รีเซต

กทม.-ปริมณฑล 4 จว.ใต้ เตียงโควิดตึง กรมแพทย์จ่อออกแนวทางรักษาตัวที่บ้าน

กทม.-ปริมณฑล 4 จว.ใต้ เตียงโควิดตึง กรมแพทย์จ่อออกแนวทางรักษาตัวที่บ้าน
มติชน
27 มิถุนายน 2564 ( 16:12 )
55
 

เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยสถานการณ์เตียงรองรับผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ในกรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล ว่า จนถึงยังไม่ดีขึ้น มีผู้ป่วยรอเตียงที่บ้านจำนวนมาก ล่าสุด มีผู้ที่แจ้งประสานเตียงเมื่อมีผลการตรวจยืนยันติดโควิด-19 ผ่านสายด่วน 1668 รอเตียงอยู่ราว 400-500 ราย

 

 

 

 

 

 

“ในวันพรุ่งนี้ (28 มิ.ย.64) อาจจะต้องมีการออกประกาศ เรื่อง แนวทางการดูแลตนเองที่บ้านของผู้ป่วยระหว่างรอเตียง หรือ โฮม ไอโซเลชั่น (Home Isolation) เพื่อเป็นการให้คำแนะนำผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ในการดูแลตนเองระหว่างที่รอการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล (รพ.) แต่ไม่ใช่ผู้ป่วยทุกรายต้องใช้แนวทางนี้ จะมีการคัดกรองเบื้องต้นจากเจ้าหน้าที่ก่อนว่า กรณีใดที่สามารถให้ดูแลตนเองที่บ้านก่อนได้ระหว่างประสานเตียง” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

 

 

ทั้งนี้ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ส่วนรายใดที่จำเป็นต้องรับเข้ารักษาทันที จะประสานหาเตียงโดยเร็ว ซึ่งในรายที่พิจารณาว่าสามารถรอเตียงอยู่ที่บ้านได้นั้น จะมีการแจกอุปกรณ์ เครื่องมือ ในการติดตามอาการเบื้องต้น เช่น ปรอทวัดไข้ กับที่วัดค่าออกซิเจน รวมถึงจะมีระบบสื่อสารทางไกล (Tele medicine) สอบถามอาการทุกวัน และอาจจะมีคนไปเยี่ยมบ้านในบางราย โดยประสานภาคประชาสังคมเข้ามาร่วมติดตามดูแลผู้ป่วยด้วย

“ผู้ป่วยที่เจ้าหน้าที่คัดกรองเบื้องต้นแล้ว เห็นว่าสามารถดูแลตนเองที่บ้านระหว่างรอเตียงได้ ไม่มีปัญหาเรื่องของการแยกตัว ก็จะให้อยู่ที่บ้านเพื่อรอเตียงไปก่อน แต่ถ้าผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงบางอย่าง แต่ยังไม่มีอาการ อาจจะให้ยาฟาร์วิพิราเวียร์กินที่บ้านด้วย ถ้าสบายดี ไม่มีอาการอะไรเลย ก็อาจจะให้ฟ้าทะลายโจรกิน ส่วนรายที่มีอาการหนัก ก็จะรีบประสานเตียงให้เข้าสู่การรักษาโดยเร็ว ทั้งนี้ แนวทางโฮม ไอโซเลชั่น หลักๆ จะใช้ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่มีปัญหาเรื่องเตียงก่อน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้ก็เริ่มจะมีปัญหาเรื่องเตียงเช่นกัน” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

 

 

นพ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า การรักษานั้นเป็นปลายทาง สิ่งสำคัญคือ จะต้องลดจำนวนผู้ติดเชื้อลงให้ได้ ซึ่งจะต้องดำเนินการใน 3 เรื่อง คือ 1.มาตรการรัฐบาลต้องเข้มพอ 2.ประชาชนผู้ประกอบการและทุกภาคส่วนต้องร่วมมือ ไม่ใช่ปิดแคมป์แล้วแยกกันหนีออกต่างจังหวัด และ 3.มาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคต้องเข้มแข็งในทุกระดับ ทุกพื้นที่ ถ้า 3 เรื่องนี้ ดำเนินการได้ดี ผู้ติดเชื้อไม่มากขึ้น มีผู้ติดเชื้อเท่านี้จริงๆ มีการปรับเรื่องเตียงไปตามสานการณ์ มีการจัดทำโฮม ไอโซเลชั่น และมีกระบวนการทุกคนมาร่วมกันหมดจริงๆ ก็เชื่อว่าสถานการณ์เตียงก็จะค่อยๆ ดีขึ้น แต่ถ้าผู้ติดเชื้อมากขึ้น หรือผู้ติดเชื้อเท่านี้จริงหรือไม่ ก็ต้องหาทางเอาตัวเลขที่แท้จริงออกมาให้ได้

 

 

 

“แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่หน้างานทำเต็มที่ ฝากถึงทุกคน มีข้อสงสัยได้ แต่อยากให้พูดคุยกันอย่างสร้างสรรค์ ทุกวันนี้มีเฮช สปีช (Hate Speech) จำนวนมาก ถ้าไม่ร่วมมือกันเลย มันจะไปไม่ได้ รัฐบาลเองก็ต้องเปิดช่องให้ทุกคน ทุกฝ่ายมาคุยกัน และร่วมมือเป็นทีม ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ เพราะมันจะไปไม่ได้” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

 

 

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับสถานการณ์เตียงในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ข้อมูล ณ วันที่ 25 มิถุนายน 2564 แยกเป็น AIR-ICU ว่าง 38 เตียง อัตราครองเตียง ร้อยละ 88.6 Modified AIR ว่าง 54 เตียง อัตราครองเตียง ร้อยละ 92.8 ห้องไอซียูรวม ว่าง 27 เตียง อัตราครองเตียง ร้อยละ 91.5 ห้องแยก ว่าง 458 เตียง อัตราครองเตียง ร้อยละ 88.4 ห้องสามัญ ว่าง 1,406 เตียง อัตราครองเตียง ร้อยละ 83.5 ฮอสปิเทล ว่าง 3,063 เตียง อัตราครองเตียง ร้อยละ 77.3 และเตียงสนาม ว่าง 778 เตียง อัตราครองเตียง ร้อยละ 76.9 รวมว่าง 5,824 เตียง อัตราครองเตียง ร้อยละ 81

ข่าวที่เกี่ยวข้อง