รีเซต

"อนุทิน" ลั่นพร้อมเป็น "หนูทดลอง" วัคซีนโควิด-19 ย้ำลุย "แทรเวล บับเบิล" แต่ไม่ใช่เปิดปท.

"อนุทิน" ลั่นพร้อมเป็น "หนูทดลอง" วัคซีนโควิด-19 ย้ำลุย "แทรเวล บับเบิล" แต่ไม่ใช่เปิดปท.
มติชน
19 มิถุนายน 2563 ( 14:12 )
62
“อนุทิน” ลั่นพร้อมเป็น “หนูทดลอง” วัคซีนโควิด-19 ย้ำลุย “แทรเวล บับเบิล” แต่ไม่ใช่เปิดปท.

เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ สธ. กล่าวถึงความคืบหน้าของการผลิตวัคซีนในประเทศไทย ว่า การทดลองวัคซีนในสัตว์ทดลองของ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาคเอกชน บริษัท ไบโอเนท เอเชีย โดยทั้ง 2 สถาบันได้ส่งผลการทดลองให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สธ.ได้ทดสอบแล้ว เบื้องต้น นพ.โอภาส การย์กวินพงษ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ฯ รายงานว่า ผลการทดสอบมีภูมิต้านทานมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ขั้นตอนต่อไปคือ การทดลองในสัตว์ใหญ่ขึ้น แล้วค่อยไปทดลองในมนุษย์

 

“กว่าจะไปถึงการทดลองในคน ก็คงต้องมีการผ่านกระบวนหลายอย่าง เพื่อความปลอดภัย ในฐานของรัฐมนตรีฯ แค่เห็นแนวโน้มว่าดี ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีอยู่แล้ว เรายิ่งต้องสนับสนุนสถาบันวัคซีนแห่งชาติเต็มที่ เพื่อซัพพอร์ตวิจัยเรื่องนี้ ประมาณ 3 พันล้านบาท เช่น ในการศึกษาวิจัย ไพลอตโปรเจ็กต์ การปรับปรุงโรงงาน และต่างๆ อีก 7 ขั้นตอน เขาคิดละเอียดไปถึงการเตรียมขวดบรรจุวัคซีน เพราะหากในอนาคต มีการศึกษาวัคซีนสำเร็จ เดี๋ยวไม่มีขวดใส่ เราต้องยืนด้วยขาตัวเองให้ได้ เราจะรอให้ประเทศอื่นทำ เราก็จะบ๊วย เราจึงต้องมีความพร้อม” นายอนุทิน กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า การเสนอตัวทดลองวัคซีนเป็นคนแรก เนื่องจากกลุ่มตัวอย่างทดลองไม่เพียงพอหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า เป็นการพูดแซวเล่นกันในที่ประชุม ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แซวว่า วัคซีนที่สำเร็จต้องทดลองในคน รัฐมนตรีว่าการ สธ. กล้าทดลองหรือไม่

 

“ผมจึงบอกว่า กล้า ซึ่งผมก็มีความกล้า เนื่องจากมีข้อมูล และได้พูดคุย สนับสนุนวิจัยทุกอย่าง ผมกล้าอยู่แล้ว อยู่ที่แพทย์จะกำหนดคุณสมบัติการฉีดอย่างไร แต่หลักการสากลคือ ผู้ที่จะได้รับวัคซีนช่วงของการทดลองคือ เป็นบุคลาการทางการแพทย์ เพราะจะต้องได้รับภูมิต้านทานในการทำงานร่วมกับผู้ป่วย กว่าจะมาทดสอบในคน ต้องมีความปลอดภัยอยู่แล้ว” นายอนุทิน กล่าว

เมื่อถามว่าการจัดสรรงบประมาณเงินกู้ ทาง สธ.จะมีการจัดสรรอย่างไร เนื่องจากส่วนของโรงพยาบาล (รพ.) ส่งเสริมสุขภาพตำบล กังวลว่าจะได้รับน้อย นายอนุทิน กล่าวว่า ไม่ต้องกังวล ทุกอย่างต้องยุติกรรม เงินงบประมาณกว่า 45,000 ล้านบาท โดยจะแบ่งไปที่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ระบบบริการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพิ่มศักยภาพหน่วยบริการสาธารณสุข จัดสรรไปยังแต่ละกรม สถาบันวัคซีนแห่งชาติ และ โรงเรียนแพทย์

 

“ย้ำว่าเป็นเงินกู้ สิ่งที่ลงทุนไปต้องได้ประสิทธิภาพ เช่น การยกศักยภาพ รพ.สต. ซื้อเครื่องวัดความดัน ซื้อยานพาหนะเคลื่อนย้ายผู้ป่วยยามฉุกเฉิน การยกระดับหน่วยบริการ ต้องเป็นไปตามศักยภาพของแต่ระดับ เช่น รพ.ชุมชน จะได้มากกว่า รพ.ทั่วไปอยู่แล้ว เพราะขาดเครื่องมือและมีความจำเป็น แต่ต้องดูความเหมาะสม เช่น เครื่องช่วยหายใจ ที่ต้องใช้ในห้องที่มีความพร้อม ก็คงไม่เอาไปไว้ใน รพ.ชุมชน ต้องเอาไปไว้ที่ รพ.ศูนย์ใหญ่ ที่มีเครื่องมือพร้อมช่วยเหลือผู้ป่วย” นายอนุทิน กล่าว

เมื่อถามว่าการจับคู่ประเทศในการทำแทรเวล บับเบิล (Travel bubble) มีความคืบหน้าอย่างไร นายอนุทิน กล่าวว่า ขณะนี้เริ่มทำข้อมูล เงื่อนไข วิธีการ ขั้นตอน นำเสนอแก่คณะกรรมการของ ศบค. ตอนนี้ประเทศไทยอยู่ในมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 4 แล้ว ก็จะต้องนำเสนอขั้นตอนในแต่ละส่วนให้มากที่สุด โดยขณะนี้เอกอัครราชทูตหลายประเทศติดต่อมา เพื่อคุยทำความตกลง

 

“แทรเวล บับเบิล เป็นการจับคู่ แต่ไม่ใช่การเปิดประเทศ คู่จับกันได้ต้องมีสถานการณ์ของโรคที่ใกล้เคียงกัน มีการคัดกรองผู้ป่วย จากต้นมาปลายทาง ผู้เดินทางเข้ามาไม่ได้มาท่องเที่ยว แต่ต้องมาเพื่อวัตถุประสงค์ชัดเจน เช่น ผู้ที่ทำอาชีพเทคนิก ครูโรงเรียนนานาชาติ ดังนั้น การป้องกันโรคมีความสำคัญ และเศรษฐกิจก็สำคัญเช่นกัน ให้ทางกรมควบคุมโรค ไปกำหนดรายละเอียด แต่หลักคือ คัดกรอง ตรวจ ป้องกัน และกว่าจะยอมให้มีการเดินทางเข้ามา ต้องมีมาตรการที่ทำให้ทุกฝ่ายพึงพอใจ ไว้วางใจ ในวันนี้พบเอกอัครราชทูตประเทศญี่ปุ่น และในวันจันทร์ที่ 22 มิถุนายนนี้ จะพบเอกอัครราชทูตประเทศจีน สิงคโปร์อีกครั้งหนึ่ง ช่วงสัปดาห์หน้าเป็นอาทิตย์พบเอกอัครราชทูต เช่น ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยยังเป็นประเทศที่ต่างชาติให้ความ” นายอนุทิน กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง