในการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์เอ และเสี่ยงต่อการเกิดปอดอักเสบซึ่งเกิดจากการสูบไอของบุหรี่ไฟฟ้า หรือที่เรียกว่า อิวาลี่ (EVALI) ซึ่งขณะนี้ในสหรัฐมียอดผู้เสียชีวิต 68 ราย และปอดอักเสบจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้าจำนวนถึง 2,807 ราย (ข้อมูลวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2563)
ประการที่ 2 คือ การแบ่งกันเสพ บุหรี่มวนเดียวกัน หรือการใช้บุหรี่ไฟฟ้าร่วมกัน อาจจะส่งผลต่อการติดเชื้อโควิด-19 ได้จากทางน้ำลายหรือเสมหะ ดังจะเห็นได้จากที่มีข่าว คนไทย 11 คนติดเชื้อจากการสูบบุหรี่ ดื่มเหล้าร่วมกับชาวฮ่องกงในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ดังนั้น ช่วงเวลานี้ จึงเป็นเวลาอันสมควรที่จะเลิกบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อเสริมสร้างสุขภาพปอดให้แข็งแรง ลดความเสี่ยงต่อการติดไวรัสโควิด-19″ ดร.วศิน กล่าว
นอกจากนี้ องค์กรด้านเด็กและเยาวชน 17 องค์กร ได้ร่วมกันอ่านแถลงการณ์และมีข้อเสนอต่อ สถานการณ์ความเสี่ยงของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยมีจุดยืนและข้อเสนอ ดังนี้
1.ขอให้เด็กและเยาวชนปฏิบัติตามข้อแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยเคร่งครัด ไม่กระทำการใดๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนร่วมเฝ้าระวังแจ้งเหตุบุคคลกลุ่มเสี่ยงหรือสถานการณ์ที่มีความเสี่ยง
2.ขอเรียกร้องต่อเพื่อนเยาวชน ให้หยุดพฤติกรรมการสังสรรค์ การรวมกลุ่มที่มีความเสี่ยง รวมถึงงดเข้าไปในพื้นที่ที่ถูกระบุเป็นสถานที่ห้าม เช่น สถานบันเทิง ผับบาร์ สนามมวย ฯลฯ ตลอดจนขอให้งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ ซึ่งจะไปเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและเพิ่มความรุนแรงของโรค
3.ขอให้เด็กและเยาวชนติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างมีสติ จากแหล่งที่มาที่เชื่อถือได้หลีกเลี่ยงการส่งต่อข้อมูลที่มีที่มาไม่ชัดเจน ไม่น่าเชื่อถือหรือข้อมูลที่อาจสร้างความสับสนเข้าใจผิด สร้างความเกลียดชัง ความตื่นกลัว(เฟคนิวส์)
4.ขอให้รัฐบาล จัดหาหน้ากากอนามัยและเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ แจกฟรีให้กับประชาชน ซึ่งเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย มาตรา 47 …บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
และ 5.ขอเรียกร้องต่อผู้ประกอบการ บริษัทห้างร้านต่างๆ อาทิ สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงทุกแบรนด์ ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อทั้งรายใหญ่และรายย่อย ได้ถือโอกาสแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม ด้วยการจัดเตรียมจุดล้างมือ สบู่ น้ำ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า ประชาชนได้ดูแลสุขอนามัย ล้างมือให้เป็นกิจวัตรประจำวัน
โดยเร็วๆ นี้เครือข่ายจะประสานกับเพื่อนอาชีวะ เพื่อช่วยกันออกแบบอุโมงค์ล้างมือต้นแบบ เพื่อส่งต่อให้บริษัทต่างๆ ไปขยายผลต่อ
ท่ามกลางสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หากประชาชนตระหนักและป้องกันตนเองอย่างถูกวิธีและไม่สร้างปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อ นับว่าเป็นหนึ่งในการสกัดการระบาดโดยเริ่มได้จากตัวคุณเอง