รีเซต

อย่าริทำงานหนักเกิน จีนคาดโทษระบบ996 แบบแจ๊กหม่า

อย่าริทำงานหนักเกิน  จีนคาดโทษระบบ996 แบบแจ๊กหม่า
ข่าวสด
3 กันยายน 2564 ( 03:31 )
89
อย่าริทำงานหนักเกิน  จีนคาดโทษระบบ996 แบบแจ๊กหม่า

อย่าริทำงานหนักเกิน - บีบีซี รายงานถึงมาตรการการควบคุมพฤติกรรมของคนในสังคมของจีนอีกด้าน เป็นเรื่องวัฒนธรรมการทำงาน จะต้องไม่กินเวลานานเกินไปแบบที่แจ๊ก หม่า อภิมหาเศรษฐีชาวจีน ผู้ก่อตั้งอาลีบาบา” เคยชื่นชม

 

 

ก่อนที่แจ๊ก หม่าจะถูกสกัดจุดจนหายหน้าไปจากวงการ เคยชูนโยบายกระตุ้นให้คนทำงานหนักในรูปแบบ “996” หรือทำงานตั้งแต่เก้าโมงเช้าถึงสามทุ่ม (9 เอเอ็ม ถึง 9 พีเอ็ม) เป็นเวลา 6 วันต่อสัปดาห์

 

 

 

แต่ขณะนี้ ทางการจีนขึ้นบัญชีเตือนบริษัทต่างๆ ที่มีตารางทำงานหักโหมว่าเป็นการละเมิดกฎหมาย นอกจากนี้คนทำงานหนุ่มสาวรุ่นใหม่ยังไม่เห็นด้วยกับการทำงานหนักเหมือนรุ่นพ่อแม่

 

 

ศาลฎีกาและกระทรวงความมั่นคงทางสังคมออกแถลงการณ์ร่วมเมื่อวันที่ 26 ส.ค. ยกคำตัดสินของศาลใน 10 คดีที่เกี่ยวกับข้อพิพาทแรงงาน รวมถึงคดีเกี่ยวข้องกับการบังคับให้แรงงานทำงานล่วงเวลาและเกิดขึ้นกับการทำงานหลายภาคส่วน ทั้งเทคโนโลยี การสื่อสารและการก่อสร้าง

 

 

ซีเอ็นเอ็น รายงานว่า แถลงการณ์ศาลสูงสุดของจีนประณามการบีบบังคับให้ลูกจ้างทำงานแบบ 996 ที่กลายเป็นเรื่องปกติสำหรับบริษัทไอที และบริษัทเอกชนอีกมากมาย

 

 

 

จุดหักเห

ตามกฎหมายแรงงานจีน กำหนดเวลาทำงานมาตรฐานไว้ 8 ชั่วโมงต่อวัน รวมเวลาทำงานสูงสุด 44 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หากทำงานเกินกว่าที่กำหนดไว้ นายจ้างจะต้องจ่ายค่าล่วงเวลาหรือโอที

 

แต่ความเป็นจริง บริษัทยักษ์ใหญ่ในหลายประเทศ รวมทั้ง บางบริษัทในภาคเทคโนโลยีบังคับให้พนักงานทำงานเกินกว่าเวลาที่กำหนดและไม่จ่ายค่าชดเชย

 

ส่วนวัฒนธรรมการทำงานแบบ 996 ในจีนก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงเพราะถือว่าเป็นตัวขับเคลื่อนความสำเร็จให้กับบริษัท ขณะที่รัฐบาลไม่เข้ามาก้าวก่าย

 

แต่ประชาชนเริ่มไม่พอใจรัฐบาลที่ปิดหูปิดตาทำเป็นมองไม่เห็นปัญหา

 

เจนนี ชาน จากมหาวิทยาลัยอาชีวะฮ่องกงชี้ให้เห็นว่าปัญหาจากการทำงานหนักเริ่มส่งผลรุนแรงขึ้น เมื่อปีก่อน พนักงานบริษัทอี-คอมเมิร์ซ 2 คนทำงานให้กับแพลตฟอร์มพินตัวตัวคู่แข่งอาลีบาลาและ JD.com เสียชีวิต คนหนึ่งหมดแรงล้มลงระหว่างทางกลับบ้านหลังจากทำงานยาวนาน ส่วนอีกคนหนึ่งปลิดชีวิตตัวเอง

 

 

แม้ไม่ชัดเจนว่าเสียชีวิตจากการทำงานหรือไม่ แต่ชาวเน็ตเห็นว่าวัฒนธรรมการทำงานแบบ 996 เป็นสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิต

 

 

ชาวเน็ตแชร์ประสบการณ์การทำงานอันเลวร้ายว่าหลายคนต้องทำงานมากกว่า 300 ชั่วโมงต่อเดือนเป็นประจำซึ่งเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้มาก

 

 

หลายคนทำงานจากบ้านซึ่งต้องใช้เวลาทำงานมากขึ้น ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19

 

 

ด้าน ซ่ง เจ้าหลี่ จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์กล่าวว่าทั้งพนักงานที่ทำงานในธุรกิจอินเทอร์เน็ตและทั้งแรงงานส่งอาหารหรือส่งของเดลิเวอรี่ส่วนใหญ่ทำงานแบบ 996 กันทั้งนั้น ซึ่งพนักงานเดลิเวอรี่เคยก่อการประท้วงมาแล้วหลายครั้งเพราะทนทำงานหนักเกินไปไม่ไหว

 

 

 

 

สาเหตุเกิดจากทัศนคติของชาวจีนรุ่นใหม่ต่างจากรุ่นพ่อแม่โดยคนรุ่นพ่อแม่ยอมกรำงานหนักเพื่อค่าตอบแทน แต่คนหนุ่มสาวไม่พอใจที่ต้องทนทำงานหนักเพื่อแลกรางวัลแบบเดียวกันกับที่พ่อแม่เคยได้รับ แต่พอใจกับการทำงานแต่พอดีและความสำเร็จที่เป็นไปได้เพราะหนุ่มสาวต้องการชีวิตที่ยืดหยุ่นมากขึ้น

 

 

ชานกล่าวว่าแนวคิดแบบนี้ทำให้ทางการกังวลเนื่องจากตลาดแรงงานจะหดตัวในอนาคตอันใกล้และรัฐบาลต้องการให้แรงงานสร้างเศรษฐกิจเติบโตอย่างต่อเนื่อง จึงจะเห็นว่ารัฐบาลเริ่มปรับระบบการจ้างงานให้มีมนุษยธรรมมากขึ้นเพื่อดึงดูดแรงงานรุ่นใหม่ ในขณะที่ให้แรงงานแข่งขันได้

 

 

ก้าวไปข้างหน้า

ชานกล่าวว่าคดีในศาลหลายๆ คดีสะท้อนให้เห็นตัวอย่างที่ชัดเจนซึ่งจะสื่อถึงนายจ้างว่า หากไม่ดูแลพนักงานให้ดี ก็จะสูญเสียเอง

เบื้องหน้าความสำเร็จ อาจมาจากเบื้องหลังที่จีนไม่ปลื้ม

 

 

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม บริษัทผลิตโทรศัพท์สมาร์ตโฟนวีโวให้พนักงานเลือกทำงานได้ว่าจะหยุดเล็กหรือหยุดใหญ่ หมายความว่าให้เลือกว่าจะทำงาน 5 หรือ 6 วันต่อสัปดาห์ก็ได้ ซึ่งเป็นการสร้างบรรยากาศที่ดีในองค์กร

 

 

ด้านแองเจลา จาง อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮ่องกงกล่าวว่าต่อไปนี้ พนักงานจะกล้าฟ้องนายจ้างขึ้นศาลมากขึ้นโดยอ้างกฎหมายแรงงาน เมื่อรู้สึกว่าได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง