25 มิถุนายน 2564 วันไอโอดีนแห่งชาติ : โลกของความเค็มที่ต้องรู้จักเลือก!
วันไอโอดีนแห่งชาติ ชวนให้นึกถึงเกลือที่ดี!!! นอกจากคนกินยังต้องได้ประโยชน์และคนปรุงต้องเลือกความเค็มให้พอดี ด้วยสถานการณ์โรคระบาดที่ทำให้หลายคนต้องใช้ชีวิตอยู่ติดบ้านมากขึ้น ต้อง Work From Home กันมากขึ้น ทำให้หลายคนเลือกที่จะทำอาหารเองมากขึ้น ไม่เพียงแต่ลดภาระค่าใช้จ่าย ช่วยประหยัดเพิ่มเงินออมได้ แต่ยังปลอดภัยต่อสุขภาพตัวเองและคนในครอบครัวด้วยเช่นกัน
เนื่องจากการ "ปรุงอาหาร" สามารถเลือกวัตถุดิบ เครื่องปรุง จุดเริ่มต้นช่วยปรับพฤติกรรม "คนกิน" ในการสร้างสุขภาพที่ดีได้เลยทีเดียว ดังนั้น วันนี้ TrueID จะขอหยิบยกเรื่องความเค็มของเกลือที่มีทั้งข้อดีและข้อเสียที่ส่งผลต่อสุขภาพ ขาดไปก็ไม่ดี มากไปก็ไม่ดี ด้วยสูตร 6 : 6 : 1 นั่นคือ กินน้ำตาลไม่เกินวันละ 6 ช้อนชา น้ำมันไม่เกิน 6 ช้อนชา และเกลือไม่เกิน 1 ช้อนชา
ทำไม? ต้องกินเกลือไม่เกิน 1 ช้อนชา เนื่องจากการกินเค็ม หรือโซเดียมมากเกินไปนั้นทำให้เสี่ยงต่อภาวะความดันโลหิตสูงและโรคไตได้ และเราไม่อาจปฏิเสธได้ว่า แหล่งที่มาของโซเดียมไม่ใช่แค่เกลือเท่านั้น แต่โซเดียมยังแฝงในอาหารต่าง ๆ เช่น อาหารสำเร็จรูป อาหารหมักดอง อาหารแปรรูปขนมขบเคี้ยว ซึ่งเป็นอาหารที่หลายคนนิยมเลือกบริโภค อาจเป็นไปได้ที่มีความสะดวกรวดเร็ว ไปจนถึงเครื่องปรุงรสนานาชนิดจากร้านอาหารนอกบ้าน ฉะนั้น เราควรบริโภคโซเดียม
- ไม่เกินวันละ 1 ช้อนชาต่อวัน หรือ 2,000 มิลลิกรัม
- ควรชิมก่อนปรุงทุกครั้ง
- ปรุงรสชาติอาหารที่พอเหมาะ
เลือกความเค็มอย่างไรให้พอดี?
นอกจากการปรับพฤติกรรมในการกินเค็มที่ต้องบริโภคโซเดียมไม่เกินวันละ 1 ช้อนชาต่อวัน หรือ 2,000 มิลลิกรัมเท่านั้น แต่ยังต้องเลือกเกลือในการปรุงอาหาร ซึ่งต้องเลือกเกลือเสริมไอโอดีนวันละไม่เกิน 1 ช้อนชาด้วยเช่นกัน
ด้วยเพราะ โรคขาดสารไอโอดีน เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย ซึ่งการขาดไอโอดีนนั้น เป็นสาเหตุหนึ่งของความพิการทางสติปัญญา แต่สามารถป้องกันได้ จากสถานการณ์เฝ้าระวังโรคขาดสารไอโอดีนในกลุ่มเสี่ยงของประเทศไทย ยังพบการขาดสารไอโอดีนในหญิงตั้งครรภ์ โดยเฉพาะในภาคเหนือตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งนี้ พื้นที่ขาดสารไอโอดีน คือ พื้นที่ที่มีค่ามัธยฐานไอโอดีนในปัสสาวะหญิงตั้งครรภ์น้อยกว่า 150 ไมโครกรัมต่อลิตร ซึ่ง ปี 2561 พบค่ามัธยฐานไอโอดีนในปัสสาวะหญิงตั้งครรภ์ 131.7 ไมโครกรัมต่อลิตร สิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการทางสมองของทารกในครรภ์ ขาดไอโอดีนรุนแรงอาจทำให้...
- แท้ง
- ทารกพิการแต่กำเนิด
- ปัญญาอ่อน
- ร่างกายแคระ
- แกร็น
ในผู้ใหญ่หากขาดไอโอดีน จะทำให้เกิด
- ภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ
- เฉื่อยชา
- อ่อนเพลีย
- ประสิทธิภาพการทำงาน ลดลง
และนี่คงสะท้อนให้เห็นได้แล้วว่า การกินเกลือ หรือเติมความเค็มนั้นต้องพอดี เพราะมีทั้งประโยชน์และโทษต่อสุขภาพร่างกายได้ อะไรที่เกินพอดีย่อมก่อเกิดโรคได้ง่าย มาดูแลสุขภาพของตัวเองและครอบครัวด้วยการใช้เกลือเสริมไอโอดีนปรุงอาหารไม่เกินวันละ 1 ช้อนชาต่อวัน หรือ 2,000 มิลลิกรัม กันนะ ลดเค็ม ลดโรคได้
รู้จัก วันไอโอดีนแห่งชาติ
วันที่ 25 มิถุนายน 2540 เป็นวันที่สภาการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีนนานาชาติ (International Council for Control of Iodine Deficiency Disorders, ICCIDD) ได้ทูลเกล้าถวายเหรียญทอง ICCIDD แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพราะพระองค์ทรงวินิจฉัยปัญหา และพระราชทานแนวทางการควบคุมป้องกันโรคขาดสารไอโอดีน จนทำให้โรคขาดสารไอโอดีนลดน้อยลงจนอยู่ในระดับที่ควบคุมได้
นับเป็นพระมหากษัตริย์องค์แรกพระองค์เดียวของโลกที่ได้รับรางวัลดังกล่าว คณะรัฐมนตรีจึงได้ลงมติเห็นชอบให้วันที่ 25 มิถุนายน ของทุกปี เป็นวันไอโอดีนแห่งชาติ
กินเค็มแบบนี้ รับรองปลอดภัย!
ช้อนชา หมายถึง ช้อนที่มีขนาดเล็กกว่าช้อนกินข้าว ใช้คนชาหรือกาแฟ หรือช้อนยาน้ำของเด็ก ทั้งนี้ คนธรรมดาทั่วไป ๆ ควรกินเกลือได้ไม่เกินวันละ 1 ช้อนชา (2,000 มิลลิกรัม) ส่วนบ้านไหนที่มีผู้สูงอายุ หรือมีคนไข้ความดันโลหิตสูง ควรกินโซเดียมน้อยกว่าคนธรรมดา คือไม่เกินวันละ 1,500 มิลลิกรัม ก็คือ เกลือประมาณสามในสี่ส่วนช้อนชา (3/4 ช้อนชา)
ส่องเครื่องปรุงอาหาร เค็มให้พอดี ไม่เกิดโรค
เกลือ 1 ช้อนชา = โซเดียม 2,000 มิลลิกรัม
ผงชูรส 1 ช้อนชา = โซเดียม 610 มิลลิกรัม
น้ำปลา 1 ช้อนชา = โซเดียม 500 มิลลิกรัม
ปลาร้า 1 ช้อนชา = โซเดียม 500 มิลลิกรัม
กะปิ 1 ช้อนชา = โซเดียม 400 – 500 มิลลิกรัมฃ
ซุปก้อน 1 ก้อน = โซเดียม 1,760 มิลลิกรัม
ข้อมูล : วิกิพีเดีย, สสส.