รีเซต

27% อยากปาร์ตี้สงกรานต์ สธ.ห่วงทำโควิดแพร่ แนะปรับบ้านให้ปลอดภัย

27% อยากปาร์ตี้สงกรานต์ สธ.ห่วงทำโควิดแพร่ แนะปรับบ้านให้ปลอดภัย
มติชน
30 มีนาคม 2565 ( 14:53 )
51
27% อยากปาร์ตี้สงกรานต์ สธ.ห่วงทำโควิดแพร่ แนะปรับบ้านให้ปลอดภัย

เมื่อวันที่ 30 มีนาคม  นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย แถลงที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ถึงแนวทางการจัดบ้านสะอาดปลอดเชื้อ ชุมชนสะอาดปลอดโควิด-19 เตรียมพร้อมก่อนวันสงกรานต์และเดือนรอมฎอน ว่า สถานการณ์โควิด-19 ปัจจุบันเป็นสิ่งที่ประมาทไม่ได้ จึงต้องเตรียมบ้าน ชุมชนให้สะอาดปลอดเชื้อเพื่อให้ทุกคนปลอดภัย ข้อมูลที่ สธ.เสนอต่อศูนย์บริหารสถานการณ์โรคโควิด-19 (ศบค.) คาดการณ์ว่าหากประชาชนย่อหย่อยมาตรการส่วนบุคคลจะทำให้ผู้ติดเชื้อรายใหม่จะเพิ่มขึ้นรายวัน โดยผลสำรวจอนามัยโพลการปฏิบัติตาม Universal Prevention คือ สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง และ ล้างมือ พบว่า ปฏิบัติได้ครบถ้วนร้อยละ 80 ต่อเนื่องตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 – มีนาคม 2565 ขณะที่ ผลสำรวจอนามัยอีเวนต์โพล ประเด็นการวางแผนเข้าร่วมสงกรานต์ของประชาชน พบว่า อยู่บ้าน ไม่มีแผนไปไหน ไม่นัดรวมกลุ่ม ร้อยละ 50 ร่วมกิจกรรมที่วัด ตักบาตร สรงน้ำพระ ร้อยละ 33 รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ ร้อยละ 31 และ กินข้าว สังสรรค์กับครอบครัว เพื่อน ร้อยละ 27

 

“ทั้งนี้ เราพบว่าพฤติกรรมการป้องกันในครัวเรือนมีแนวโน้มดีขึ้น เมื่อบเทียบระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ กับเดือนมีนาคม สวมหน้ากากอนามัย เพิ่มจาก ร้อยละ 68 เป็น ร้อยละ 72 ทำความสะอาดพื้นผิวในบ้าน เพิ่มจาก ร้อยละ 79 เป็น ร้อยละ 80 ส่วนการคัดแยกขยะ/ชุดตรวจ ATK ที่ใช้แล้วมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ที่ ร้อยละ 81-84 อย่างไรก็ตาม ข้อกำจัดเรื่องนี้คือ ไม่ได้ทำประจำ เวลาไม่และอุปกรณ์ไม่เพียงพอ รวมถึงไม่มีถังขยะแยกจึงต้องทิ้งรวมกันกับขยะทั่วไป” นพ.สุวรรณชัย กล่าว

 

ด้าน นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สำหรับการเตรียมบ้านรองรับสงกรานต์ กรมอนามัยข้อเน้นย้ำ 4 ประเด็น ด้านสิ่งแวดล้อมในบ้านและชุมชน คือ 1.การจัดสภาพแวดล้อม 2.ระบายอาการ 3.ทำความสะอาด และ 4.จัดการขยะติดเชื้อที่ถูกต้อง โดยสามารถปรับใช้ได้ตามบริบทและข้อจำกัดของแต่ละบ้าน เน้นย้ำในจุดที่เสี่ยงสูง ได้แก่ จุดสัมผัสร่วม เปิดประตูระบายอากาศห้องต่างๆ 15 นาที ขณะที่ การเปิดเครื่องปรับอากาศ ต้องทำความสะอาดเสมอ ควรเปิดประตูเพื่อระบายอากาศทุก 1-2 ชั่วโมง

“อย่างไรก็ตาม หากพบภายหลังว่ามีการติดเชื้อในบ้าน จะแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ห้องแยก สามารถแยกได้ทันที แยกของใช้ส่วนตัว แยกถังขยะ ส่วนไม่มีห้องแยก สามารถกั้นพื้นที่ด้วยฉากกั้น เพื่อเว้นระยะห่าง การใช้ห้องน้ำ ขอให้ผู้ติดเชื้อใช้หลังสุดพร้อมทำความสะอาดทันที ทั้งนี้ การกำจัดขยะติดเชื้อให้ใส่แยกในถุงแดง หรือถุงดำ พร้อมฉีดแอลกอฮอล์ ร้อยละ 70 หรือน้ำยาฟอกขาว มัดปากถุงแล้วใส่ถุงแยกชั้นที่ 2 อีกครั้ง นำไปทิ้งในถังขยะติดเชื้อ” นพ.อรรถพล กล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง