แพทย์เตือนฤดูฝน ชาวนาเสี่ยง “โรคเนื้อเน่า” อันตรายถึงชีวิต
วันนี้ ( 16 ส.ค. 63 )นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคเนื้อเน่าหรือแบคทีเรียกินเนื้อ เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อซึ่งส่วนมากมักเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย โดยอาจเป็นการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดใดชนิดหนึ่งเพียงชนิดเดียว(monomicrobial) หรืออาจเป็นจากการติดเชื้อแบคทีเรียหลายๆ ชนิดพร้อมกัน
โดยเชื้อจะเข้าสู่ผิวหนังผ่านทางบาดแผล หรือรอยแตกของผิวหนัง และเมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้ว จะสามารถสร้างเอนไซด์มาย่อยสลายเนื้อเยื่อในร่างกายของผู้ที่ได้รับเชื้อเข้าไป ทำให้มีการกระจายของเชื้อไปได้อย่างรวดเร็ว พบได้ในคนทุกเพศทุกวัย แต่คนที่มีโรคประจำตัวเช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ ตับแข็ง โรคมะเร็ง ไตวาย จะมีโอกาสติเชื้อเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้การระบาดของโรคเนื้อเน่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีประวัติไปดำนา ลุยโคลน และโดนหอย หรือเศษแก้วบาด เศษไม้ตำเท้า และไม่ได้ทำแผล หรือรักษาใดๆ เนื่องจากต้องทำนาให้เสร็จ ทำให้เชื้อโรคเข้าไปในบาดแผล และเพิ่มจำนวนจนเกิดอาการรุนแรงได้
ระยะเริ่มแรกจะเริ่มมีอาการบวม แดง ปวด กดเจ็บในตำแหน่งที่มีการติดเชื้อ ถ้าไม่ได้รับการรักษา ผิวหนังบริเวณดังกล่าวจะบวมแดง หรือเปลี่ยนเป็นสีม่วงคล้ำอย่างรวดเร็วภายใน 36 ชั่วโมง พบตุ่มน้ำพอง มีการตายของชั้นใต้ผิวหนัง
ส่วนอาการอื่นที่พบร่วมด้วย เช่น ไข้ หนาวสั่น ปวดเมื่อยตามตัว คลื่นไส้ อาเจียน ถ้าเป็นมากอาจมีหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ ช็อค และเสียชีวิตตามมา จึงต้องรีบรักษาอย่างรวดเร็ว
ดังนั้นการป้องกันการติดเชื้อ คืแต้องดูแลทำความสะอาดบาดแผลบริเวณผิวหนัง ไม่แกะเกา รวมถึงควรหมั่นสังเกตตนเอง ถ้าพบว่ามีบาดแผล หรือมีอาการผิดปกติอื่นๆ ควรรีบไปพบแพทย์
เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNThailand.com
facebook : TNNThailand
facebook live : TNN Live
twitter : @TNNThailand
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNThailand
Instagram : @tnn_online
TIKTOK : @tnnonline