รีเซต

บอร์ดวัตถุอันตราย คงมติแบน พาราควอต-คลอรไพริฟอส 20 : 4 เสียง

บอร์ดวัตถุอันตราย คงมติแบน พาราควอต-คลอรไพริฟอส 20 : 4 เสียง
มติชน
28 กันยายน 2563 ( 13:46 )
43
บอร์ดวัตถุอันตราย คงมติแบน พาราควอต-คลอรไพริฟอส 20 : 4 เสียง

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ครั้งที่ 3/2563 ว่า การประชุมในครั้งนี้ มีกรรมการฯร่วมประชุมทั้งหมด 24 ท่าน จากจำนวนทั้งหมด 27 ท่าน โดยในจำนวนนี้ เห็นด้วยกับการทบทวนมติ จำนวน 4 ท่าน และไม่เห็นด้วย จำนวน 20 ท่าน ซึ่งเสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการทบทวนการออกประกาศยกเลิกการใช้พาราควอตและคลอร์ไพริฟอสเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 เนื่องจากประกาศมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2563 และมีการฟ้องคดีจากสมาพันธ์เกษตรปลอดภัยและผู้แทน 19 ภาคีเกษตร ที่อยู่ในการพิจารณาของศาลปกครอง จึงได้มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรและกระทรวงสาธารณสุขนำข้อมูลและข้อสังเกตจากคณะกรรมการฯไปพิจารณาดำเนินการและรายงานคณะกรรมการฯ ต่อไป

 

“มติของคณะกรรมการฯ ในครั้งนี้ถือว่าไฟนอลแล้ว เพราะว่าไม่ความจำเป็นและและประกาศดังกล่าวมีเหตุผลรองรับอยู่แล้วว่าทั้ง 2 สารเคมีเป็นสารอันตรายมีผลเสียต่อสุขภาพเห็นได้จากต่างประเทศที่ประกาศยกเลิกใช้สารน้ในหลายประเทศแล้วเช่นกัน” นายสุริยะ กล่าว

 

นายอภัย สุทธิสังข์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า เบื้องต้นยอมรับทางกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังไม่สามารถจัดหาสารทดแทนได้ แต่มีสารทางเลือกซึ่งต้นทุนสูง และกระบวนการทางเกษตรอินทรีย์ในการควบคุม กำจัดวัชพืช แมลงและศัตรูพืชให้ผลผลิตทางการเกษตรปลอดสารเคมีด้วย โดยกระทรวงเกษตรฯ จะร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงอุตสาหกรรม หามาตรการทางการตลาดด้านราคาพืชผลทางการเกษตรจะขายได้ราคาสูง เพื่อจูงใจให้เกษตรกรหันมาใช้กระบวนการเกษตรอินทรีย์มากขึ้น และเลิกใช้สารเคมีในที่สุด

 

นายอภัย กล่าวว่า ขณะนี้ เกษตรกรได้ปรับเปลี่ยนวิธีทำการเกษตรแล้ว โดยกลุ่มที่มีเครื่องจักรกลทางการเกษตรได้รวมกลุ่ม รับจ้างไถพรวน ไถกลบต่างๆ แทนการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชและศัตรูพืช และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพื่อเป็นทางเลือกให้เกษตรกรมากขึ้น รวมทั้งการรวมกลุ่มของเกษตรกรรายย่อยเพื่อทำเกษตรแปลงใหญ่เพื่อลดต้นทุนอีกด้วย

 

นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ มีมติเห็นชอบแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเกี่ยวกับการกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตวัตถุอันตราย ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยารับผิดชอบ (จีเอ็มพี) เพื่อตรวจตรารับรอง สินค้าเกษตรที่มีสารปนเปื้อน เกี่ยวกับการขาดแคลน ที่ใช้เป็นวัตถุดิบแปรรูป โดยเฉพาะข้าวสาลี และ ถั่วเหลือง ที่มีค่ากำหนด สอดคล้องกับสหภาพยุโรป (อียู) โดยยึดหลักความปลอดภัยและสวัสดิภาพผู้บริโภค และความเท่าเทียมระหว่างผู้ผลิตและผู้นำเข้าอาหาร ซึ่งจะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 มิถุนายน 2564