นักวิชาการประเมินท่องเที่ยวไทยรายได้วูบเหลือ 1 ล้านล้านบาท หากเปิดรับต่างชาติไม่ทัน 4 เดือนสุดท้าย
นักวิชาการประเมินท่องเที่ยวไทยรายได้วูบเหลือ 1 ล้านล้านบาท หากเปิดรับต่างชาติไม่ทัน 4 เดือนสุดท้าย
นายอนันต์ วัฒนกุลจรัส อาจารย์ประจำคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย มีการจ้างงานกว่า 3,000,000 งาน กระจายไปทั้ง 12 สาขา แบ่งเป็น 4 รายการหลัก ได้แก่ 1.ที่พัก 2.อาหารและเครื่องดื่ม 3.ขนส่งผู้โดยสาร 4.ของฝากและของที่ระลึก และ 8 รายการรอง ได้แก่ ขนส่งผู้โดยสารทางรถไฟ ขนส่งผู้โดยสารเรือ ขนส่งผู้โดยสารทางเครื่องบิน อุปกรณ์เดินทางในการท่องเที่ยว นำเที่ยวและบริการจอง ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ท่องเที่ยวเชิงกีฬากินและนันทนาการ บริการท่องเที่ยวอื่นๆ ซึ่งสัดส่วนแรงงานจะกระจายในกลุ่มธุรกิจกลุ่มแรกมากที่สุด ทำให้หากประเมินว่า การบริโภคของนักท่องเที่ยวหายไป 80% เป็นขั้นเลวร้ายสุด จำนวนธุรกิจที่พักจะหายไปกว่า 500,000 งาน โดยได้ประเมินว่าภาพรวมนักท่องเที่ยว 100% จะเลือกใช้จ่ายใน 4 รายการกลุ่มหลัก 49% ส่วนอีก 51% จะใช้จ่ายกับกลุ่มบริการรอง อาทิ การนวดสปา เข้าเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ท่องเที่ยวเชิงกีฬา ซึ่งหากสามารถดึงนักท่องเที่ยวไฮเอ็นเข้ามาเพียง 1% จะมีรายได้สูงกว่ากระตุ้นนักท่องเที่ยวระดับปานกลางกว่า 141% แต่หากกระตุ้นนักท่องเที่ยวระดับต่ำ รายำด้จะลดน้อยลงสูงมาก แม้จำนวนจะเข้ามามากเท่าใดก็ตาม ทำให้วิธีที่ดีที่สุดในการกระตุ้นเศรษฐกิจในขณะนี้คือ จะต้องดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติในระดับที่มีศักยภาพในการใช้จ่ายสูง (ไฮเอ็น) แม้จะมีเข้ามาให้ได้เพียง 1% แต่การใช้จ่ายจะสร้างรายได้จะเท่ากับการใช้จ่ายของคนกลุ่มปานกลางและระดับต่ำรวมกัน
นายอนันต์กล่าวว่า ในปี 2563 ตลาดไทยเที่ยวไทย กระตุ้นมากที่สุด ก็สามารถสร้างรายได้ให้กับการท่องเที่ยวได้เพียง 40% เทียบกับรายได้รวมของภาคการท่องเที่ยว ทำให้ทั้งปีนี้ รายได้ในภาคการท่องเที่ยวจะหายไป 60% โดยหากรัฐบาลยังไม่สามารถเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ ภาคการท่องเที่ยวไทยและเศรษฐกิจไทยก็จะเคลื่อนไหวในลักษณะนี้ แต่หากเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ให้เข้ามาในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปี ตั้งแต่กันยายน-ธันวาคม 2563 เชื่อว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นขึ้นมาได้บ้าง แต่ไม่มากนัก เพราะเปิดมาอย่างไรก็ยังไม่เป็นปกติอยู่ดี แต่หากยังไม่มีการเปิดรับแล้วก็เที่ยวต่างชาติ ประเมินว่ารายได้ในภาคการท่องเที่ยวนวมทั้งปี 2563 คงทำได้ไม่ถึง 1 ล้านล้านบาท
นายอนันต์กล่าวว่า โควิด-19 ส่งผลให้ประชาชนทั่วโลกเกิดความวิตกกังวล กลัวการเดินทาง และไม่เดินทางระหว่างประเทศ รวมถึงนโยบายของรัฐบาลในประเทศนั้นๆ ที่ล็อกดาวน์ประเทศ เพื่อควบคุมการระบาดเชื้อไวรัส ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติหายไป และการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศก็หายไปเช่นกัน ซึ่งการลดลงและหายไปของต่างชาติและไทยเที่ยวไทย ไม่ได้ทยอยหายไป แต่หายไปทันทีอย่างรวดเร็ว ทำให้ภาคธุรกิจปรับตัวไม่ทัน เมื่อความต้องการ (ดีมานด์) ลดลง แต่ผลผลิต (ซัพพลาย) ไม่ได้ลดลงตาม ราคาสินค้าและบริการในภาคการท่องเที่ยวก็จะปรับลดลง โดยภาคธุรกิจที่สามารถปรับตัวได้รวดเร็ว ก็จะลดกำลังการผลิตให้น้อยลงได้อย่างทันเหตุการณ์ อาทิ โรงแรม อาจลดจำนวนการเปิดให้บริการเหลือ 50 ห้อง จากเดิม 100 ห้อง การขนส่งวิ่งจากเดิม 50 เที่ยว เหลือ 30 เที่ยว แต่หากปรับตัวได้ช้า การเปลี่ยนแปลงก็จะเกิดขึ้นช้า ผลกระทบก็จะได้รับต่อเนื่องอย่างรุนแรง ซึ่งเมื่อภาคธุรกิจได้รับแรงกดดัน ก็จะต้องบริหารจัดการต้นทุนต่างๆ ตั้งแต่วัตถุดิบ ค่าน้ำ ค่าไฟ การขนส่ง ค่าเช่าที่ และแรงงาน ที่มีการลดการทำงานล่วงเวลา หรือการเลิกจ้าง
“ธุรกิจท่องเที่ยวไม่ได้อยู่ด้วยตัวเองโดดๆ ได้ แต่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจอื่นๆ ตั้งแต่ โรมแรม ร้านอาหาร ทัวร์ การจ้างงาน และภาคการบริการ ซึ่งเมื่ออุตสาหกรรมเหล่านี้ได้รับผลกระทบ ก็จะส่งผลกระทบเป็นห่วงโซ่ไปยังธุรกิจอื่นๆ เพิ่มเติม โดยธุรกิจที่มีรายได้ลดลง เพราะได้รับผลกระทบ ก็จะไปปรับต้นทุนผ่านการเลิกจ้างหรือลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ซึ่งจะทำให้แรงงานได้รับผลกระทบ รายได้ของครัวเรือนลดลง เมื่อรายได้ลดลงแต่อยากบริโภคได้เท่าเดิมก็ต้องลดการออม หรือนำเงินออมมาใช้ รวมถึงเกิดการกู้ยืมและการสร้างหนี้ เพื่อให้สามารถบริโภคได้เท่าเดิม ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาวะเงินออมของประเทศ และทำให้หนี้สินครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น จนในที่สุดก็จะกระทบกับการกระจายรายได้ของประชาชนในประเทศ” นายอนันต์กล่าว