รีเซต

ไวรัสโคโรนา : อย.ยืนยันชุด PPE มีเพียงพอให้บุคลากรทางการแพทย์ แต่อาจจัดให้ "ไม่ทันเวลา"

ไวรัสโคโรนา : อย.ยืนยันชุด PPE มีเพียงพอให้บุคลากรทางการแพทย์ แต่อาจจัดให้ "ไม่ทันเวลา"
บีบีซี ไทย
27 มีนาคม 2563 ( 18:13 )
328
1

นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ชี้แจงเรื่องการจัดหาวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข หลังจากบุคลากรบางส่วนออกมาเปิดเผยว่าอุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคลขาดแคลน ถึงขนาดที่โรงพยาบาลหลายแห่งต้องประกาศรับบริจาคอุปกรณ์เหล่านี้

นพ.ไพศาลอธิบายว่า ขณะนี้อุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคลหรือ PPE (Personal Protective Equipment) อาจเรียกได้ว่าเป็น "ยุทธปัจจัย" ในการต่อสู้กับโรคระบาด ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ๆ คือ หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ หน้ากากอนามัยชนิด N95 และชุด PPE ที่คลุมทั้งตัว

เลขาธิการ อย.กล่าวว่า อุปกรณ์เหล่านี้จะต้องได้รับการจัดสรรให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขอย่างเพียงพอและทันเวลา บุคลากรเหล่านี้ถึงจะปลอดภัยในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 หรือผู้ต้องสงสัย

แม้บุคลากรทางการแพทย์หลายคนจะออกมาเปิดเผยว่าอุปกรณ์เหล่านี้มีไม่เพียงพอ รวมทั้งแพทย์หญิงคนหนึ่งที่ให้สัมภาษณ์บีบีซีไทยว่า อุปกรณ์บางชิ้นต้องดัดแปลงทำขึ้นมาเองเพราะขาดแคลน แต่ นพ.ไพศาลเขายืนยันในวันนี้ว่า สธ. จัดสรรอุปกรณ์ PPE ให้เจ้าหน้าที่ที่มีความจำเป็นต้องใช้ทุกสังกัดอย่างเพียงพอ เช่น กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ทหาร ตำรวจ กรมราชทัณฑ์ สภากาชาดไทยและโรงพยาบาลในทุกสังกัด

ต่อไปนี้เป็นที่ เลขาธิการ อย. ชี้แจงข้อสงสัยเกี่ยวกับการจัดสรร PPE

BBC
นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตอบไม่ชัดเจนว่าสัดส่วนการจัดสรรอุปกรณ์ PPE ระหว่างหน่วยงาน สธ.และกลาโหมเป็นเท่าไหร่ แต่ยืนยันว่าเป็นไปตามสถานการณ์และลักษณะการใช้งานในแต่ละพื้นที่

การจัดหาอุปกรณ์ PPE

  • หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ (surgical mask)

องค์การเภสัชกรรม (อภ.) เป็นผู้จัดหาและกระจายหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ไปยังโรงพยาบาลสังกัด สธ. และโรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัย โดยโรงพยาบาลในสังกัด สธ. 7,129,350 ชิ้น/ต่อวัน และโรงพยาบาลนอกสังกัด สธ. 334,000 ชิ้น ส่วนโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยและคณะทันตแพทย์, โรงพยาบาลเอกชน และโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) จะซื้อตรงจากโรงงานผู้ผลิต

  • หน้ากาก N95 และชุด PPE

หน้ากากชนิดนี้ใช้เฉพาะกับแพทย์ พยาบาลและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยและผู้ทำหัตถการต่าง ๆ ซึ่ง อภ.เป็นหน่วยงานที่กระจายและจัดสรรไปยังโรงพยาบาลต่าง ๆ โดยคำนวณจากข้อมูลของกรมควบคุมโรคที่ระบุจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาและผู้ที่เข้าเกณฑ์เฝ้าระวังในโรงพยาบาลแต่ละแห่ง

Getty Images
หน้ากากอนามัยแบบ N95 เหมาะกับการป้องกันฝุ่นขนาดเล็กและบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาล

อภ. ยังได้จัดเตรียมชุด PPE และหน้ากาก N95 ไว้อีก 10,000 ชุดสำหรับโรงพยาบาลทุกสังกัดในกรุงเทพฯ ไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน เช่น ถ้าหากโรงพยาบาลใดขาดอุปกรณ์ชั่วคราว สามารถมาขอรับที่โรงพยาบาลราชวิถีหรือกรมการแพทย์ได้เลย ในเขตภูมิภาคก็มีชุด PPE สำรองฉุกเฉินเช่นกัน โดยสามารถเบิกได้ที่กองบริหารการสาธารณสุข

นอกจากนี้ สธ.ยังได้รับบริจาคอุปกรณ์ PPE จากประเทศจีนและมูลนิธิแจ๊ค หม่า รวมทั้งจากภาคเอกชนอื่น ๆ ด้วย จึงขอให้มั่นใจว่ามีเพียงพอ

สธ.ยืนยันมาตลอดว่าเพียงพอ แต่ทำไมยังมีเสียงบ่นจากบุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งโรงพยาบาลชุมชนว่าขาดแคลน

ขอยืนยันว่าอุปกรณ์มีเพียงพอ และมีกลไกในการประสานเพื่อขอรับการสนับสนุนในทุกระดับ แต่ยอมรับว่าการจัดส่งให้ยังอาจจะไม่ทันเวลา และชุด PPE ก็มีจำนวนไม่มากนัก อาจจะมีเฉพาะที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ หรือโรงพยาบาลศูนย์ หรือโรงพยาบาลทีมีผู้ป่วย แต่โรงพยาบาลชุมชนอาจจะไม่มี

สัดส่วนการจัดสรรอุปรณ์ PPE ให้หน่วยงานทางการแพทย์และหน่วยงานสังกัดกระทรวงกลาโหมเป็นอย่างไร

เราจัดสรรหน้ากากอนามัยชนิด N95 และชุด PPE ให้ทุกหน่วยงานทั้งสังกัด สธ.และนอกสังกัด สธ. เช่น ทหาร ตำรวจ เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ และโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยและเอกชน เพราะทุกคนต่างกำลังร่วมกันต่อสู้กับโรคโควิด-19 ไม่ได้มีการจัดสรรว่าหน่วยงานไหนได้มากหรือน้อยกว่าใคร แต่ดูตามข้อมูลจากกรมควบคุมโรคและหน่วยงานในพื้นที่ว่าพื้นที่ใดมีผู้ป่วยหรือผู้ต้องสงสัยเพิ่มขึ้น ก็จะมีเกณฑ์การจัดสรร เราดูแลผู้ปฏิบัติงานทุกคนให้ปลอดภัย การจัดสรรเป็นไปตามกฎเกณฑ์ทั้งการจัดสรรตามปกติและการสำรองในภาวะฉุกเฉิน

ปัจจุบันยังมีผู้ผลิตหน้ากากอนามัยซึ่งส่งให้ให้โรงพยาบาลเอกชนโดยตรงหรือไม่

หน้ากากอนามัยที่ผู้ผลิตจัดส่งให้โรงพยาบาลเอกชนและโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย เป็นการจัดสรรร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และอยู่ภายใต้การดูแลของกรมการค้าภายใน แต่ถ้าเป็นโรงพยาบาลในสังกัด สธ. องค์การเภสัชกรรมจะเป็นคนดูแลทั้งหมด

BBC

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง