รีเซต

พญาแร้งวางไข่แล้ว! สวนสัตว์โคราชเฮ รอมากว่า 25 ปี ครั้งแรกในเอเชีย

พญาแร้งวางไข่แล้ว! สวนสัตว์โคราชเฮ รอมากว่า 25 ปี ครั้งแรกในเอเชีย
ข่าวสด
5 กุมภาพันธ์ 2564 ( 15:52 )
78

จับคู่กับ"ตาล"มานาน เพิ่งสำเร็จ สวนสัตว์นครราชสีมาเฮลั่น พญาแร้งชื่อนุ้ย วางไข่สำเร็จในกรงเลี้ยง ครั้งแรกในเอเชีย หลังรอมากว่า 25 ปี ถือเป็นของขวัญคนไทย

 

 

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 5 ก.พ.2564 ที่โรงพยาบาลสวนสัตว์นครราชสีมา นายณรงวิทย์ ชดช้อย รักษาการ ผอ.สวนสัตว์นครราชสีมา พร้อมเจ้าหน้าที่ส่วนงานที่เกี่ยวข้อง เฝ้าสังเกตติดตามการพัฒนาการไข่พญาแร้งของแม่นุ้ยพญาแร้งภายในตู้อบอัตโนมัติ เพื่อเพิ่มโอกาสรอดของลูกนกและกระตุ้นให้แม่นกได้วางไข่ใบที่ 2 ตามกระบวนการเพาะพันธุ์นกนักล่าในสภาพการเพาะเลี้ยงเพิ่มจำนวนไข่ต่อฤดูกาล ซึ่งเมื่อวันที่ 30 ม.ค.ที่ผ่านมา ถือเป็นครั้งแรกของเอเชียและเป็นเวลากว่า 25 ปี ที่พญาแร้งวางไข่ 1 ฟอง ให้เป็นของขวัญคนไทยทั้งประเทศ

 

 

นายณรงวิทย์ เปิดเผยว่า สวนสัตว์เลี้ยงพญาแร้งรวม 4 ตัว ได้แก่ ป๊อกกี้ เพศผู้อายุ 19 ปี แจ็ค เพศผู้ 21 ปี ตาล เพศผู้ 12 ปี และนุ้ย เพศเมีย 10 ปี โดยเริ่มเพาะเลี้ยงขยายพันธ์ตั้งแต่ปี 2535 ถึงปัจจุบัน ก่อนหน้านี้ทีมทำงานโครงการ “การฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทย” รอลุ้นกันมาตลอดทั้งปี พญาแร้งในกรงเลี้ยงจะวางไข่หรือไม่

 

https://youtu.be/8SOl-Rt8V8o

 

" ไข่ฟองนี้เกิดจากพ่อพญาแร้งชื่อตาล และ แม่พญาแร้งชื่อนุ้ย จับคู่กันมาแต่ยังไม่เคยวางไข่สำเร็จ ทีมเพาะเลี้ยงจึงได้พัฒนาและปรับปรุงกระบวนการเลี้ยงเกือบทั้งระบบและดูแลของทีมเพาะเลี้ยงอย่างใกล้ชิด ธรรมชาติพญาแร้งจะวางไข่ 2 ปี เพียง 1 ฟองเท่านั้น แต่ในการเพาะพันธุ์อาจวางไข่ได้ทุกปี ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย อาทิ วัยและอาหารที่อุดมสมบูรณ์ หากโชคดีแม่นุ้ยพญาแร้งวางไข่ใบที่ 2 จะให้แม่นุ้ยได้ฟักไข่เอง โปรดรอฟังความคืบหน้าอีกครั้งใน 2-3 สัปดาห์ต่อจากนี้ "

 

 

สำหรับ “พญาแร้ง” เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองอีกหนึ่งชนิดที่สูญพันธุ์จากธรรมชาติของประเทศไทย ร่วม 30 ปี โดยหลงเหลืออยู่ในการเพาะเลี้ยงของประเทศไทยเพียง 5 ตัวเท่านั้น ซึ่งโครงการภายใต้ความร่วมมือของ 4 องค์กรหลัก ได้แก่องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มูลนิธิสืบนาคะเสถียรและหน่วยงานพันธมิตรที่มีเป้าหมายอนุรักษ์พญาแร้งนอกถิ่นอาศัยให้มีประชากรที่เพียงพอต่อการปล่อยสู่ธรรมชาติ เพื่ออนุรักษ์พญาแร้งในถิ่นอาศัยในผืนป่ามรดกโลกทางธรรมชาติทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ต่อไปในอนาคต