รีเซต

สวนสัตว์โคราชเตรียมปล่อยนกกระเรียนพันธุ์ไทย 13 ตัว หวังเพิ่มประชากร ในธรรมชาติ

สวนสัตว์โคราชเตรียมปล่อยนกกระเรียนพันธุ์ไทย 13 ตัว หวังเพิ่มประชากร ในธรรมชาติ
มติชน
18 กรกฎาคม 2565 ( 10:36 )
70
สวนสัตว์โคราชเตรียมปล่อยนกกระเรียนพันธุ์ไทย 13 ตัว หวังเพิ่มประชากร ในธรรมชาติ

สวนสัตว์โคราชเตรียมปล่อยนกกระเรียนพันธุ์ไทยคืนสู่ธรรมชาติ 13 ตัว เดือน ส.ค.65 นี้ หวังเพิ่มประชากรนกกระเรียนที่เคยสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติ กว่า 50 ปี ระบุ หาก ปชช. พบเจอนกกระเรียนทำรังรีบแจ้ง จนท.รัฐ รับทันที รังละ 3,000 บาท ตามโครงการอุปถัมภ์รังนกกระเรียนพันธุ์ไทย

วันที่ 18 กรกฎาคม 2565 นายธนชน เคนสิงห์ ผู้อำนวยการสวนสัตว์นครราชสีมา เปิดเผยว่า นกกระเรียนพันธุ์ไทยเคยสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติ ในประเทศไทย มานานกว่า 50 ปี และเมื่อปี 2532 สวนสัตว์นครราชสีมา ได้รับบริจาคลูกนกกระเรียนพันธุ์ไทย จากประชาชนแนวชายแดนเขมร จำนวน 10 ตัว ได้ เพาะเลี้ยงขยายพันธุ์เรื่อยมา จนได้ลูกนกตัวแรกในปี 2540 ด้วยวิธีการขยายพันธุ์แบบธรรมชาติ และประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง ถือว่าเป็นที่แรกในด้านการผสมเทียมนกกระเรียนพันธุ์ไทย ในปี 2545

ธนชน เคนสิงห์

สวนสัตว์นครราชสีมาเป็นศูนย์การเพาะขยายพันธ์นกกระเรียนพันธ์ไทยที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียอาคเนย์ ทำให้ได้รับการยอมรับจาก มูลนิธินกกระเรียนสากล (International Crane Foundation) รัฐวิสคอนซิล สหรัฐอเมริกา ให้เป็นศูนย์เพาะเลี้ยงนกกระเรียนพันธุ์ไทย ของโลก

ทั้งนี้ องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ได้มีการริเริ่มโครงการปล่อยนกกระเรียนพันธุ์ไทยคืนสู่ธรรมชาติตั้งแต่ปีงบประมาณ 2551 จากแนวคิดของผู้บริหารของ 3 หน่วยงาน ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการด้านสัตว์ป่า ระหว่างกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย

จนกระทั่ง ในปี 2552 – 2556 องค์การสวนสัตว์ ได้รับงบประมาณแผ่นดิน ให้จัดทำโครงการวิจัย เรื่อง “การเตรียมความพร้อมเพื่อนำประชากรนกกระเรียนพันธุ์ไทยจากสภาพเพาะเลี้ยงกลับคืนสู่ชุ่มน้ำในจังหวัดบุรีรัมย์ และมีการปล่อยนกกระเรียนกลุ่มแรกคืนสู่ธรรมชาติเมื่อปี 2554

หลังจากนั้นได้มีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งปี 2558 – 2562 จึงได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก ภายใต้โครงการ “อนุรักษ์ถิ่นอาศัยของพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ที่มีความสำคัญระดับโลกในพื้นที่ภาคการผลิต”

จนกระทั่ง ปี 2564 มีนกกระเรียนพันธุ์ไทยที่เพาะขยายพันธุ์ได้ถูกปล่อยคืนสู่ธรรมชาติไปแล้ว ทั้งสิ้น 133 ตัว รอดชีวิตทั้งสิ้น 90 ตัว คิดเป็นอัตราการรอดหลังการปล่อย 67.66% รวมถึงมีลูกนกกระเรียนพันธุ์ไทยที่สามารถเกิดในธรรมชาติแล้ว จำนวน 25 และถือเป็นโครงการต้นแบบของการปล่อยสัตว์คืนสู่ธรรมชาติของประเทศไทยที่ประสบผลสำเร็จ

และในปีงบประมาณ 2565 สวนสัตว์นครราชสีมา ได้กำหนดโครงการปล่อยนกกระเรียนพันธุ์ไทย ในวันที่ 10 สิงหาคม 2565 นี้ ที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ จำนวนทั้งสิ้น 13 ตัว เพื่อเพิ่มจำนวนนกกระเรียนพันธุ์ไทยที่ตัวใหญ่ที่สุดในโลก

นายธนชน กล่าวอีกว่า สวนสัตว์นครราชสีมา ปัญหาการปล่อยกลุ่มนกกระเรียนพันธุ์ไทยกลุ่มแรกคืนสู่ธรรมชาติเมื่อปี 2554 นั้น ภาระกิจการปล่อยนกกระเรียนพันธุ์ไทยนั้น ยังคงมีการไล่ล่าจากการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของประชาชนที่อยู่โดยรอบพื้นที่ชุ่มน้ำ และแหล่งพื้นที่เกษตรกรรมของชุมชน

รวมทั้งการใช้ยาปราบศัตรูพืชในพื้นที่การเกษตร เช่น ยากำจัดหอย ยากำจัดปู ยากำจัดหนู ยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลง ซึ่งมีผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อประชากรนกกระเรียนพันธุ์ไทย อีกทั้งการสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัย เนื่องจากการเสื่อมสภาพของถิ่นอาศัยและแหล่งอาหาร รวมไปถึงแหล่งน้ำที่ไม่เพียงพอ และทัศนคติส่วนบุคคลที่ไม่ดีต่อนกกระเรียนพันธุ์ไทย เช่น เข้าใจว่าเป็นตัวรบกวนและทำให้ผลผลิตด้านเกษตรกรลดน้อยลง

ดังนั้น เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้ องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ร่วมมือกับสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย จึงได้ดำเนินการด้านการเผยแพร่ความรู้ สร้างจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมในด้านการอนุรักษ์ให้กับชุมชนท้องถิ่นและประชาชนทั่วไป ผ่านโครงการ กระเรียนอุปถัมภ์ ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจสามารถมีส่วนร่วม ในการอุปถัมภ์ รังนกกระเรียนพันธุ์ไทย เพื่อเป็นการชดเชยความเสียหายทางการเกษตร ที่เกิดจากการใช้พื้นที่ของนกกระเรียนพันธุ์ไทย ในการทำรังบนนาข้าวและพื้นที่เกษตรกร และช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินการติดตามและเก็บข้อมูลการทำรังของเจ้าหน้าที่ภาคสนาม

โดยรายละเอียดการอุปถัมภ์ มีค่าใช้จ่าย 6,500 บาท / รังแบ่งค่าใช้จ่าย เป็นค่าตอบแทนผู้แจ้งข่าว รังละ 500 บาท ค่าตอบแทนเจ้าของที่นา รายละ 3,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการติดตามรัง รังละ 1,000 บาท ค่าจัดทำรายงาน ของที่ระลึก และค่าดำเนินการ 2,000 บาท

ข่าวที่เกี่ยวข้อง