ใครขอใช้ 'รถนำขบวน' ได้?
จากคลืปวิดีโอร้อนแรง "ขบวนรถวีไอพีย้อนศร" โดยเจ้าของรถเบนซ์ดังกล่าวคือ น.พ.บุญ วนาสิน หรือ "หมอบุญ" ที่เป็นที่สนอกสนใจในแวดวงโซเชียลฯ และเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่าง ๆ นานา หลากหลายมุมมอง พร้อมเกิดข้อคำถาม "รถนำขบวน" มีหลักเกณฑ์การใช้อย่างไร ใครสามารถขอใช้รถนำขบวนได้ มาดูหลักเกณฑ์การใช้รถตำรวจนำขบวนของบุคคลสำคัญ ข้อจากสำนักงานคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก
ใครขอใช้รถตำรวจนำขบวนได้บ้าง?
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (สจร.) เสนอ หลักเกณฑ์การใช้รถตำรวจนำขบวนของบุคคลสำคัญหรือนักการเมือง หรือการใช้รถนำขบวนรับรองแขกต่างประเทศในการเยือนประเทศไทย มีรายละเอียดังนี้
1. บุคคลสำคัญและนักการเมืองตำแหน่งดังต่อไปนี้ สามารถใช้รถตำรวจนำขบวนได้
1.1 กรณีในเขตกรุงเทพมหานคร (ประจำ) มีดังต่อไปนี้
1.1.1 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอทุกพระองค์พระบรมวงศานุวงศ์ และประธานองคมนตรี
1.1.2 นายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา ประธานศาลฎีกา รัฐบุรุษ องคมนตรี
1.1.3 สมเด็จพระสังฆราช
1.1.4 รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงหรือรัฐมนตรีว่าการทบวง รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้นำฝ่ายค้าน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รัฐมนตรีช่วยว่าการ ประธานคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรของฝ่ายบริหาร
1.2 กรณีในเขตกรุงเทพมหานคร (ครั้งคราว) มีดังต่อไปนี้
1.2.1 ผู้แทนพระองค์ พระราชอาคันตุกะ ผู้นำทางศาสนาอื่น สมเด็จพระราชาคณะ ประมุขรัฐต่างประเทศ ผู้นำรัฐบาลต่างประเทศ และเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ
1.2.2 ข้าราชการประจำตั้งแต่ปลัดกระทรวงหรือเทียบเท่าขึ้นไป
1.2.3 การอนุญาตเป็นครั้งคราวตามข้อ 1.1.1 และข้อ 1.1.2 ผู้บังคับการตำรวจจราจรหรือผู้รักษาราชการแทน หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับการตำรวจจราจรเป็นผู้พิจารณาอนุญาต
1.2.4 นอกจากผู้มีสิทธิตามข้อ 1.1.1 และ 1.1.2 ให้อยู่ในดุลพินิจของผู้บังคับการตำรวจจราจรหรือผู้รักษาราชการแทน หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับการตำรวจจราจรเป็นผู้พิจารณาอนุญาตเป็นครั้งคราวได้
1.3 กรณีนอกเขตกรุงเทพมหานคร มีดังต่อไปนี้
1.3.1 บุคคลตามข้อ 1.1 (ประจำ)
1.3.2 บุคคลตามข้อ 1.2 (ครั้งคราว ยกเว้นตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงหรือรัฐมนตรีช่วยว่าการทบวง นอกเขตกรุงเทพมหานครขอใช้แบบประจำได้)
1.3.3 การขออนุญาตตามข้อ 1.3 ผู้บังคับการตำรวจทางหลวงหรือผู้รักษาราชการแทน หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับการตำรวจทางหลวงเป็นผู้พิจารณาอนุญาต
1.3.4 นอกจากผู้มีสิทธิข้อ 1.3.1 และข้อ 1.3.2 ให้อยู่ในดุลยพินิจของผู้บังคับการตำรวจทางหลวงหรือผู้รักษาราชการแทนหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับการตำรวจทางหลวงเป็นผู้พิจารณาอนุญาต
1.4 ข้อยกเว้น
1.4.1 ในเขตกรุงเทพมหานคร สำหรับผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้บัญชาการเหล่าทัพ ให้ใช้รถนำขบวนฝ่ายทหารเอง แต่วิธีการใช้รถนำของฝ่ายทหารดังกล่าว ให้ใช้หลักเกณฑ์วิธีการใช้รถนำของฝ่ายตำรวจ เช่น การใช้ไฟสัญญาณแสงแดงวับวาบ เสียงครางครวญ (ไซเรน) และการใช้รถดังกล่าววิ่งบนถนน
1.4.2 นอกเขตกรุงเทพมหานคร สำหรับผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้บัญชาการเหล่าทัพ ให้ใช้รถนำขของฝ่ายทหารเอง แต่วิธีการใช้รถนำของฝ่ายทหารดังกล่าว ให้ใช้หลักเกณฑ์วิธีการใช้รถนำขบวนของฝ่ายตำรวจ เช่น การใช้ไฟสัญญาณแสงแดงวับวาบ เสียงครางครวญ (ไซเรน) และการใช้รถดังกล่าววิ่งบนถนน
2. บุคคลที่เคยดำรงตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งที่สำคัญและเมื่อผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งดังกล่าวแล้วยังคงให้ใช้รถตำรวจนำขบวนได้
2.1 กรณีในเขตกรุงเทพมหานคร (ประจำ) คือ ผู้เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเท่านั้น
2.2 กรณีนอกเขตกรุงเทพมหานคร (ประจำ) คือ ผู้เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเท่านั้น
3. การใช้รถนำขบวนของรัฐมนตรี
3.1 รัฐมนตรีควรพิจารณาใช้รถตำรวจนำขบวนตามความจำเป็นและเร่งด่วนตามภารกิจของทางราชการเป็นกรณี ๆ ไป โดยแจ้งให้ทางฝ่ายที่มีหน้าที่จัดรถตำรวจนำขบวนทราบเป็นการล่วงหน้า
3.2 การใช้รถตำรวจนำขบวนตามข้อ 3.1 พึงใช้เฉพาะเพื่อการเดินทางไปราชการเท่านั้น ไม่ควรใช้ในกิจส่วนตัว
4. การใช้รถนำขบวนในการรับรองแขกต่างประเทศ
การรับรองแขกต่างประเทศที่จะสามารถใช้รถนำขบวนได้ ต้องมีตำแหน่งเทียบเท่ากับตำแหน่งของผู้มีสิทธิใช้รถนำขบวน ทั้งการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ (มติคณะรัฐมนตรีเพิ่มเติมเมื่อวันที่23 ธันวาคม 2540)
5. ประธานวุฒิสภา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นบุคคลสำคัญที่สามารถใช้รถตำรวจนำขบวนได้ ตามข้อ 1.1
การใช้รถตำรวจนำขบวนในปัจจุบัน ซึ่งมีค่อนข้างมาก และอาจไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือวิธีการที่มีการกำหนดไว้
ข่าวเกี่ยวข้อง :