รีเซต

สธ. ห่วงคนแก่-ป่วยติดเตียง อยู่บ้านยังติดโควิด ขอช่วยป้องกันอย่าเอาเชื้อเข้าบ้าน

สธ. ห่วงคนแก่-ป่วยติดเตียง อยู่บ้านยังติดโควิด ขอช่วยป้องกันอย่าเอาเชื้อเข้าบ้าน
ข่าวสด
6 กุมภาพันธ์ 2564 ( 22:30 )
48
สธ. ห่วงคนแก่-ป่วยติดเตียง อยู่บ้านยังติดโควิด ขอช่วยป้องกันอย่าเอาเชื้อเข้าบ้าน

สธ.ห่วงผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง ติดโควิด หลังพบ 2 กรณีนำเชื้อมาติดถึงบ้าน ย้ำต้องสวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง กินข้าวแยกสำรับ ป้องกันเอาเชื้อเข้าบ้าน

 

 

เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2564 นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทน ผอ.กองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สัปดาห์ที่ผ่านมาพบผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงสุด เมื่อวันที่ 1 ก.พ. และ 2 ก.พ. วันละ 836 ราย ส่วนปลายสัปดาห์มีการติดเชื้อลดลงเหลือ 586 ราย และวันนี้ 490 ราย อยากขอเน้นย้ำเรื่องของการป้องกันการติดเชื้อโควิด 19 ในผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง และผู้มีโรคประจำตัว ซึ่งกลุ่มนี้ไม่ค่อยได้ออกจากบ้าน แต่ติดเชื้อจากการที่มีคนในครอบครัวหรือคนดูแลที่ติดเชื้อจากข้างนอกและนำมาสู่ในบ้าน

 

เช่น กรณีผู้ป่วยติดเตียงเพศชายอายุ 95 ปี มีโรคประจำตัว ติดเชื้อโควิด 19 จากแรงงานพม่าที่จ้างมาดูแล 3 คน เป็นหญิงอายุ 24 ปี 20 ปี และ 36 ปี หรือกรณี อ.แม่สอด จ.ตาก ที่มีผู้ป่วยสัญชาติพม่าอายุ 75 ปี อยู่แต่ในบ้าน มีการติดเชื้อเชื่อมโยงกับสมาชิกครอบรัว ญาติ ที่เข้าออกบ้าน และมีการขยายวงติดเชื้อ 11 ราย ในจำนวนหลายครอบครัว

 

 

"ความเสี่ยงลักษณะนี้ ทั้งในส่วนคนเข้าออกบ้าน ลูกจ้างแรงงานต่างด้าว และคนไทยด้วยกันเอง ก็ควรระมัดระวัง ยิ่งเรากำลังเข้าเทศกาลตรุษจีน ที่มีการแสดงความผูกพันใกล้ชิดในครอบครัว มาเจอผู้ใหญ่ รับประทานอาหารร่วมกัน แต่ยุคชีวิตวิถีใหม่ยังต้องระวังเรื่องการรักษาระยะห่าง ผู้สูงอายุแม้จะไม่มีโรคประจำตัวเราก็ต้องช่วยระวังป้องกันให้ท่าน กลับมาบ้านอาบน้ำ สวมหน้ากากเป็นประจำแม้อยู่ในบ้านเพื่อป้องกันผู้อาวุโสในบ้าน การร่วมรับประทานอาหารควรแยกสำรับ และพูดคุยกันในจังหวะที่สวมหน้ากาก หากไม่สามารถไปพบปะแบบเจอหน้าร่วมโต๊ะ ก็ใช้การสื่อสารเห็นหน้ากันได้ ผ่านแอปพลิเคชัน ช่วยลดการสัมผัสแพร่กระจายเชื้อ"

 

นพ.เฉวตสรร กล่าวอีกว่า สำหรับแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย กระทรวงแรงงานเปิดให้ลงทะเบียนถึงวันที่ 13 ก.พ.นี้ บ้านใดที่มีแรงงานต่างด้าวมาดูแลผู้ป่วยในบ้าน ทำความสะอาด เป็นแม่บ้าน ขอให้สอบถามเรื่องนี้ ถ้ายังไม่ได้ขึ้นทะเบียนก็ให้ไปขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง เพื่อดูแลเรื่องสุขภาพสิทธิประโยชน์เมื่อเจ็บป่วย

 

นพ.เฉวตสรร กล่าวต่อว่า สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด 19 มีการฉีดแล้ว 104 ล้านโดสภายใน 57 วัน ทันกับจำนวนผู้ติดเชื้อที่มีประมาณ 104 ล้านรายเมื่อวันก่อน โดยในช่วง 7 วันที่ผ่านมามีการฉีดไปถึง 4.2 ล้านโดส ส่วนเรื่องอันตราย วัคซีนทุกตัวมีโอกาสเกิดอาการไม่พึงประสงค์เล็กน้อยทั้งหมด ส่วนวัคซีนใหม่อย่างโควิด 19 การได้ขึ้นทะเบียนใช้ภาวะฉุกเฉินมีการดูเรื่องความปลอดภัยเป็นอย่างแรก อาการไม่พึงประสงค์เล็กน้อยเกิดได้เหมือนวัคซีนอื่นๆ แต่ผลข้างเคียงจากวัคซีนจริงๆ ก็น้อยลงไปอีก ต่างประเทศมีการฉีดไปร้อยล้านโดสก็ยังไม่มีประเทศใดเกิดความกังวลจนต้องหยุดฉีด ขอให้มั่นใจการเลือกวัคซีนของไทยอิงตามวิชาการ มีผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นตรงไปตรงมา ซึ่งอาจารย์เหล่านั้นก็ฉีดวัคซีนด้วยเช่นกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง