สะท้านวงการสื่อ นิตยสาร “โว้ก” สิงคโปร์ หวนตีพิมพ์เล่มกระดาษ
สะท้านวงการสื่อ นิตยสาร “โว้ก” สิงคโปร์ หวนตีพิมพ์เล่มกระดาษ
สะท้านวงการสื่อ - เซาท์ ไชน่า มอร์นิง โพสต์ รายงานความเคลื่อนไหววงการสื่อกระดาษ หลังนิตยสารจำนวนมากปิดตัวไปเนื่องจากพิษเศรษฐกิจ หรือปรับตัวเป็นรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ แต่ นิตยสาร “โว้ก”- VOGUE ฉบับกองบ.ก.สิงคโปร์ กลับสวนกระแส หวนมาตีพิมพ์ในรูปแบบรูปเล่มกระดาษอีกครั้ง ท่ามกลางผลกระทบโควิด-19
เซาท์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์ ถึงกับพาดหัวตั้งคำถามว่า ไม่กลัวตาย หรือ อยากตาย - fearless or foolish
นิตยสารโว้กเป็นแบรนด์แฟชั่นยิ่งใหญ่ แต่ในยุคดิจิทัล ผู้อ่านเปลี่ยนพฤติกรรมจากการอ่านจากหน้ากระดาษเป็นการอ่านผ่านสื่อสังคมอออนไลน์
ส่วนสำนักพิมพ์ขนาดใหญ่อย่าง บลู อิงค์ มีเดีย ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท สิงคโปร์ เพรส โฮลดิงส์ ต้องระงับการดำเนินกิจการเพราะถูกสื่อดิจิทัลมาแทนที่และโรคโควิด-19 ระบาด
สำนักพิมพ์อายุ 46 ปี แห่งนี้ พิมพ์นิตยสารมากกว่า 20 หัว ใน 3 ภาษา เช่น คอสโมโพลิแทน ฮาร์เปอร์ส บาซาร์ และคลีโอ ขณะที่สำนักพิมพ์ บลู อิงค์ โฮลดิงส์ ในมาเลเซีย มียอดพิมพ์ลดลงเรื่อยๆ
ชารอน ลิม อดีตบรรณาธิการบริหารนิตยสาร “แอล” ในสิงคโปร์ กล่าวว่ายุครุ่งเรืองของนิตยสารแฟชั่นต้องย้อนกลับไปเมื่อ 30 ปีก่อน ซึ่งตอนนั้น นิตยสารแฟชั่นชื่อดังวางแผงไปทั่วโลก นิตยสารแฟชั่นชั้นแนวหน้า เช่น โว้ก แอล คลีโอ และมารี แคลร์ มีสมาชิกนักอ่านมากมายและยังวางตามร้านทำผมและคลินิกแพทย์อีกด้วย
ช่วงที่ลิมเป็นบรรณาธิการ “แอล” ในสิงคโปร์ระหว่างปี 2547-2559 วงการสิ่งพิมพ์สั่นคลอนเพราะอินเทอร์เน็ตทำให้ผู้อ่านไม่ต้องรออ่านนิตยสารฉบับล่าสุดอีกต่อไป แต่อ่านจากสื่อสังคมออนไลน์ได้ทันที อีกทั้ง มีการถ่ายทอดสดสัปดาห์แฟชันที่เข้าถึงผู้บริโภคทั่วไปได้มากกว่า
วงการแฟชั่นเปลี่ยนไปเพราะอินเทอร์เน็ตเช่นกัน จากที่เคยมีแฟชั่นปีละ 2 ครั้ง ได้แก่ แฟชันฤดูใบไม้ผลิหรือฤดูร้อน และฤดูใบไม้ร่วงหรือฤดูหนาว มาเป็นพรี-คอลเลคชัน ทำให้นิตยสารแฟชันไล่ตามความเร็วของการผลิตหรือการบริโภคไม่ทัน
ถึงแม้ว่ามีนิตยสารแฟชั่นเวอร์ชั่นออนไลน์ แต่ก็ไม่ทันกระแสวิจารณ์ หรือมุมมองต่อแฟชั่นที่ไปเร็วกว่าเสมอ
ส่วน ออง โซห์ ชิน อดีต บรรณาธิการนิตยสารคลีโอในสิงคโปร์ กล่าวว่าผู้ลงโฆษณายอมจ่ายให้ผู้ทรงอิทธิพลหรืออินฟลูเอ็นเซอร์สวมใส่เสื้อผ้าแทนที่จะจ่ายค่าโฆษณาในนิตยสารและผู้อ่านไม่ต้องควักกระเป๋าจ่ายเงินเพราะติดตามอินฟลูเอ็นเซอร์ได้ฟรีๆ อยู่แล้ว ซึ่งคุ้มค่ากว่าการซื้อนิตยสารและยังตามกระแสสังคมได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย
อุตสาหกรรมแฟชั่นจึงต้องตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่ต้องการซื้อเสื้อผ้าใหม่ทุกๆ ฤดู และตามกระแสแฟชันที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว โดยไม่สนใจสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงหรือการใช้แรงงานราคาถูกในประเทศยากจนมาตัดเย็บเสื้อผ้า
ส่วนนิตยสารของสิงคโปร์เอง เช่น “เฮอร์ เวิลด์ แอนด์ ฟีเมล” ก็ต้องปรับตัว จากแต่ก่อนที่เคยหนาและหนักจนใช้กั้นประตูได้ มาปรับรูปโฉมให้บางลงเพราะหน้าโฆษณาลดลงมาก
ดร.ดอรีน คุม ผู้บรรยายอาวุโสด้านการตลาด มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ยังเห็นโอกาสที่นิตยสารมีที่มีทางวาง เช่น ห้องนั่งรอในคลินิก ร้านทำผม บนเครื่องบิน คลับหรูและสปา เพราะยังมีกลุ่มคนอ่านที่ชอบอ่านจากหนังสือมากกว่าออนไลน์ซึ่งบางกรณี การอ่านเนื้อหาจากออนไลน์ไมได้ให้ความรู้สึกเหมือนกับการพลิกหน้ากระดาษ
นี่เอง จึงเป็นช่องทางให้คอนเด นาสต์ ประกาศว่าจะปลุกชีวิตนิตยสาร “โว้ก” ในสิงคโปร์ขึ้นมาใหม่
นิตยสาร “โว้ก” เปิดตัวในสิงคโปร์ในปี 2537 ซึ่งวางขายทั้งในสิงคโปร์และออสเตรเลียและตีพิมพ์มาได้ถึงฉบับที่ 29 จนถึงฉบับสุดท้าย เดือน ม.ค. 2540 เพราะไม่มีโฆษณาเข้าและยอดขายตกลง
ออง โซห์ ชิน วิเคราะห์ขาลงของ “โว้ก” ว่ามีสาเหตุอื่น นอกจากไม่มีโฆษณา ว่าเป็นเพราะเนื้อหาส่วนใหญ่เป็นเนื้อหาสำหรับผู้อ่านชาวออสเตรเลียและเสริมเนื้อหาสิงคโปร์เข้าไป จึงเข้าไม่ถึงคนอ่านชาวสิงคโปร์
ส่วนผู้ชุบชีวิตให้ “โว้ก” คือ นอร์แมน ถัน อดีตบรรณาธิการนิตยสาร “เอสไควร์” ซึ่งจะปรับแต่งรสนิยม เติมความสร้างสรรและหลักการเข้าไปให้แหวกแนวกว่านิตยสารแฟชันอื่นๆ รวมทั้ง ตั้งสำนักงานในสิงคโปร์ จ้างบรรณาธิการและพนักงานการตลาดที่เป็นคนท้องถิ่นเพื่อผลิตนิตยสารรายเดือนและบนเว็บไซต์
ด้าน ดร.ดอรีน คุม สะท้อนให้เห็นการปรับตัวของ “โว้ก” ในอิตาลี ช่วงไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ระบาดรุนแรง ว่าทั้งนางแบบและเสื้อผ้าแบรนด์ “ซารา” ต่างปรับตัวให้เข้ากับช่วงเวลาล็อกดาวน์ โดยนางแบบถ่ายแฟชันอยู่ที่บ้านและใช้โทรศัพท์ถ่ายภาพแล้วเผยแพร่ในแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น อินสตาแกรมและติ๊กตอก ซึ่งได้รับการยอมรับจากผู้ใช้สื่อและผู้บริโภคเป็นอย่างดีเพราะไม่ได้ยึดติดกับคุณภาพของภาพหรือการแต่งภาพอีกต่อไป และกลายเป็นความนิยมในอุตสาหกรรมแฟชันยุคโควิด-19 ระบาด
ด้านลิมกล่าวว่าจะติดตามดูต่อไปว่า “โว้ก” จะมีแนวทางของตัวเองอย่างไรในตลาดสิ่งพิมพ์สิงคโปร์
//////////
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :
อย่างแจ่ม จูดี้ เดนช์ ขึ้นปกโว้ก ในวัย 85 ปี อายุเยอะสุดในประวัติศาสตร์
ลาแผงอีกเจ้า นิตยสารสุดสัปดาห์ หยุดจำหน่ายฉบับสิ่งพิมพ์ หลังขายยาวนาน 36 ปี