รีเซต

สธ.ออกแนวทางรักษาโควิดแบบ OPD เผยต่างจาก HI ที่ไม่มียา-อุปกรณ์ แพทย์โทร 1 ครั้ง

สธ.ออกแนวทางรักษาโควิดแบบ OPD เผยต่างจาก HI ที่ไม่มียา-อุปกรณ์ แพทย์โทร 1 ครั้ง
มติชน
28 กุมภาพันธ์ 2565 ( 17:45 )
98

ข่าววันนี้ 28 กุมภาพันธ์ ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ แถลงการปรับระบบดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ว่า วันที่ 1 มีนาคมนี้ ได้ เพิ่มการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 เป็นผู้ป่วยนอก หรือ OPD ซึ่งเป็นไปตามความสมัครใจ รองรับผู้ป่วยไม่มีอาการ อาการน้อย ไม่มีความเสี่ยง เป็นมาตรการเสริมจากระบบรักษาที่บ้านและชุมชน (Home and Community Isolation) ลดภาระโรงพยาบาล (รพ.) และการใช้ทรัพยากรบุคคล ส่วนความแตกต่างผู้ป่วยนอก กับระบบ HI คือผู้ป่วยนอกจะมีแพทย์ติดตามอาการหลังตรวจคัดกรองภายใน 48 ชั่วโมง แต่หากมีอาการเปลี่ยนแปลงสามารถติดต่อกลับได้ทุกเวลา ไม่มีอุปกรณ์ตรวจประเมิน เช่น ปรอทวัดไข้และเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว และไม่มีอาหารให้ หลังดำเนินการจะมีการประเมินระบบเป็นระยะ

 

“ที่ประชุม สธ.เห็นชอบระบบคัดกรองเพื่อเตรียมเข้าสู่ภาวะ Endemic ด้วยการเอาระบบ OPD มาเสริม หากมีอาการทางเดินหายใจ เป็นคนเสี่ยงสูง เข้าข่ายสงสัยติดเชื้อให้ตรวจ ATK ที่บ้าน หากเป็นลบ ให้ปฏิบัติตามมาตรการ DMHTT แต่หากเป็นบวก สามารถทำได้ 2 ทาง คือสายด่วน 1330 ที่จะประเมินความเสี่ยงและอีกทางให้ติดต่อที่คลินิกโรคระบบทางเดินหายใจ (ARI Clinic) ของสถานพยาบาลนั้นๆ เพื่อประเมินความเสี่ยง ซึ่งกรณีผู้ติดเชื้อกลุ่ม 608 แพทย์ดูแลอาจใช้การเข้ารักษา แต่หากอาการไม่มากก็จะให้ใช้ HI/CI First หรือ ฮอสปิเทล” นพ.สมศักดิ์กล่าว

 

นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า ส่วนของผู้ติดเชื้อไม่มีอาการ ไม่มีความเสี่ยงก็สามารถใช้การรักษา OPD เพื่อแยกกักตัวเองที่บ้านได้เสริมจาก HI/CI แต่จะไม่มีแพทย์ติดต่อในทุกวันเหมือนกับ HI ต้องยอมรับว่าผู้ติดเชื้อมากขึ้น ต้องใช้ทรัพยากรบุคคลให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด และด้วยการประเมินเบื้องต้นแล้วไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อย ตามหลักการแล้วก็จะไม่มีความเสี่ยง

 

“ส่วนจำนวนเตียงในโรงพยาบาล (รพ.) ขณะนี้ยังเพียงพอ แต่หากมีจำนวนผู้ติดเชื้อมากขึ้น ทางที่ประชุมการรักษาพยาบาลกรุงเทพมหานครมีมติให้กรมการแพทย์ทำหนังสือแจ้งไปยัง รพ.เครือข่ายให้เตรียมพร้อมลดเตียงผู้ป่วย Non-Covid มารองรับผู้ป่วยโควิด-19 ร้อยละ 15-20 และเพิ่มบุคลากรมาใช้กับผู้ป่วยโควิดด้วย

 

“กรณีข้อกังวลว่าการรักษาในระบบผู้ป่วยนอกจะสามารถเคลมประกันได้หรือไม่ ได้พูดคุยกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่ง คปภ.ต้องไปดำเนินการต่อ แต่หลักๆ ต้องดูว่าประกันของผู้ป่วยครอบคลุมกรณีเป็นผู้ป่วยนอกหรือไม่ หากไม่ครอบคลุมก็ให้เข้าสู่ระบบ HI เพราะ HI มีการประกาศเป็นทางการว่าเป็นผู้ป่วยใน สามารถประเมินเป็นรายๆ ได้” นพ.สมศักดิ์กล่าว

 

ด้าน รศ.นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิกรมการแพทย์ กล่าวว่า จากการพิจารณาจัดทำแนวทางการรักษาโรคโควิด-19 ฉบับล่าสุด คือฉบับที่ 20 ซึ่งจะมีแนวทางสำหรับการรักษาผู้ติดเชื้อแบบผู้ป่วยนอก ทั้งนี้รายละเอียดการให้ยา ดังนี้ 1.ผู้ป่วยไม่มีอาการ พบกว่าร้อยละ 90 อยากให้มีการรักษาที่บ้าน หรือแบบผู้ป่วยนอก อาจจะมีอาการคันคอ จะไม่มีการให้ยาต้านไวรัสฟาวิพิราเวียร์ เนื่องจากส่วนมากหายเองได้ และไม่ต้องเสี่ยงจากผลข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ตาสีฟ้า เสี่ยงดื้อยา และไม่แนะนำใช้ในหญิงตั้งครรภ์ โดยเฉพาะตั้งครรภ์อ่อนๆ เพราะพบว่ามีผลต่อตัวอ่อนในสัตว์ทดลอง อย่างไรก็ตาม ผู้ติดเชื้อกลุ่มนี้อาจพิจารณาให้ฟ้าทะลายโจรให้ตามดุลพินิจแพทย์ แต่ไม่ให้ในเด็ก คนท้อง ต้องไม่ป่วยโรคตับ ไม่ใช้ร่วมยาต้านไวรัสอื่น ให้นอนอยู่บ้าน

 

รศ.นพ.ทวีกล่าวว่า 2.กรณีมีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยง ไม่มีโรคร่วม แพทย์เป็นคนพิจารณาว่าจะให้ฟาวิพิราเวียร์หรือไม่ หากให้ต้องหยุดกินฟ้าทะลายโจร อย่างไรก็ตาม หากตรวจพบเชื้อมีอาการเกิน 5 วัน การให้ยาต้านอาจจะไม่มีประโยชน์แล้ว 3.กรณีผู้ป่วยอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น มีไข้ 38-39 อายุ 65 ปีขึ้น มีโรคร่วม แพทย์พิจารณาแอดมิทใน รพ. เพราะเสี่ยงที่โรคจะพัฒนารุนแรงขึ้น ส่วนยาที่ใช้จะมีหลายตัว ส่วนกลุ่มที่ 4 ซึ่งอาการรุนแรงนั้นอยู่ใน รพ.อยู่แล้ว แพทย์จะพิจารณาการรักษาที่เหมาะสม

 

“ห้ามเด็ดขาดที่จะบอกว่าการรักษาแบบ OPD เป็นการรักษาไป-กลับ ซึ่งไม่ใช่ เพราะคำว่าไป-กลับ หมายความว่าสามารถออกไปข้างนอกได้ แต่การรักษาแบบ OPD โควิด-19 นี้ให้อยู่ที่บ้านกักตัว 7 วันเป็นอย่างน้อย ระหว่าง 7 วันนี้ ต้องติดต่อกับทางการแพทย์ เพื่อให้รู้ว่าท่านอยู่จุดไหน ซึ่งส่วนใหญ่ โรคจะค่อยๆ หายเอง ดังนั้น การรักษาด้วยยาให้แพทย์เป็นผู้พิจารณา” รศ.นพ.ทวีกล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง