รีเซต

ชัดแล้ว! "โควิด-19" ในร่างหญิงชัยภูมิ แค่ "ซากไวรัส" สธ.ชี้ไทยช่วงระบาดขาลง

ชัดแล้ว! "โควิด-19" ในร่างหญิงชัยภูมิ แค่ "ซากไวรัส" สธ.ชี้ไทยช่วงระบาดขาลง
มติชน
17 เมษายน 2563 ( 15:26 )
110
ชัดแล้ว! "โควิด-19" ในร่างหญิงชัยภูมิ แค่ "ซากไวรัส" สธ.ชี้ไทยช่วงระบาดขาลง

 

โควิด-19 จากกรณีที่ผู้ป่วยเพศหญิงติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โรคโควิด-19 ที่ จ.ชัยภูมิ มีการรักษาในครั้งแรกและได้กลับบ้านไป ภายหลังพบว่ามีอาการป่วยและเมื่อทำการตรวจหาเชื้อพบว่ายังมีเชื้อไวรัสโควิด-19 อยู่ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เคยกล่าวถึงกรณีนี้ว่าเป็นเพียงซากไวรัส แต่ยังมีกระแสความสงสัยของประชาชนว่าเป็นการติดเชื้อซ้ำหรือไม่นั้น

 

เมื่อวันที่ 17 เมษายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป ให้สัมภาษณ์ภายหลังแถลงข่าวสถานการณ์โรคโควิด-19 ว่า โดยหลักการในขณะนี้ เชื่อว่าเป็นเชื้อเดิมที่มีการตกค้างในร่างกายมากกว่าการเป็นเชื้อที่รับเข้ามาใหม่ ซึ่งประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อในอัตราส่วนที่น้อย และมีผู้ป่วยยืนยันยังอยู่ใน จำนวน 2,700 ราย หากคิดเป็นอัตราป่วยต่อประชากร 70 ล้านคน นับว่าเป็นอัตราป่วยที่น้อยมาก

 

“แสดงให้เห็นว่าเชื้อไม่ได้มีอยู่ทั่วไป ดังนั้น ผู้ที่เคยมีอาการป่วยและได้รับการรักษา รวมถึงคำแนะนำเมื่อกลับไปใช้ชีวิตอยู่ที่บ้าน หากมีอาการป่วยเกิดขึ้นซ้ำ คาดว่าเป็นเชื้อเดิมที่เพิ่มจำนวนขึ้นมาใหม่ ซึ่งโอกาสเป็นเชื้อใหม่จะน้อยกว่า และมีการศึกษาในประเทศจีนว่ามีผู้ที่หายป่วยบางส่วนและยังมีซากเชื้ออยู่ในร่างกาย” นพ.โสภณ กล่าว

 

นอกจากนี้ นพ.โสภณ กล่าวว่า จากการศึกษาพบว่า ภายหลังจาก 8 วัน เชื้อไวรัสจะตายแล้ว แต่เหตุที่ยังพบว่ามีซากเชื้ออยู่ คือ เชื้อที่ตายแล้ว แต่ในอาการป่วยที่เกิดขึ้นใหม่ น่าจะเป็นระบบของทางเดินหายใจ ส่วนที่ลึกลงไปอีก และหากมีการเกิดเชื้อขึ้นมาใหม่ และผู้ป่วยมีอาการแสดงที่ชัดเจนก็สามารถแพร่เชื้อได้

 

“มีอาจารย์เชี่ยวชาญทางด้านเพาะเลี้ยงเชื้อไวรัส ได้รับตัวอย่างเชื้อไวรัส 4-5 ราย จากผู้ป่วยโควิด-19 ในโรงพยาบาล (รพ.) ต่างจังหวัด ที่ทำการรักษาครบ 14 วัน แล้ว แต่จากการตรวจด้วยวิธี RT-pcr พบว่า ผลยังเป็นบวก ทาง รพ.จึงได้ส่งเชื้อไวรัสมาเพาะเลี้ยงเชื้อ เพื่อทำการพิสูจน์ว่าเชื้อเหล่านั้นยังเป็นๆ หรือว่าเป็นเพียงซากเชื้อไวรัส ผลปรากฏว่าเลี้ยงไม่ขึ้น ซึ่งหมายความว่าไม่มีชีวิตอยู่แล้ว เป็นเพียงซากไวรัสเท่านั้น” นพ.โสภณ กล่าว

 

นพ.โสภณ กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีการปรับมาตรฐานการรักษาโรคโควิด-19 ด้วยยาต้านไวรัส คือ เริ่มทำการรักษาด้วยยาในผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการปอดอักเสบที่ไม่รุนแรง เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยเรานั้นเป็นผู้ป่วยอาการรุนแรงหรือมีภาวะปอดอักเสบที่รุนแรง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการเสียชีวิตของผู้ป่วย

 

ทั้งนี้ นพ.โสภณ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม การใช้ชีวิตของประชาชนอย่างจะต้องดำเนินต่อไปด้วยการสวมหน้ากากอนามัยชนิดผ้า การรักษาระยะห่างทางสังคม ซึ่งพบว่า จากการที่คนไทยสวมหน้ากากอนามัยมากขึ้น ทำให้มีจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ลดน้อยลง และมีผู้ที่ทำการรักษาแพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้มีจำนวนมากขึ้น และอาจจะมีบางส่วนที่เสียชีวิต แต่หากในอนาคตมีผู้ที่เสียชีวิตน้อยลงหรือไม่พบเลย ก็แสดงว่าสถานการณ์ดีขึ้น

 

“ขณะนี้ ประเทศไทยอยู่ในช่วงขาลงของการพบผู้ป่วย แต่ขาลงของการพบผู้เสียชีวิตจะต้องรอต่อจากนี้อีก 1 สัปดาห์” นพ.โสภณ กล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง