รีเซต

วว.ทดสอบ ห้องความดันลบ รพ.ศิริราช รองรับการแพร่ระบาดโควิด-19 ผล ผ่านเกณฑ์ ปชช.วางใจได้ 100%

วว.ทดสอบ ห้องความดันลบ รพ.ศิริราช รองรับการแพร่ระบาดโควิด-19 ผล ผ่านเกณฑ์ ปชช.วางใจได้ 100%
มติชน
4 พฤษภาคม 2563 ( 13:20 )
228

วว.ทดสอบ ห้องความดันลบ รพ.ศิริราช รองรับการแพร่ระบาดโควิด-19 ผล ผ่านเกณฑ์ ปชช.วางใจได้ 100%

 

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) นำความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม ร่วมทดสอบห้องสำหรับดูแลผู้ป่วยที่เรียกว่า ห้องความดันลบ (Negative pressure) สำหรับแยกผู้ป่วยแพร่เชื้อทางอากาศ (Airborne Infection Isolation Room – AIIR) ณ โรงพยาบาลศิริราช  เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อจากผู้ป่วยออกไปสู่บริเวณอื่นในสถานพยาบาล 

วันที่ 4 พฤษภาคม นางชุติมา  เอี่ยมโชติชวลิต  ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.)เปิดเผยว่า  วว. ได้รับมอบหมายจาก นายสุวิทย์  เมษินทรีย์  อว. ให้เข้าร่วมทดสอบ “ห้องความดันลบ” เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการปรับปรุงห้องผู้ป่วยของโรงพยาบาลศิริราช ให้เป็นห้องสำหรับแยกผู้ป่วยแพร่เชื้อทางอากาศ ใช้ในการรองรับผู้ป่วยในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโคโรน่าไวรัส 2019 ควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อหรือการติดเชื้อในโรงพยาบาล โอกาสนี้ วว. ได้นำความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ของ 3 หน่วยงานภายใต้สังกัดของ วว. เข้าไปทดสอบห้องผู้ป่วยดังกล่าว ได้แก่  ศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพ    ศูนย์ทดสอบและมาตรวิทยา   ศูนย์พัฒนาและวิเคราะห์สมบัติของวัสดุ

นางชุติมา กล่าวว่า ทั้งหมดมีกรอบการดำเนินงานทดสอบ คือ ศูนย์ความหลากหลายชีวภาพ   มีภารกิจให้บริการด้านงานวิจัยพัฒนาและวิเคราะห์ทดสอบด้านจุลชีววิทยาให้กับหน่วยงานของรัฐและผู้ประกอบการ ดำเนินการตรวจสอบคุณภาพอากาศเพื่อหาปริมาณเชื้อจุลินทรีย์จากตัวอย่างอากาศ ตามวิธีทดสอบมาตรฐาน ISO 14698 ศูนย์ทดสอบและมาตรวิทยา วว.  มีภารกิจให้บริการสอบเทียบเครื่องมือวัดให้กับผู้ประกอบการทั้งภาครัฐและเอกชน มีเครื่องมือวัดที่สามารถสอบกลับทางมาตรวิทยาไปยังหน่วยมาตรฐานสากล (SI unit)  และมีระดับความแม่นยำของเครื่องมือที่สามารถตรวจวัดค่าความดันของห้องความดันลบ รวมถึงภาวะแวดล้อมในห้องผู้ป่วย ดำเนินการทดสอบ ดังนี้ 1. การวัดอัตราการไหลของอากาศที่ไหลผ่านพื้นที่ช่องระบายอากาศโดยใช้เครื่องมือวัดความเร็วลม (Air Velocity Meter) เพื่อหาอัตราการไหลเวียนของอากาศภายในห้องที่ทราบปริมาตร  2. การวัดค่าความดันอากาศภายในห้องเทียบกับความดันภายนอก (Differential Pressure) 3.การวัดอุณหภูมิ (Temperature) และ 4. ความชื้นสัมพัทธ์   (Relative humidity)

ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า สำหรับ ศูนย์พัฒนาและวิเคราะห์สมบัติของวัสดุ  มีภารกิจให้บริการทดสอบ ตรวจสอบ ตรวจประเมินและที่ปรึกษาทางวิศวกรรม ให้กับผู้ประกอบการทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ดำเนินการตรวจวัดการรั่วไหล (leak test) ของอนุภาคออกจากห้องความดันลบ เพื่อประเมินประสิทธิภาพการกรองอนุภาคของระบบ HEPA filter ของห้องความดันลบแต่ละห้อง 

ผลการทดสอบของทั้ง 3 หน่วยงานในสังกัดของ วว. พบว่า ห้องความดันลบของโรงพยาบาลศิริราชผ่านเกณฑ์การใช้งานได้ตามวัตถุประสงค์ นับเป็นการปฏิบัติงานที่เป็นรูปธรรมของ วว. อีกวาระหนึ่งในการร่วมเป็นหน่วยงานทดสอบด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยเฉพาะจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในปัจจุบัน ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นในความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนได้” ผู้ว่าการ วว. กล่าว

นางชุติมา กล่าวว่า สำหรับห้องแยกผู้ป่วยแพร่เชื้อทางอากาศ เป็นห้องพักสำหรับผู้ป่วยแบบแยกเดี่ยว ที่มีการควบคุมคุณภาพอากาศเพื่อป้องกันการติดเชื้อทางอากาศภายในสถานพยาบาล หรือพื้นที่ที่ต้องการการควบคุม โดยมีแนวทางการควบคุม เช่น การควบคุมความดันระหว่างพื้นที่ให้ความดันอากาศภายในห้องผู้ป่วยต่ำกว่าภายนอก ส่งผลให้อากาศภายในห้องผู้ป่วยไม่ไหลออกไปภายนอก ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไปสู่บริเวณอื่นๆ รวมถึงการวัดอัตราการไหลเวียนของอากาศเพื่อให้มั่นใจว่ามีการถ่ายเทของอากาศที่เหมาะสม ไม่มีการสะสมของเชื้อโรค นอกจากนี้การวัดอุณหภูมิ ความชื้นภายในห้องผู้ป่วยเพื่อหาสภาวะที่เหมาะสม ไม่กระทบกับสุขภาพของผู้ป่วยและสามารถควบคุมการเจริญเติบโตของเชื้อโรคได้ รวมทั้งอากาศที่ไหลออกจากห้องจะต้องผ่านการกรองอากาศที่มีประสิทธิภาพสูง รวมถึงเจือจางและฆ่าเชื้อในอากาศก่อนปล่อยออกสู่ภายนอก

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง