รีเซต

โควิด-19: หลายเหตุผลที่ทำให้ปีแห่งไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ไม่ใช่ปีที่เลวร้ายที่สุดที่มนุษย์เคยเจอ

โควิด-19: หลายเหตุผลที่ทำให้ปีแห่งไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ไม่ใช่ปีที่เลวร้ายที่สุดที่มนุษย์เคยเจอ
ข่าวสด
21 ธันวาคม 2563 ( 23:01 )
63
โควิด-19: หลายเหตุผลที่ทำให้ปีแห่งไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ไม่ใช่ปีที่เลวร้ายที่สุดที่มนุษย์เคยเจอ

สำหรับหลายคน ปี 2020 เป็นปีแห่งความหดหู่ และการประชุมผ่านวิดีโอที่ดูจะไม่มีวันจบสิ้น บางคนบอกว่าปีที่ต้องเผชิญกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นี้เป็นปีที่เลวร้ายที่สุดที่มนุษย์เคยเจอมา

 

แต่ลองย้อนดูประวัติศาสตร์ โลกของเราเคยเผชิญสถานการณ์แย่ ๆ เท่านี้มาแล้ว เลวร้ายกว่านี้ก็มี

มาลองย้อนอดีตกัน บางทีปี 2020 อาจจะไม่ได้แย่อย่างที่เราคิดก็ได้

 

ในปี 2020 โควิด-19 คร่าชีวิตไปจำนวนมาก

 

ถึงวันที่ 17 ธ.ค. มีคนติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ทั่วโลกกว่า 74.5 ล้านราย และเสียชีวิต 1.6 ล้านราย จากการรวบรวมของมหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์

แต่ย้อนไปตั้งแต่ปี 1346 เป็นต้นมา เหตุการณ์ "Black Death" หรืออาจแปลได้ว่า "ความตายสีดำ" เป็นการระบาดของกาฬโรคต่อมน้ำเหลืองครั้งเลวร้ายที่สุด มีผู้เสียชีวิตทั่วโลก 200 ล้านราย เฉพาะในยุโรปเสียชีวิตไป 25 ล้านราย

และตั้งแต่ปี 1520 การเดินทางสำรวจโดยชาวสเปนและโปรตุเกส นำโรคฝีดาษหรือไข้ทรพิษ (Smallpox) ไปยังทวีปอเมริกา ทำให้ราว 60-90% ของคนพื้้นเมืองที่อาศัยอยู่ในทวีปนี้มาแต่เดิมเสียชีวิต

 

Getty Images
ชาวยุโรปนำเชื้อโรคไปแพร่กระจายในหมู่ชนพื้นเมืองในทวีปอเมริกา

 

มาในปี 1918 ไข้หวัดใหญ่สเปน ซึ่งแพร่กระจายโดยทหารที่เพิ่งกลับจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้คนเสียชีวิตถึง 50 ล้านคน หรือเท่ากับ 3-5% ของประชากรโลกในตอนนั้น

และโรคเอดส์/เอชไอวี ก็คร่าคนไปกว่า 32 ล้านคนตั้งแต่การระบาดเริ่มต้นในช่วงทศวรรษที่ 80

ในปี 2020 โควิด-19 ทำให้คนตกงานมากมาย

อัตราการว่างงานในปีนี้ยังไม่สูงเท่าตอนเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ หรือ Great Depression ระหว่างปี 1929 ถึง 1933

ปี 1933 เลวร้ายเป็นพิเศษในเยอรมนีซึ่งมีประชากรถึง 1 ใน 3 ที่ต้องตกงาน และในปีเดียวกันนั้น นักการเมืองที่ชื่อ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ก้าวขึ้นสู่อำนาจ...

 

Getty Images

 

ในปี 2020 เราไม่สามารถไปพบปะเพื่อนได้

จริงอยู่ ที่คนส่วนใหญ่ต้องเก็บตัวอยู่บ้าน ต้องอยู่ไกลคนรัก แต่ย้อนไปปี 536 คนจำนวนมากมองไม่เห็นแม้แต่ท้องฟ้า

ในปีนั้น เกิดหมอกปริศนาที่ทำให้ยุโรป ตะวันออกกลาง และบางส่วนของเอเชีย ต้องอยู่ในความมืดทั้งวันทั้งคืนนานถึง 18 เดือน

ไมเคิล แมคคอมิค นักประวัติศาสตร์ยุคกลางและนักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งเป็นผู้ให้ข้อมูลนี้บอกว่า นั่นเป็นช่วงเวลาที่แย่ที่สุดช่วงหนึ่งในหลายพื้นที่ในโลก

 

Getty Images
ปี 2020 น่าหดหู่ก็จริงแต่อย่างน้อยเราก็มองเห็นท้องฟ้าได้

 

นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของทศวรรษที่หนาวเหน็บที่สุดในช่วง 2,300 ปีที่ผ่านมา คนต้องหิวโหยเพราะไม่สามารถเพาะปลูกได้

เหตุดังกล่าวน่าจะเกิดจากเหตุภูเขาไฟระเบิดในไอซ์แลนด์ หรืออาจจะเป็นในอเมริกาเหนือ ซึ่งพาฝุ่นควันปกคลุมไปทั่ว เชื่อกันว่าในเวลาต่อมา ลมพัดพาฝุ่นควันจากภูเขาไฟนี้ไปทั่วยุโรปและเอเชียในเวลาต่อมา ทำให้เกิดสภาพอากาศหนาวเหน็บอย่างรุนแรง

 

ในปี 2020 เราไม่สามารถไปเที่ยวได้

 

แต่ราว 1.95 แสนปีที่แล้ว มนุษย์สายพันธุ์โฮโมเซเปียนส์ แทบไปไหนไม่ได้ เนื่องจากเป็นจุดเริ่มต้นของช่วงเวลาอันแห้งแล้งและหนาวเหน็บที่เรียกกันว่า มารีนไอโซโทป ขั้นที่ 6 (Marine Isotope Stage 6) ซึ่งกินเวลาหลายหมื่นปี

นักโบราณคดีอย่างศาสตราจารย์เคอร์ติส มารีน จากสถาบันต้นกำเนิดมนุษย์ (Institute of Human Origins) เชื่อว่าความแห้งแล้งในตอนนั้นเกือบทำให้มนุษย์สูญพันธุ์

เขาบอกว่ามนุษย์รอดมาได้ด้วยการไปพักพิงอยู่ที่ชายฝั่งแห่งหนึ่งทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกา ซึ่งถูกตั้งชื่อว่า "สวนอีเดน" และเรียนรู้ที่จะเอาชีวิตรอดด้วยอาหารทะเล

 

ในปี 2020 เกิดเหตุระเบิดครั้งใหญ่ที่เลบานอน

 

เหตุระเบิดใหญ่เมื่อวันที่ 4 ส.ค. ที่กรุงเบรุต ที่คลังเก็บสารแอมโมเนียมไนเตรทหนักราว 2,750 ตัน ทำให้มีผู้เสียชีวิต 190 ราย และผู้ได้รับบาดเจ็บมากกว่า 6,000 ราย

แต่ย้อนไปเมื่อเดือน ธ.ค. ปี 1984 ผู้คนหลายพันคนในเมืองโภปาลของอินเดีย เสียชีวิตจากเหตุก๊าซพิษรั่วไหลจากโรงงานเคมียูเนียนคาร์ไบด์ รัฐบาลอินเดียบอกว่าภายในไม่กี่วัน มีคนเสียชีวิตราว 3,500 ราย และมากกว่า 15,000 รายเสียชีวิตในเวลาต่อมาด้วยอาการทางปอด

 

ในปี 2020 สัตว์หลายพันล้านตัวเสียชีวิตหรือต้องพลัดถิ่นจากไฟป่า

 

Getty Images

 

ไฟป่าออสเตรเลีย ซึ่งเริ่มปลายปี 2019 ทำให้สัตว์เกือบ 3 พันล้านตัวตายหรือต้องพลัดถิ่น

แต่ย้อนไปเมื่อเดือน ก.ย. 1923 เหตุแผ่นดินไหวหลายจุดทำให้เกิดไฟโหมลุกลามที่ทำให้คนมากกว่า 1.4 แสนรายเสียชีวิตในกรุงโตเกียวและเมืองโยโกฮามา

 

เรื่องดี ๆ ที่ซ่อนอยู่

 

Getty Images
กมลา แฮร์ริส สร้างประวัติศาสตร์เป็นผู้หญิงคนแรก คนผิวดำคนแรก และชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียคนแรก ที่ได้ดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ

 

แม้ว่าปี 2020 จะเป็นปีที่แย่มากปีหนึ่ง แต่ก็มีเรื่องดี ๆ เกิดขึ้นเหมือนกัน อย่างบทบาทของผู้หญิงในวงการการเมือง โดยมีผู้หญิงที่เป็นผู้นำรัฐถึง 20 คนแล้ว จากแค่ 12 คนในปี 1995

นอกจากนี้ รายงานโดยสหประชาชาติระบุว่า มีผู้หญิงเป็นผู้แทนในรัฐสภาประเทศต่าง ๆ เพิ่มขึ้นเท่าตัว คิดเป็น 25% แล้ว ปีนี้ยังเป็นปีที่กมลา แฮร์ริส กลายเป็นผู้หญิงคนแรก คนผิวดำคนแรก และชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียคนแรก ที่ได้ดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ

นอกจากนี้ ยังมีข่าวดีเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมด้วยนั่นคือมีบริษัทจำนวนมากขึ้นที่ให้คำมั่นสัญญาว่าจะลดปริมาณการปล่อยคาร์บอน อาทิ เฟซบุ๊ก ฟอร์ด และเมอร์เซเดส-เบนซ์ ขณะที่สหประชาชาติรายงานว่ารัฐบาลท้องถิ่นและบริษัทต่าง ๆ ที่ประกาศว่าจะลดการปล่อยคาร์บอนให้เป็นศูนย์มีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว

และหากเราจำเป็นต้องเดินทางออกจากโลกนี้เข้าจริง ๆ ในวันหนึ่ง ข่าวดีคือองค์การนาซาประกาศเมื่อเดือน ต.ค. ว่าพบน้ำบนพื้นผิวดวงจันทร์มากกว่าที่เคยคาดไว้ และคาดว่ามีมากพอใช้ตั้งฐานที่มั่นระยะยาว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง