หมอประสิทธิ์วอนสูงวัย 2.2 ล้านคน รับวัคซีนโควิด ก่อนเสี่ยง อย่าชะล่าใจโอมิครอนอ่อน
ข่าววันนี้ 22 มีนาคม ที่โรงพยาบาล (รพ.) ศิริราช ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ให้สัมภาษณ์ถึงการระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย ในระยะนี้จนถึงช่วงเทศกาลสงกรานต์ ว่าหากจำได้ ตนมักจะเตือนเรื่อง 4 เสี่ยง ที่เจอพร้อมกันเมื่อไรจะต้องระวังให้มาก ได้แก่ บุคคล กิจกรรม สถานที่ และ ช่วงเวลาเสี่ยง
ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวว่า ขณะนี้มีการผ่อนคลายกิจกรรมมาระยะหนึ่ง ทำให้ 3 เสี่ยงแรกเกิดขึ้น ส่วนช่วงเวลาเสี่ยงที่ใกล้มาถึงคือเทศกาลสงกรานต์ จากปีที่แล้ว หลังสงกรานต์พบว่าหลายอย่างเคลื่อนไปในทิศทางที่แย่ลง แต่จุดต่างปีนี้คือวัคซีน รวมถึงโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ที่ความรุนแรงลดลงจากปีที่แล้ว
“และอีกจุดเปลี่ยนคือการพยายามผ่อนคลายกิจกรรมต่างๆ หลังจากประเทศไทยเดินมาระยะหนึ่ง ผ่านจุดทดสอบเมื่อช่วงเทศกาลปีใหม่ จะเห็นว่าหลังปีใหม่ตัวเลขเราเกือบจะไม่ขึ้น ถือว่าเราร่วมมือกันทำได้ดี ต่อมาหลังตรุษจีน ตัวเลขเริ่มขึ้น เชื่อว่าหลายคนที่ไม่ได้เดินทางใน 2 ปีที่ผ่านมา สงกรานต์ปีนี้คงอยากเดินทาง จะเกิดการเคลื่อนย้ายระหว่างจังหวัดเยอะ
“สิ่งที่อาจเกิดขึ้นคือตัวเลขติดเชื้อต่อวัน เพราะเชื้อโอมิครอนติดง่ายอยู่แล้ว ขณะที่คนติดไม่มีอาการ ดังนั้น โอกาสที่ใครสักคนจะเดินทางไปหาครอบครัว มั่นใจว่าไม่มีเชื้อ หรืออาจไม่ตรวจเชื้อ ก็ต้องคิดว่าเราอาจนำเชื้อโควิด-19 ไปแพร่ต่อได้” ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าว
ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวอีกว่า สิ่งที่ไม่อยากเห็นคือตัวเลขผู้เสียชีวิต จากข้อมูลช่วง 3 สัปดาห์ของเดือนมีนาคม พบว่า ร้อยละ 50-60 เป็นผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 อีกร้อยละ 30 เป็นผู้ที่ฉีดวัคซีนเพียง 2 เข็ม ระยะเวลานานเกิน 3 เดือน ส่วนร้อยละ 5-10 คือคนที่ฉีดเข็มที่ 1 อย่างเดียว ฉะนั้น เมื่อรวมกันจึงมีกว่าร้อยละ 90
“นี่คือคนที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนเพียงพอ เราต้องแก้ตรงนี้ ต่อมาคือร้อยละ 80-90 ของผู้เสียชีวิต ตลอด 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา คือกลุ่ม 608 ฉะนั้น ถ้าเราอยากให้เทศกาลสงกรานต์เต็มไปด้วยความสุข ต่อเนื่องไปหลังสงกรานต์ ช่วงนี้จึงสำคัญในการเชิญชวนให้คนกลุ่มนี้ไปฉีดวัคซีน คนที่รับวัคซีน 2 เข็ม เกิน 3 เดือนแล้ว ขอให้รีบไปรับเข็มกระตุ้น (บูสเตอร์โดส)” ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าว
ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวว่า ตัวเลขผู้สูงอายุที่ยังไม่ไปรับวัคซีนแม้แต่เข็มเดียวมีราว 2.2 ล้านคน ซึ่งเหล่านี้จะเป็นกลุ่มเสี่ยง แม้เชื้อโอมิครอนไม่รุนแรง แต่ต้องดู 2 ปัจจัยร่วมด้วย คือตัวไวรัส และโลกนี้คนฉีดวัคซีนมากขึ้น ทำให้ไวรัสรุนแรงน้อยลง แต่ถ้าไม่ฉีดวัคซีน จะกลายเป็นความเสี่ยง แม้จะติดเชื้อโอมิครอน ฉะนั้น กลุ่ม 608 ต้องไปรับวัคซีน และฉีดต่อเนื่องไปจนถึงเข็มกระตุ้น
“สำหรับสงกรานต์ปีนี้ ผู้ที่จะกลับบ้าน กลับภูมิลำเนา เดินทางไปท่องเที่ยวก็ขอให้ตรวจหาเชื้อด้วยชุดตรวจ ATK ก่อนเดินทาง ส่วนการสวมหน้ากากอนามัยก็ยังมีความจำเป็น อยากให้ทุกคนนึกว่าเป็นการสวมเสื้อผ้า เพราะมีประโยชน์ชัดเจน ทั่วโลกสวมหน้ากากกันจนหวัดธรรมดา โรคอื่นๆ ก็น้อยลง รวมถึงการหมั่นล้างมือ เนื่องจากเป็นสุขอนามัยที่จำเป็นสามารถลดการติดเชื้อได้” ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวย้ำ