รีเซต

สธ.เผย 3 สาวไทยจากเมียนมา ไม่เข้าข่าย ‘ซูเปอร์สเปรดเดอร์’ แพร่โควิด

สธ.เผย 3 สาวไทยจากเมียนมา ไม่เข้าข่าย ‘ซูเปอร์สเปรดเดอร์’ แพร่โควิด
ข่าวสด
30 พฤศจิกายน 2563 ( 16:46 )
203
สธ.เผย 3 สาวไทยจากเมียนมา ไม่เข้าข่าย ‘ซูเปอร์สเปรดเดอร์’ แพร่โควิด

สธ.เผย 3 สาวไทยจากเมียนมา ไม่เข้าข่าย ‘ซูเปอร์สเปรดเดอร์’ แพร่โควิด แต่พฤติกรรมถือว่ามีความเสี่ยงเกิดซูเปอร์สเปรดดิ้ง อีเวนท์

 

เมื่อวันที่ 30 พ.ย.63 ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และ นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป แถลงความคืบหน้าการติดตามผู้สัมผัสผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 กรณีพบเชื้อโควิด-19 ใน 2 หญิงไทย จ.เชียงราย ที่เดินทางกลับจากประเทศเมียนมา

 

นพ.โสภณ กล่าวว่า สำหรับผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2 ราย เป็นหญิงไทย อายุ 26 และ 23 ปี ข้อมูลจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เชียงราย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการสอบสวนโรครายนี้ พบว่าผู้ป่วยรายนี้อายุ 26 ปี เป็นผู้ทำงานในสถานบันเทิงแห่งหนึ่งใน จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา โดยเมื่อวันที่ 25 พ.ย. เริ่มมีอาการไข้ต่ำๆ ไอ

 

 

ต่อมาทราบข่าวว่า เพื่อนที่ทำงานในสถานบันเทิงเดียวกัน (รายที่พบ จ.เชียงใหม่) ตรวจพบเชื้อโควิด-19 จึงเดินทางกลับไทยในวันที่ 27 พ.ย. ผ่านช่องทางธรรมชาติ พร้อมกับเพื่อนชาวไทย 1 ราย โดยมีผู้นำทางเป็นชาวเมียนมา ซึ่งกลับประเทศไปแล้ว เดินทางจากหมู่บ้านต้นทางถึงแม่สาย โดยรถจักรยานยนต์รับจ้างที่ 1 แล้วแวะซื้ออาหารที่ร้านอาหาร และซื้อน้ำที่หน้าวัดแห่งหนึ่ง และเข้าพักในโรงแรมแห่งหนึ่งใน อ.แม่สาย โดยสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา

 

 

ต่อมาเวลา 09.00 น. เข้าพักในโรงแรมแห่งหนึ่งใน อ.แม่สาย โดยแยกห้องพักกับเพื่อน ช่วงกลางคืนไปซื้ออาหารที่ร้านสะดวกซื้อที่ปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่ง โดยรถจักรยานยนต์ของพนักงานโรงแรม และเข้านอนพักที่โรงแรม

 

อ่านข่าว เชียงราย เปิดประวัติ 2 สาวติดโควิด เร่งตามคนสัมผัส ยันไม่ได้ตระเวนเที่ยว!

 

จากนั้นวันที่ 28 พ.ย. เวลา 15.00 น. นั่งรถจักรยานยนต์รับจ้างที่ 2 จากแม่สายไป อ.เมือง โดยระหว่างทางแวะซื้อของที่ร้านโทรศัพท์ตรงข้ามโรงแรมที่พัก เวลา 17.00 น. เข้ารับการตรวจหาเชื้อ SARS-CoV-2 ที่ รพ.เอกชนแห่งหนึ่ง แล้วขอมารับการรักษาต่อที่ รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ เวลา 21.30 น. เข้ารับการรักษาที่ห้องแยกโรคระบบทางเดินหายใจ และเมื่อวันที่ 29 พ.ย. เวลา 02.00 น. ผลตรวจยืนยันว่าติดเชื้อ SARS-CoV-2 จากศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 1/1 เชียงราย

 

นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า ผู้ป่วยรายที่อายุ 26 ปี มีผู้สัมผัสใกล้ชิดรวมทั้งหมด 27 ราย แยกเป็น กลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 4 ราย แบ่งเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิด 2 ราย เป็นเพื่อนหญิงไทย อายุ 23 ปี ที่เดินทางกลับมาจากมีประเทศเมียนมาพร้อมผู้ป่วย

 

เมื่อวันที่ 29 พ.ย. มีอาการไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก ผลตรวจพบเชื้อ ขณะนี้ส่งรักษาที่ รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ พนักงานโรงแรมที่ขับรถจักรยานยนต์พาผู้ป่วยไปร้านสะดวกซื้อ 1 ราย ขณะนี้รอผลตรวจ และยานพาหนะ 2 ราย ผู้ขับรถจักรยานยนต์รับจ้างที่ 1 จากหมู่บ้านต้นทางถึงโรงแรมแห่งหนึ่งใน อ.แม่สาย รอผลตรวจ และ รถรับจ้างที่ 2 จาก อ.แม่สายไป อ.เมือง และ รพ.เอกชน ผลตรวจไม่พบเชื้อ และกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ 23 ราย เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 20 ราย จาก รพ.เอกชน 13 ราย รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ 7 ราย และชุมชน 3 ราย เป็นแม่ค้าร้านอาหาร พนักงานร้านสะดวกซื้อ และพนักงานโรงแรม

 

“ขณะนี้ทาง จ.เชียงราย ที่ได้แถลงข่าวไปช่วงเช้า ได้ดำเนินการสอบสวนและออกมาตรการในการป้องกันการแพร่เชื้อ โดยเน้นย้ำมาตรการในการป้องกันโรคในที่ชุมนุมทุกแห่ง ทั้งการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ เว้นระยะห่าง ลงทะเบียนในการเข้าสถานที่ต่างๆ สุ่มตรวจพนักงานขับรถชาวเมียนมาที่มาส่งของบริเวณชายแดน

และกำหนดแนวทางในการติดตามผู้สัมผัสโดยกำหนดจุดบริการที่จะให้ประชาชนมารับการตรวจได้ที่ อ.เมืองและ อ.แม่สาย ไปจนถึงแจ้งโรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชน คลินิกแพทย์ ร้านขายยาให้เฝ้าระวังผู้ป่วยและให้โรงพยาบาลทุกแห่งเปิดคลิกนิกโรคระบบทางเดินหายใจ หรือ ARI Clinic” นพ.โสภณ กล่าว

 

นพ.โสภณ กล่าวว่า ทางหน่วยงาน จ.เชียงราย เตรียมสถานที่กักกันโรคของราชการกำหนด สำหรับรองรับผู้ที่เดินทางกลับมาจากประเทศเมียนมา สื่อสารประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่ลักลอบเดินทางเข้าเมืองเข้าสู่ระบบการคัดกรองและรักษา โดยให้รายงานตัวที่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หรือผู้ใหญ่บ้าน แล้วส่งกักตัวตามแนวทาง

 

พร้อมทั้ง สำรวจจำนวนคนไทยที่อยู่ จ.ท่าขี้เหล็ก ที่ต้องการกลับ เพื่อดำเนินการรับตัวกลับมาเพื่อกักตัว และดำเนินงานทางกฎหมายกับผู้ที่พาคนลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย โดยจะจัดทำคำสั่งมาตรการป้องกันควบคุมโรคอย่างละเอียดอีกครั้ง โดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงราย เป็นผู้รับผิดชอบ

 

“ส่วนกรณีเจ้าหน้าที่จับกุมคนไทยหลบหนีเข้าเมือง 4 ราย ที่ข้ามมาจากเมียวดี ประเทศเมียนมา และมายัง อ.แม่สอด จ.ตาก ไม่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 2 รายที่พบใหม่ใน อ.แม่สาย จ.เชียงราย แต่เนื่องจากเป็นเวลาที่คาบเกี่ยวกัน จึงอาจทำให้สับสนในข้อมูลได้ จึงขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก จนนำข้อมูลมารวมกัน แต่อย่างไรก็ตามจะต้องตรวจหาเชื้อและกักตัว ขณะนี้อยู่ในการดูแลของเจ้าหน้าที่แล้ว” นพ.โสภณ กล่าว

 

ด้าน นพ.โอภาส กล่าวว่า ขณะนี้จึงต้องขอความร่วมมือบริเวณชายแดน ทั้งโรงแรม คอนโดมิเนียม สถานประกอบการ สถานบันเทิง กิจการร้านค้าต่างๆ หากพบเห็นบุคคลเข้ามาและเข้าข่ายสงสัยติดเชื้อ ไม่ได้ผ่านการกัก หากพบเบาะแสให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ทันที ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะคณะกรรมการโรคติดต่อจะออกคำสั่ง

 

ซึ่งหากไม่ปฏิบัติตามจะมีความผิดตามมาตรา 31 พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อ พ.ศ.2558 มีโทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท ส่วนตัวผู้ลักลอบก็มีความผิดเช่นกัน ดังนั้น ขอให้ปฏิบัติตามกฎหมาย โดยการเข้ามาและกักตัว 14 วันเท่านั้นเอง

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า ทั้งกรณีพบผู้ป่วยโควิด-19 คนไทยที่ลักลอบเข้าประเทศมาจากเมียนมาจำนวน 3 รายที่เชียงใหม่ และเชียงราย ถือว่ามีความเสี่ยงเป็นซูเปอร์สเปรดเดอร์ (super spreader) หรือไม่ นพ.โสภณ กล่าวว่า จริงๆ แล้วการจะเป็นซูเปอร์สเปรดเดอร์นั้น จะมี 2 ทาง คือต้องมีเชื้อมาก และอยู่ในที่มีความเสี่ยงแพร่เชื้อ เช่น รถบัส สถานบันเทิง เป็นต้น

 

แต่กรณีเคสเชียงใหม่ที่ไปสถานบันเทิง จากการตรวจสอบยังไม่พบเชื้อ ซึ่งการจะเป็นซูเปอร์สเปรดเดอร์จะแพร่เชื้อจนติดต่อโรค 10 รายขึ้นไป ขณะที่ จ.รายเชียงใหม่ ไม่มีหลักฐานว่าเข้าข่ายซูเปอร์สเปรดเดอร์ แต่พฤติกรรมถือว่ามีความเสี่ยงเกิดซูเปอร์สเปรดดิ้ง อีเวนท์ (superspreading event)

 

เมื่อถามว่า การลักลอบเข้าเมืองในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค มีความผิดอย่างไร นพ.โสภณ กล่าวว่า โดยปกติการเข้าเมืองจะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของศูนย์บริหารสถานการณ์การระบาดโควิด-19 (ศบค.) คือ 1.ตรวจร่างกายและตรวจหาเชื้อก่อนเดินทางเข้ามาในประเทศ เช่น Fit to Fly 2.มีใบอนุญาตจากสถานทูต 3.กำหนดสถานที่ วันและเวลาในการเข้าพักกันกันโรค

 

ดังนั้น การเข้ามาโดยลักลอบจะผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง ข้อกำหนดการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ (พ.ร.ก.) ฉุกเฉิน และพ.ร.บ.โรคติดต่อฯ เนื่องจากไม่ได้รายงานตัวก่อนเข้ามาในประเทศ ในกรณีนี้ไม่ได้เป็นการจงใจแพร่เชื้อให้แก่ผู้อื่น แต่เป็นการลักลอบเข้ามาในประเทศ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง