รีเซต

‘เทอร์โมสแกน’ ผู้ช่วยวัดไข้ โดยไม่ต้องใกล้ชิด ช่วงโควิด-19 ระบาด

‘เทอร์โมสแกน’ ผู้ช่วยวัดไข้ โดยไม่ต้องใกล้ชิด ช่วงโควิด-19 ระบาด
77ข่าวเด็ด
24 มีนาคม 2563 ( 11:07 )
239
‘เทอร์โมสแกน’ ผู้ช่วยวัดไข้ โดยไม่ต้องใกล้ชิด ช่วงโควิด-19 ระบาด

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ ไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในหลายประเทศทั่วโลก ส่งผลให้เกิดความวิตกกังวล โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ที่มีผู้คนอาศัยอยู่จำนวนมาก และสถานที่ที่มีคนจำนวนมากไปรวมตัวกัน อย่างสถานที่ราชการ อาคารสำนักงาน โรงเรียน เป็นต้น  หลายหน่วยงานจึงจัดมาตรการคัดกรองบุคลากรเข้า–ออกสถานที่ เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาด

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ได้ออกมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และมีมาตรการคัดกรองคนเข้า–ออกอาคารทั้งหมด 7 จุด แบ่งเป็น 4 จุด ใช้เครื่อง Thermoscan (เทอร์โมสแกน) เพื่อใช้วัดอุณหภูมิร่างกายผู้ที่เดินผ่านโดยไม่สัมผัส  และอีก 3 จุด ใช้เครื่องวัดอุณหภูมิร่างกายแบบยิงอินฟาเรด โดยปิดทางเข้า-ออกอื่น เพื่อให้การตรวจคัดกรองอยู่ในการควบคุม ของบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง

Thermoscan (เทอร์โมสแกน) นอกจากใช้ตรวจจับความร้อนของร่างกาย หรือวัตถุต่าง ๆ แล้ว ยังเป็นอุปกรณ์ที่ กฟผ. มีไว้ใช้ในภารกิจอื่น ๆ ของ กฟผ. ด้วย  ส่วนจะใช้ทำอะไรบ้าง คุณเสน่ห์ ตรีขันธ์ ผู้อำนวยการฝ่ายบำรุงรักษาไฟฟ้า (อบฟ.) และคุณชัช ศรีถนอมวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายโรงงานและอะไหล่ (อรอ.) มีคำตอบให้

เครื่อง Thermoscan (เทอร์โมสแกน) คืออะไร
เทอร์โมสแกน คือ กล้องถ่ายภาพความร้อน ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้วัดอุณหภูมิที่พื้นผิวของวัตถุเป้าหมาย ซึ่งเป็นการวัดแบบไม่สัมผัสและไม่ทำลายวัตถุ ช่วยให้เห็นภาพการกระจายของอุณหภูมิของวัตถุ ซึ่งไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า

หลักการทำงานของเครื่องเทอร์โมสแกนเป็นอย่างไร
ขั้นแรก กล้องถ่ายภาพความร้อน จะตรวจจับรังสีอินฟราเรดที่แผ่ออกจากวัตถุเป้าหมาย ผ่านเลนส์ของกล้องภาพถ่ายความร้อน และแปลงให้อยู่ในรูปของสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์ โดยเครื่องจะประมวลผลสร้างภาพความร้อน และแสดงผลออกมาในรูปของตัวเลข สี หรือกราฟ

แต่หากมีวัตถุมาบังวัตถุเป้าหมายที่ต้องการตรวจสอบอุณหภูมิ จะไม่สามารถตรวจสอบวัตถุเป้าหมายได้ และในกรณีที่วัตถุเป้าหมายมีขนาดเล็กกว่าพื้นที่ขอบเขตการมองเห็นของกล้องภาพถ่ายความร้อน จะทำให้การวัดอุณหภูมิวัตถุเป้าหมาย คลาดเคลื่อนได้

การนำมาใช้ในงานคัดกรองบุคลากรก่อนเข้าอาคาร
การนำเทอร์โมสแกนมาคัดกรองบุคลากรก่อนเข้าอาคาร ควรให้บุคลากรเดินผ่านเครื่องตรวจวัดทีละคน เพื่อให้ได้ผลการตรวจวัดที่แม่นยำ โดยใช้เวลาประมาณคนละ 3 วินาที และหากพบผู้ต้องสงสัย จะมีบุคลากรทางการแพทย์ ใช้เครื่องมือวัดอุณหภูมิร่างกายแบบประชิดตัวอีกครั้ง เพื่อยืนยันอุณหภูมิจริง ช่วยให้ดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และผู้ตรวจประเมินมีความปลอดภัยไม่ต้องใกล้ชิดกับผู้รับการตรวจคัดกรอง

สิ่งสำคัญ คือ ผู้ที่จะใช้เครื่องเทอร์โมสแกน ควรผ่านการอบรมการใช้กล้อง และมีใบรับรองเป็นผู้เชี่ยวชาญในการใช้เครื่องมือ เพื่อให้ผลการตรวจวัดที่มีความถูกต้องมากที่สุด

กฟผ. ใช้เครื่องมือนี้ในงานอะไรบ้าง
ฝ่ายบำรุงรักษาไฟฟ้า (อบฟ.) และฝ่ายโรงงานและอะไหล่ (อรอ.) เป็น 2 หน่วยงานของ กฟผ. ที่นำเครื่องเทอร์โมสแกนที่ใช้งานอยู่ภายในหน่วยงาน มาใช้สำหรับภารกิจตรวจคัดกรองตามจุดทางเข้าต่าง ๆ ภายในสำนักงานใหญ่ กฟผ.  คุณเสน่ห์ ตรีขันธ์ อบฟ. เล่าว่า ฝ่ายบำรุงรักษาไฟฟ้า ใช้เครื่องเทอร์โมสแกนในภารกิจงานซ่อมบำรุงรักษาในเชิงป้องกัน ตรวจสอบความผิดปกติของเครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้าขณะใช้งาน เช่น ตรวจสอบความร้อนอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในโรงไฟฟ้า ตรวจสอบความร้อนของมอเตอร์ไฟฟ้าและอุปกรณ์ทางกล เพื่อนำมาวิเคราะห์สภาพ วางแผน และแก้ไขปัญหาในงานบำรุงรักษาต่อไป

ด้านคุณชัช ศรีถนอมวงศ์ อธิบายเสริมว่า นอกจากจะใช้ภารกิจงาน ซ่อมบำรุงรักษาในเชิงป้องกันแล้ว ฝ่ายโรงงานและอะไหล่ ยังนำมาใช้สนับสนุนงานบำรุงรักษาโรงไฟฟ้า ประเภทงานตรวจประเมินสภาพฉนวน ความร้อนของผนัง Boiler (HRSG) เพื่อกำหนดปริมาณงานซ่อม ตามสภาพ งานตรวจการรั่วไหลของ Valve, งานวัดอุณหภูมิผิว Bearing ของเครื่องจักรหมุนเพื่อประเมินสภาพ เป็นต้น  และด้วยจำนวน infrared sensor ที่มาก ทำให้สามารถตรวจวัดอุณหภูมิพื้นผิววัตถุได้อย่างแม่นยำ แม้จะอยู่ในระยะไกล (มากกว่า 50 เมตร) แตกต่างจากอุปกรณ์ตรวจวัดอุณหภูมิแบบ Temperature Gun (แบบวัดไข้) ซึ่งมี infrared sensor น้อย ทำให้จำกัดระยะห่างระหว่างเครื่องมือกับผิวที่ตรวจวัดอุณหภูมิ เช่น บางยี่ห้อกำหนดระยะ ความแม่นยำที่เพียง 5-15 เซนติเมตร

แม้มีการนำเครื่องเทอร์โมสแกน มาใช้ตรวจคัดกรอง แต่เป็นการแบ่งมาใช้เพียงบางส่วน เนื่องจากได้วางแผนการใช้งาน เพื่อให้ภารกิจตรวจสอบและบำรุงรักษาของ กฟผ. ยังสามารถเดินหน้าไปได้ต่อเนื่อง อย่างไม่มีสะดุด เพราะ กฟผ. ให้ความสำคัญกับการดูแลโรงไฟฟ้า เพื่อให้ระบบไฟฟ้าของประเทศมั่นคง สามารถส่งความสุขสู่ประชาชนด้วยพลังงานไฟฟ้าที่มีใช้อย่างเพียงพอทุกครัวเรือน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง