รีเซต

ด่วน! จ่อยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร 1 ต.ค.นี้ หลังลากยาวบังคับใช้เกือบ 3 ปี

ด่วน! จ่อยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร 1 ต.ค.นี้ หลังลากยาวบังคับใช้เกือบ 3 ปี
มติชน
19 สิงหาคม 2565 ( 10:43 )
66
ด่วน! จ่อยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร 1 ต.ค.นี้ หลังลากยาวบังคับใช้เกือบ 3 ปี

‘บิ๊กตู่’ นั่งหัวโต๊ะถก ศบค.สั่ง สธ.เฝ้าระวังกลายพันธุ์ เร่งสร้างการรับรู้หลังปรับแนวทางบริหารจัดการโรค  ด้านที่ปรึกษาศบค. เผย 1 ตุลาคม 65 เป็นต้นไป ยุบ ศบค. โควิดติดต่อไม่อันตราย พร้อมยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 19 ส.ค.ที่ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) ครั้งที่ 11/2565 โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวก่อนเปิดประชุม ว่า เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบัน ยังมีการระบาดอยู่โดยเฉพาะโอมิครอน BA.4 และ BA.5 ซึ่งพบการระบาดในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และมีการแพร่ระบาดโดยง่าย จำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิต มีแนวโน้มเป็นไปตามประมาณการ และคงที่ ส่วนผู้ป่วยปอดอักเสบจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่อยู่ในการคาดการณ์และการเตรียมพร้อมรับมือ จึงขอให้กระทรวงสาธารณสุข เฝ้าระวังและติดตามการกลายพันธุ์ เพื่อให้รับมือกับสถานการณ์ระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ตามแผนที่วางไว้

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ส่วนการปรับแนวทาง การบริหารจัดการโควิด-19 เพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาด เป็นไปตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558 และให้สอดคล้องกับสถานการณ์ด้านการแพทย์ การปรับแนวทางกักตัวผู้ป่วย รวมถึงการรายงานโรคและผู้ป่วยสัมผัส ซึ่งในด้านสังคมต้องสร้างการรับรู้และสร้างความเข้าใจ โดยเฉพาะประโยชน์ของวัคซีน การจัดการเมื่อมีผู้ติดเชื้อในครอบครัว มาตรการต่างๆ ทั้งตัวบุคคลและองค์กร ส่วนตัวรู้สึกอุ่นใจ ที่ยังเห็นคนใส่หน้ากากอนามัยอยู่จำนวนมาก

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังต้องเตรียมการเรื่องยา การจัดเตรียมเตียง และผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน พร้อมติดตามยาและการพัฒนาวัคซีน เพื่อรองรับต่อสถานการณ์กลายพันธุ์ รวมไปถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งเรื่องการค้าขาย การสัญจรไปมา และการท่องเที่ยว

มีรายงานว่า คณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) หรือ ศบค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมครั้งที่ 11/2565 โดยศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด 19 กระทรวงสาธารณสุข เสนอกรอบนโยบาย และแนวปฏิบัติ ในการดำเนินการเปลี่ยนผ่านสู่ภาวะ Post-pandemic

ภายใต้หลักการว่า เพื่อให้ประชาชนอยู่ร่วมกับโควิดอย่างปลอดภัย สามารถดำเนินชีวิตได้ปกติ จะมีการยกเลิกพระราชกำหนดฉุกเฉินที่มีการประกาศบังคับใช้ควบคุมโรคติดต่อมาแล้ว 19 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2562 และยุบ-เปลี่ยนแปลงอำนาจของคณะกรรมการ ศบค.

พร้อมกันนี้ ได้กำหนดแนวปฏิบัติด้านต่าง ๆ ตามห้วงเวลาของทุกหน่วยงานต่าง ๆ ดังนี้

เดือนสิงหาคม คงสถานการณ์ฉุกเฉิน ศบค. เป็นกลไกการจัดการ

เดือนกันยายน คงสถานการณ์ฉุกเฉิน ปรับเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ศบค. + คกก.โรคติดต่อชาติ เป็นกลไกลการจัดการ

เดือนตุลาคม ประกาศโรคระบาดเฉพาะพื้นที่ (เมื่อมีเหตุจำเป็น) EOC สธ. + คกก.โรคติดต่อระดับชาติ/จังหวัด/กทม. เป็นกลไกการบริหารจัดการ ยังไม่มีการกำหนดเรื่องพื้นที่สถานการณ์ฉุกเฉิน และการขยายการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

เดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม ประกาศโรคระบาดเฉพาะพื้นที่ (เมื่อมีเหตุจำเป็น) คกก.โรคติดต่อจังหวัด/กทม. เป็นกลไกการจัดการ

ด้าน ศ.นพ.อุดม คชินทร ที่ปรึกษาศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) กล่าวก่อนการประชุม ศบค.ว่า พระราชกำหนด (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ยกเลิกแน่นอนในเดือนตุลาคม ผมคิดว่าสถานการณ์ขณะนี้เริ่มโอเคแล้ว คนไข้ในระบบวันละ 2,000 คน คนไข้ ATK วันละ 30,000 คน คาดการณ์ว่าคนไข้นอกระบบประมาณ 1-2 เท่า

“ถ้าดูภาพรวมคนไข้ติดเชื้อประมาณ 6-7 หมื่นคน และอาจจะอยู่อย่างนี้สักเดือนหนึ่ง เพราะฉะนั้น 1 ต.ค.น่าจะเริ่มลง จึงคาดการณ์ว่า คนไข้จะต่ำ วันละพัน และตายวันละ 10 คน ก็จะเป็นโรคเฝ้าระวังในวันที่ 1 ต.ค.นี้ แต่ยังไม่เป็นโรคประจำถิ่น” ศ.นพ.อุดมกล่าว

ทั้งนี้ สำหรับ ประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 หรือ พรก.ฉุกเฉิน มีขึ้นครั้งแรก เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้แถลงประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 หรือ พรก.ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมสถานการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ Covid-19 ซึ่งให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ วันที่ 26 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป

สำคัญของ พรก.ฉุกเฉิน ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประชาชนหลักๆ มีดังนี้ ห้ามมิให้บุคคลใดออกนอกเคหสถานภายในระยะเวลาที่กำหนด ห้ามมิให้มีการชุมนุม หรือมั่วสุมกัน ห้ามการเสนอข่าว การจำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคม หรือยานพาหนะ หรือกำหนดเงื่อนไขการใช้เส้นทาง ห้ามการใช้อาคาร หรือเข้าไป หรืออยู่ในสถานที่ใดๆ ให้อพยพประชาชนออกจากพื้นที่ที่กำหนดเพื่อความปลอดภัย

จากนั้นได้มี การ ประกาศขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ล่าสุด คราวที่ 19  ออก แนวปฏิบัติตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ล่าสุด  ฉบับที่ 28   ออก ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ล่าสุดถึงฉบับที่ 47

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง