รีเซต

นักวิทย์ออสเตรเลียชี้ ไม่พบหลักฐาน 'โอไมครอน' ร้ายแรงกว่าปกติ

นักวิทย์ออสเตรเลียชี้ ไม่พบหลักฐาน 'โอไมครอน' ร้ายแรงกว่าปกติ
TNN ช่อง16
2 ธันวาคม 2564 ( 15:28 )
60
นักวิทย์ออสเตรเลียชี้ ไม่พบหลักฐาน 'โอไมครอน' ร้ายแรงกว่าปกติ

วันนี้ ( 2 ธ.ค. 64 )ศาสตราจารย์ พอล เคลลี หัวหน้าหน่วยการแพทย์ของออสเตรเลีย เปิดเผยในวันนี้ว่า ยังไม่มีหลักฐาน หรือข้อบ่งชี้ใด ๆ ว่า โควิดกลายพันธุ์ "โอไมครอน" ที่กำลังทำให้ทั่วโลกปั่นป่วนในเวลานี้ จะมีความ "ร้ายแรง" กว่าสายพันธุ์ก่อน ๆ 

"เมื่อดูจากกรณีผู้ป่วยกว่า 300 คนทั่วโลก ที่พบในหลายประเทศ จะพบว่าส่วนใหญ่มีอาการเพียงเล็กน้อย หรือแทบไม่มีอาการเลยด้วยซ้ำ และพบว่าการติดเชื้อส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นทั่วโลกนั้น เป็นคนที่ได้รับวัคซีนแล้ว เพราะส่วนใหญ่ตรวจพบในผู้ที่เดินทางจากประเทศแถบแอฟริกาใต้ ซึ่งต้องได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว" ศ.เคลลี กล่าว

ศ.เคลลี ยังระบุอีกด้วยว่า ในเวลานี้ ยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่า วัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่มีอยู่ในเวลานี้จะใช้ไม่ได้ผลกับไวรัสกลายพันธุ์ตัวใหม่นี้ด้วย .. เพราะยังต้องรอเวลาในการวิจัยอีกอย่างน้อย 1-2 สัปดาห์ จึงจะทราบผลที่ชัดเจน แและควรรอคอยข้อมูลที่มากกว่านี้เสียก่อน

สำหรับออสเตรเลีย พบผู้ติดเชื้อไวรัส "โอไมครอน" แล้ว 7 ราย โดยพบว่า 2 รายเป็นการติดเชื้อระหว่างการไปจับจ่ายซื้อของในชุมชน / ขณะที่ 6 ราย ตรวจพบในรัฐนิว เซาท์ เวลส์ ซึ่งเป็นรัฐที่มีประชากรมากที่สุดของประเทศ 

"โอไมครอน" กำลังกลายเป็นสายพันธุ์หลักในแอฟริกาใต้

แม้ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าไวรัส "โอไมครอน" มีความรุนแรง แต่การที่มันแพร่เชื้อได้เร็วกว่าเดิม ก็ทำให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในแอฟิรกาใต้ เปิดเผยว่า มีความกังวลอย่างยิ่งที่จำนวนผู้ติดเชื้อกำลังเพิ่มสูงขึ้นมาก และเข้าใกล้การเป็นสายพันธุ์หลักในประเทศแล้ว 

ดร.มิเชลล์ กรูม แห่งสถาบันโรคติดเชื้อของแอฟริกาใต้ เปิดเผยว่า มีการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้ออย่างมากในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา จากเฉลี่ยราว 300 เคสต่อวันเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน กลายเป็น 8,561 เคสในวันพุธที่ผ่านมา ซึ่งการเพิ่มอย่างรวดเร็วเช่นนี้ นับเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่ง 

สถาบันโรคติดเชื้อของแอฟริกาใต้ เปิดเผยว่า จากการตรวจจีโนมของไวรัสในช่วงเดือนที่ผ่านมา พบว่า 74% เป็นไวรัสกลายพันธุ์ตัวใหม่ ซึ่งพบในตัวอย่างครั้งแรกเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมาในเมืองกอเตง ตอนเหนือของแอฟริกาใต้ ที่มีประชากรมากที่สุดในประเทศ

ส่วนคำถามว่า แล้วระบาดได้เร็วขนาดไหน.. จนถึงเวลานี้ยังตอบเป็นตัวเลขที่ชัดเจนไม่ได้ .. โดยมาเรีย แวน เคอร์โคฟ นักระบาดวิทยาแห่งองค์การอนามัยโลก หรือ WHO แถลงข่าวเมื่อวานนี้ ระบุว่า "อีกไม่กี่วัน" น่าจะมีข้อมูลชัดเจนว่า "โอไมครอน" สามารถแพร่เชื้อได้เร็วเพียงใด 

ซาอุฯ-UAE-สหรัฐฯ พบเชื้อ "โอไมครอน" รายแรกแล้ว

กระทรวงสาธารณสุขซาอุดิอาระเบียรายงานพบผู้ติดเชื้อ “โอไมครอน” เป็นรายแรกแล้วเมื่อวานนี้ (1 ธันวาคม) เป็นนักเดินทางที่มาจากประเทศในแอฟริกาตอนเหนือ ทำให้ซาอุดิอาระเบียนับเป็นประเทศอาหรับประเทศแรกในพื้นที่อ่าวเปอร์เซีย ที่พบผู้ติดเชื้อโอไมครอน / โดยกรณีซาอุฯน่าสนใจตรงที่ ผู้ติดเชื้อเป็นนักเดินทางที่เป็นพลเรือนของประเทศที่อยู่ทางตอนเหนือของทวีปแอฟริกา ซึ่งไม่ใช่ประเทศแอฟริกาใต้ ที่เป็นต้นตอการพบโอไมครอน แต่ไม่มีการเปิดเผยชื่อประเทศในแอฟริกาตอนเหนือดังกล่าว

และอีกเพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากนั้น กระทรวงสาธารณสุขของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือ UAE ก็รายงานพบผู้ติดเชื้อโอไมครอนรายแรกเช่นกัน แต่กระทรวงสาธารณสุข UAE ไม่ได้เปิดเผยชื่อของประเทศในทวีปแอฟริกาดังกล่าว 

นายแพทย์แอนโธนี เฟาชี ผู้อำนวยการสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติของสหรัฐฯ กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ผู้ติดเชื้อไวรัสโอไมครอนคือนักเดินทางที่กลับมาจากแอฟริกาใต้เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน และตรวจพบเชื้อเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน โดยเป็นผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วแต่ยังไม่ได้ฉีดกระตุ้นภูมิเข็ม 3 หรือบูสเตอร์ และมีอาการป่วย "เพียงเล็กน้อย"

เมื่อไม่กี่วันก่อน รัฐบาลสหรัฐฯ เริ่มใช้มาตรการจำกัดนักเดินทางจากแอฟริกาใต้ที่ ซึ่งตรวจพบเชื้อไวรัสโอไมครอนเป็นประเทศแรกก่อนที่จะพบในอีกมากกว่า 20 ประเทศในเวลาต่อมา เจ้าหน้าที่ระบุว่าได้ติดต่อไปยังทุกคนที่ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโอไมครอนรายแรกในสหรัฐฯ ผู้นี้แล้ว ซึ่งทุกคนมีผลตรวจโควิดออกมาเป็นลบ

ขณะเดียวกัน ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ หรือ ซีดีซี เพิ่มมาตรการในการตรวจหาเชื้อสำหรับผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ รวมถึงการกำหนดให้ผู้โดยสารเครื่องบินที่จะมายังสหรัฐฯ ต้องมีผลตรวจโควิดเป็นลบหนึ่งวันก่อนขึ้นเครื่อง โดยไม่จำเป็นว่าฉีดวัคซีนโควิดมาแล้วหรือไม่

นอกจากนี้ ซีดีซีกำลังพิจารณาว่าจะบังคับให้มีการตรวจหาเชื้อหลังจากที่เดินทางมาถึงสหรัฐฯ แล้วด้วย เจ้าหน้าที่กล่าวว่า มาตรการเหล่านี้มีขึ้นเพื่อ "ซื้อเวลา" เพื่อให้นักวิทยาศาสตร์มีเวลาศึกษาไวรัสโอไมครอนมากขึ้นเพื่อที่จะกำหนดมาตรการป้องกันอย่างเหมาะสมต่อไป ขณะที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เตรียมประกาศแนวทางใหม่ในการรับมือกับการระบาดของโคโรนาไวรัสในช่วงฤดูหนาว ในวันพฤหัสบดีนี้

ข้อมูลจาก : AFP

ภาพจาก :  AFP

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง