รีเซต

โฆษก ศบค.ชี้ "เปิดเทอม" เสี่ยง 3 โรค "ไข้หวัดใหญ่-มือเท้าปาก-ปอดอักเสบ" หน้ากากยังจำเป็น

โฆษก ศบค.ชี้ "เปิดเทอม" เสี่ยง 3 โรค "ไข้หวัดใหญ่-มือเท้าปาก-ปอดอักเสบ" หน้ากากยังจำเป็น
มติชน
3 กรกฎาคม 2563 ( 15:24 )
69
โฆษก ศบค.ชี้ "เปิดเทอม" เสี่ยง 3 โรค "ไข้หวัดใหญ่-มือเท้าปาก-ปอดอักเสบ" หน้ากากยังจำเป็น
โฆษก ศบค.ชี้ “เปิดเทอม” เสี่ยง 3 โรค “ไข้หวัดใหญ่-มือเท้าปาก-ปอดอักเสบ” หน้ากากยังจำเป็น

วันที่ 3 กรกฎาคม นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)(ศบค.) กล่าวถึงการเฝ้าระวังโรคในช่วงเปิดเทอม หลังเปิดเรียนตามปกติแล้วตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา ว่า ช่วงนี้เปิดเทอม เด็กโดยเฉพาะชั้นอนุบาล ที่น่ากังวลใจ คือ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ โรคที่รุนแรงถึงต้องปิดโรงเรียน คือ โรคมือเท้าปาก ที่จะมีตุ่มใสขึ้นที่ในปาก มือ และเท้า ทำให้เด็กร้องงอแงไม่อยากกลืน มีความทรมาน จากการติดตามพบว่า ปี 2563 ตั้งแต่สัปดาห์แรกจนถึงสัปดาห์ที่ 25 จำนวนผู้ป่วยน้อยกว่า 500 รายลงไป ขณะที่ปี 2562 อัตราป่วยช่วงแรกเกือบพันราย และพุ่งทะยานขึ้นไปสูงสุดใช่วงกลางปีมากกว่า 4,000 ราย การที่อัตราการเกิดโรคต่ำมากในปีนี้ อาจเกิดจากการเปิดเทอมช้า หรือยังไม่มีการแพร่ระบาด หรือมีการl;,หน้ากากตลอดเวลา เป็นเรื่องช่วยให้โรคนี้ลดน้อยลง

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า นอกจากนี้ โรคไข้หวัดใหญ่ก็คล้ายกัน หากเป็นปี 2562 ในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม  อัตราป่วยสูงขึ้นเรื่อย แต่ปี 2563 เดือนมกราคม ยังป่วยสูง แต่พอเริ่มสวมหน้ากาก อัตราป่วยก็น้อยลง โดยตั้งแต่เดือนมีนาคม-มิถุนายน ติดเชื้อน้อยมาก เป็นประโยชน์ของการสวมหน้ากากผ้าและหน้ากากอนามัย อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่น่ากังวลใจนั้น ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม- วันที่ 27 มิถุนายน กลุ่มก้อนใหญ่ คือ 0-4 ปี และ 5-14 ปี ที่ติดเชื้อสูง ตอนนี้ที่เพิ่งเปิดเทอม ต้องฝากพ่อแม่ดูแลบุตรหลาน หากไปโรงเรียนและไม่เคยชินการสวมหน้ากากก็ต้องฝึกสักระยะถึงเคยชิน

โฆษก ศบค. กล่าวว่า ขณะที่โรคปอดอักเสบที่รุนแรงขึ้นมาอีก ปี 2562 การป่วยสูงลอยตลอดทั้งปี ส่วนปี 2563 เมื่อรณรงค์หน้ากากผ้าและหน้ากากอนามัย แนวโน้มก็ลดลง คือ อานิสงส์ของการป้องกันควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ทำโรคอื่นๆ ลดน้อยถอยลงไปด้วย นี่คือ สิ่งที่เราร่วมแรงร่วมใจกัน ทำให้ลูกหลาน เด็กของเราติดเชื้อตรงนี้น้อยลงด้วย ขอให้ทำไปเรื่อยๆ ในช่วงเปิดเทอม ซึ่งถือว่าเป็นช่วงที่มีความเสี่ยงอยู่

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีโรงเรียนขนาดใหญ่ที่ต้องแบ่งกันมาเรียน ครูต้องสอนสองรอบ เมื่อไรที่เด็กจะกลับมาเรียนครบทุกคนตามปกติ เพราะผู้ปกครองกังวลว่าจะเป็นการเพิ่มภาระครู นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ขอบคุณโรงเรียนและครูที่ต้องเหนื่อยในช่วงนี้

“ถามว่าเมื่อไรยังตอบไม่ได้ เพราะเพิ่งเริ่มต้น และต้องเฝ้าระวังก่อน ที่เราวางมาตรการไว้ก็เป็นไปตามมาตรการสากลที่เราจะนึกถึงการระบาดต่างๆ เป็นช่วงที่เด็กใกล้ชิดกัน อย่างที่บอกว่า ธรรมชาติเด็กเป็นอย่างนี้ แต่เราจะเห็นนวัตกรรมใส่หมวกแบบมีปีกป้องกันใกล้ชิดกัน เด็กก็จะรับทราบเรื่องการปรับตัวกิจการทางการเรียนการสอนแบบใหม่ ครูอาจจะเหนื่อยสักหน่อย แต่เชื่อว่า เทคโนโลยีการเรียนการสอนก้าวหน้าไปไกล เด็กหลายคนสามารถใช้โทรศัพท์มือถือ ใช้ทีวีดูจากจานดาวเทียน ใช้การฝึก หรือพ่อแม่ช่วยเป็นครูพี่เลี้ยงที่บ้าน คือ การเปลี่ยนปลงสู่ชีวิตวิถีใหม่ อาจจะขลุกขลักนิดหน่อยในช่วงเริ่มต้น ก็ต้องปรับกันไป ในเด็กโตก็ยิ่งง่าย ดูในโซเชียลมีเดีย ยูทูป มีการสอนมากมาย หลายคนพยากรณ์ถึงเวลาที่ไวรัสนี้จะมาเปลี่ยนลก เปลี่ยนเรื่องการศึกษา วิถีการเรียนรู้แบบใหม่ ครู ผู้ปกครอง เด็ก จะได้ก้าวไปสู่ยุคชีวิตวิถีใหม่ และให้เด้กเราฉลาดขึ้นได้ทุกวิถีทาง ก็ต้องช่วยกัน” โฆษก ศบค. กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง