เดินหน้า "คัดกรองเชิงรุก" พิชิต "โควิด-19" ขั้นเด็ดขาด
ดูเหมือนว่าสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ในประเทศไทยกำลังคลี่คลายลงตามลำดับ แม้แต่ใน จ.ภูเก็ต ซึ่งถือเป็น cluster ใหญ่ของการระบาดก็ไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มแล้ว แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความจะนิ่งนอนใจไปได้
การตรวจคัดกรองเชิงรุก ยังเป็นแนวปฏิบัติที่ต้องทำ โดยเฉพาะในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่จะวัดผลได้ว่าประเทศไทยสามารถควบคุมโควิด-19 ได้อย่างชะงักงันหรือไม่ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
มีการพูดคุยเรื่องนี้กันอย่างจริงจังผ่านเวที การตรวจคัดกรองโควิด-19 กับภารกิจเปิดเมือง ซึ่งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ถ่ายทอดสดผ่าน Facebook Live ไปทั่วทั้งประเทศเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2563
นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้ความมั่นใจว่า แนวทางและมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลช่วยจำกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ แต่สิ่งที่ทำให้การควบคุมโรคเป็นไปด้วยดีก็เพราะประชาชนทุกคนให้ความร่วมมือ ซึ่งในสถานการณ์ที่เริ่มผ่อนปรนและเปิดเมืองยังต้องขอความร่วมมือจากประชาชนให้อดทนและช่วยกัน โดยเฉพาะการเว้นระยะห่างทางสังคม การไม่รวมกลุ่มในสถานที่ต่างๆ เพราะหากประมาทจนเกิดการแพร่ระบาดซ้ำเป็นคลื่นลูกที่สองจะสร้างปัญหาอย่างรุนแรง
สำหรับแนวทางการคัดกรองซึ่งเกี่ยวข้องกับทรัพยากรที่จำกัด นายสาธิตบอกว่า ในช่วงต้นของเหตุการณ์ รัฐบาลและ สธ.ได้ดำเนินนโยบายควบคุมโรคด้วยการคัดกรองเฉพาะกลุ่มเสี่ยง หรือผู้มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดเท่านั้น แต่เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น โรคระบาดไม่เกินพิกัดหรือศักยภาพที่รองรับได้ รัฐบาลจึงมีกำลังและความพร้อมในการตรวจคัดกรองเชิงรุกมากยิ่งขึ้น
“ไม่ได้หมายความว่าจะตรวจได้ทุกคน แต่เราจะเปิดโอกาสให้เกิดการคัดกรองในกลุ่มเสี่ยงมากขึ้น เช่น การตรวจเชิงรุกพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ผู้ที่อยู่หน้างาน ผู้ที่อยู่ในรัศมีที่พบผู้ติดเชื้อ รวมถึงผู้สูงอายุ ซึ่งภายใต้มาตรฐานและคุณภาพขณะนี้เชื่อมั่นว่าประเทศไทยจะสามารถควบคุมการระบาดได้สำเร็จเพื่อรอเวลาการผลิตวัคซีน” รัฐมนตรีช่วยว่าการ สธ.ยืนยัน
สำหรับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 มีด้วยกัน 2 แนวทางหลัก นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า วิธีการแรกคือ การตรวจหารหัสพันธุกรรมของเชื้อ (Antigen) หรือ RT-PCR ซึ่งเป็นวิธีมาตรฐานที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ให้คำแนะนำ อีกวิธีคือการตรวจหาภูมิคุ้มกัน (Antibody) หรือ Rapid Test โดยประเทศไทยยังยึด RT-PCR เป็นวิธีหลักในการตรวจ
สำหรับประเด็นที่ถูกตั้งคำถามว่า สาเหตุที่จำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อในประเทศน้อย เพราะมีการตรวจน้อยนั้น นพ.โอภาส ชี้แจงโดยอ้างอิงตัวเลขตั้งแต่ช่วงต้นของการแพร่ระบาดเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้ ประเทศไทยได้ตรวจด้วยวิธี RT-PCR ไปแล้ว 2.27 แสนราย หรือเฉพาะสัปดาห์ที่ผ่านมาก็มีการตรวจไปแล้วถึง 41,067 ตัวอย่าง ซึ่งเกือบเป็น 2 เท่า เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน แสดงให้เห็นว่าไทยมีจำนวนการติดเชื้อที่น้อยจริง
”การตรวจเยอะไม่ได้แปลว่าดีเสมอไป ต้องเอาจำนวนการตรวจหารด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อที่พบ ซึ่งถ้ามีการตรวจจำนวนมากแต่พบการติดเชื้อปริมาณน้อย แปลว่ามีการทำงานในเชิงรุกได้ดี ซึ่งตัวเลขอ้างอิงขณะนี้อยู่ที่ 2% และกำลังลดลงจึงถือว่าดี” นพ.โอภาส ชี้แจง
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เล่าว่า นับตั้งแต่มีการประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย ทำให้มีการระดมทรัพยากรทุกภาคส่วนเข้ามาสนับสนุน โดยเฉพาะห้องปฏิบัติการภาคเอกชนที่ได้เข้ามาเป็นกำลังเสริมในการตรวจคัดกรองเชื้อได้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดได้มีการพูดคุยถึงปัญหาความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ทำให้หน่วยบริการเอกชนบางแห่งอาจออกไปให้บริการในบางจุดที่ไม่เหมาะสม เช่น ปั๊มน้ำมัน หรือศูนย์การค้า ซึ่งแม้จะช่วยในการเข้าถึงแต่จะมีผลกระทบกับเรื่องของมาตรฐาน หรืออาจเป็นการแพร่กระจายเชื้อได้ จึงได้มีการดำเนินมาตรการพร้อมกับกำชับถึงแนวทางการตรวจคัดกรอง เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรที่ตรงตามเป้าหมายและเกิดประสิทธิผล
ในส่วนของ นพ.การุณย์ คุณติรานนท์ รองเลขาธิการ สปสช.ให้ข้อมูลว่า รัฐบาลได้มีการจัดสรรงบประมาณให้แก่ สธ. รวมแล้วกว่า 1,600 ล้านบาท และจัดสรรให้กับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอีกกว่า 4,200 ล้านบาท เพื่อใช้ในการตรวจคัดกรองโรคสำหรับประชาชนคนไทยทุกคน รวมการตรวจทั้งในสถานพยาบาลภาครัฐและเอกชน รวมทั้งยังจัดระบบให้บริการและชุดสิทธิประโยชน์อื่น เช่น การดูแลผู้ป่วย ค่าห้อง ค่าพาหนะในการรับส่งต่อ เป็นต้น
นพ.การุณย์ กล่าวว่า สำหรับสถานบริการที่จะตรวจคัดกรองโควิด-19 จะต้องขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ราว 1,200 แห่ง หรือขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยร่วมตรวจคัดกรองโควิด-19 ซึ่งขณะนี้มีอยู่ 53 แห่ง และขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะด้านเทคนิคการแพทย์ที่ได้รับการรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่มีอยู่ 142 แห่ง
”กรณีพบผู้ติดเชื้อในสถานบริการเอกชนจะได้รับการรักษาให้พ้นอันตรายโดยไม่มีเงื่อนไข เพราะภาครัฐได้ให้การสนับสนุนมาแล้ว ส่วนในบางครั้งที่อาจพบความคลาดเคลื่อนหรือเกิดปัญหา สปสช.ได้ทำการหารือและหาทางออกร่วมกับภาคเอกชน ซึ่งต้องเข้าใจว่าภาคเอกชนนั้นมีเจตนาดีในการมาจัดบริการร่วมกับภาครัฐ ในช่วงเวลาที่การให้บริการของภาครัฐนั้นไม่เพียงพอ” นพ.การุณย์ ระบุ
ด้าน ศ.นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ระบุว่า หน่วยบริการภาคเอกชนได้มีส่วนร่วมกับภาครัฐในการตรวจคัดกรองเชื้อไวรัส ครอบคลุมโรงพยาบาลเอกชนทั้งระบบรวม 381 แห่ง ภายหลังกรมควบคุมโรคได้มีการปรับกฎเกณฑ์การรับรอง ทำให้ภาคเอกชนสามารถพัฒนาห้องปฏิบัติการขึ้นมาสนับสนุนการตรวจคัดกรองได้มากขึ้น
“ในภาวะฉุกเฉินนั้นไม่มีสังกัด โรงพยาบาลทั้งหมดถือว่าเป็นของประเทศไทย ซึ่งภาคเอกชนบางแห่งได้ลงทุนด้านโครงสร้างต่างๆ เพิ่มโดยไม่ได้ของบประมาณจากภาครัฐ เพื่อสามารถเตรียมไว้สำรองในกรณีหากเกิดคลื่นลูกที่สองตามมา ฉะนั้น จึงไม่ติดขัดเมื่อภาครัฐได้นำบัญชีหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมาใช้และ on-top ให้ เพราะโดยพื้นฐานนั้นสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติถือว่าเป็นการทำ CSR ของโรงพยาบาลเอกชนอยู่แล้ว” ศ.นพ.เฉลิ มระบุ